สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. 2561 เชื่อว่าคงไม่มีเรื่องใดเป็นกระแสเท่าเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” อีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีท่าทีของตำรวจ ทั้ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ออกมาเตือนว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
รวมถึง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่ารัฐบาลเสียใจเพราะแม้เนื้อหาจะต่อต้านรัฐบาลแต่ที่เสียหายที่สุดคือประเทศไทย ยอดการเข้าไปรับชมในเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) ก็ทะยานขึ้นสู่หลักสิบล้านอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่วัน พร้อมกับความคิดเห็นของผู้คนจำนวนมากที่ “สะใจ” กับเพลงดังกล่าวที่สะท้อนสารพันปัญหาในสังคมไทยอย่างถึงพริกถึงขิง
อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว “ประเทศกูมี” ไม่ใช่เพลงแรกที่ “ถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจ” พร้อมๆ กับกลายเป็นกระแสที่ผู้คนต้องไปหามาฟังและร้องตามกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะหากมองไปในอดีต เรื่องเพลงที่มีลักษณะ “หมิ่นเหม่” เพราะเนื้อหาไป “กระแทกใจ” บรรดาคนใหญ่คนโต ต้องยกให้ “น้าแอ๊ด” ยืนยง โอภากุล หัวหน้าวง “คาราบาว” ตำนานเพลงเพื่อชีวิตคนดังของเมืองไทย และวันนี้ “แนวหน้าออนไลน์” ขอนำบางส่วนของเพลงแนวนี้ ที่บางเพลงก็ถูกแบนแต่บางเพลงก็ไม่ถูกแบน มาให้ทุกท่านได้รู้จักกัน
“ท ทหารอดทน” เพลงนี้เผยแพร่ในปี 2526 ในนามวงคาราบาว ในยุคที่มีประเทศไทยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งในเวลานั้นประเทศไทยมีหน่วยงาน คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งท่อนหนึ่งของเพลงที่ว่า “ดาวเดือนลอยเกลื่อนท้องฟ้ายิงให้ตกลงมาติดบ่าได้สบาย” อาจทำให้ผู้มีอำนาจบางท่านไม่สบายใจ ทำให้ กบว. ประกาศแบนเพลงนี้
คลิกฟังเพลง “ท ทหารอดทน” https://www.youtube.com/watch?v=Sfx2115b6K8
“โนพลอมแพลม” เพลงนี้น้าแอ๊ด เผยแพร่ในนามศิลปินเดี่ยว เมื่อปี 2533 ยุคที่ประเทศไทยมี “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื้อหาเสียดสีสภาพการเมืองและสังคมไทยในขณะนั้นที่ประเทศกำลังเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICS) แน่นอนด้วยความที่ตั้งชื่อเพลงและมีท่อนฮุคว่าอันเป็นการล้อวลี “โน พร็อบเบลม (No Problem)” แปลว่า “ไม่มีปัญหา” ที่ พล.อ.ชาติชาย ชอบพูดผ่านสื่ออยู่บ่อยๆ กบว. ก็เลย “จัดให้” ด้วยการสั่งแบนเพลงนี้ทันที
คลิกฟังเพลง “โนพลอมแพลม” https://www.youtube.com/watch?v=pdfk9O3zZ7E
“ชวนป๋วย” เป็นเพลงที่น้าแอ๊ดเผยแพร่ในนามวงคาราบาว ในอัลบั้ม “สัจจะ 10 ประการ” เนื้อหาว่าด้วยการต่อต้านนโยบายรัฐบาลที่ต้องการนำพื้นที่ป่าและอุทยานแห่งชาติไปสร้างเขื่อนในปี 2535 และก็เป็น กบว. เช่นเคยที่สั่งแบน สาเหตุที่คาดกันก็คือเพลงนี้มีเจตนาเสียดสี ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพลงสุดท้ายของน้าแอ๊ดและผองเพื่อนที่ถูกแบนโดย กบว. เพราะในปีเดียวกัน กบว. ก็ถูกยุบหน่วยงาน
คลิกฟังเพลง “ชวนป๋วย” https://www.youtube.com/watch?v=p256nkpRrYA
“เต้าหู้ยี้” บทเพลงของวงคาราบาวในอัลบั้ม “หากหัวใจยังรักควาย” เผยแพร่ในปี 2538 เนื้อหาว่าด้วยนักการเมืองที่ตั้งรัฐบาลกันแบบรัฐมนตรีแต่ละคนไม่อิงความรู้ความสามารถ แต่เป็นเรื่องโควตาบ้าง อำนาจเงินบ้าง ส่งผลให้ประเทศชาติไม่พัฒนาและคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยก็ไม่ดีขึ้น อนึ่ง..อัลบั้มหากพัวใจยังรักควายนี้เป็นอัลบั้มคู่ แบ่งเป็นหากพัวใจยังรักควาย 1 และหากพัวใจยังรักควาย 2 อัลบั้มละ 10 เพลง
คลิกฟังเพลง “เต้าหู้ยี้” https://www.youtube.com/watch?v=5OMM9NXr9Uk
“เซียมหล่อตือ” อยู่ในอัลบั้ม “เซียมหล่อตือ หมูสยาม” ของวงคาราบาว เผยแพร่เมื่อปลายปี 2543 และถ้าจะมีเพลงไหนในอดีตที่ใกล้เคียงเพลงประเทศกูมี ก็น่าจะเป็นเพลงนี้เพราะเนื้อหากล่าวถึง “ยุคสมัยที่อ่อนแอของสังคมไทย” จากวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ขณะที่นักการเมืองขั้วต่างๆ ก็ยังเอาแต่แก่งแย่งอำนาจตั้งแง่ทะเลาะกันต่างๆ นานา อีกทั้งยังมีระบบอุปถัมภ์สืบทอดอำนาจกันในครอบครัวเครือญาติ และถ้าเนื้อเพลงยังไม่สะใจพอ มิวสิควีดีโอ (MV) ก็จัดแบบดุเดือดเสียยิ่งกว่าเนื้อเพลง
คลิกฟังเพลง “เซียมหล่อตือ” https://www.youtube.com/watch?v=fpPfaOsh5tk
ในปี 2549 ยุคสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) น้าแอ๊ดปล่อยเพลงในนามศิลปินเดี่ยวที่วิพากษ์วิจารณ์ “เสี่ยแม้ว” ถึง 2 เพลง คือ “แมงฟอร์ซวัน” เนื้อหาเสียดสีความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการจัดหาเครื่องบินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ที่สเปคเดียวกับ “แอร์ฟอร์ซวัน (Air Force One)” เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เกินตัวไปหรือไม่?” เพราะเครื่องบินซื้อมาก็ต้องใช้งบประมาณบำรุงรักษามาก แต่ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยอย่างสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก
คลิกฟังเพลง “แมงฟอร์ซวัน” https://www.youtube.com/watch?v=QU22K9lHj7o
กับเพลง “สมภารเซ้งโบสถ์” เนื้อหาว่าด้วยเจ้าอาวาสวัดที่ชาวบ้านให้ความนับถือมาก แต่ต่อมาถูกเด็กวัดที่ไปล่วงรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างนำเรื่องเหล่านั้นออกมาบอกเล่าให้ชาวบ้านรับรู้ โดยนัยนั้นเป็นการเสียดสี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีภาพลักษณ์เป็นคนมีความสามารถสูงในการบริหารประเทศ แต่ถูกคนใกล้ชิดคือ สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อดังค่าย ASTV ผู้จัดการ ออกมาแฉสารพัดเรื่องทุจริตในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี จนจุดกระแส “ม็อบเสื้อเหลือง” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเวลานั้น
คลิกฟังเพลง “สมภารเซ้งโบสถ์” https://www.youtube.com/watch?v=3OatHxOOTVU
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของเพลงที่ตำนานเพื่อชีวิตอย่างแอ๊ด คาราบาว เผยแพร่แล้วถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจและบางเพลงก็ถูกแบน แต่ผลเป็นอย่างไรคนไทยก็ทราบกันดี อย่างสำนวนที่เขาว่า “ยิ่งห้ามยิ่งยุ” เพลงเหล่านี้ยังถูกพูดถึงในปัจจุบันถึงจะผ่านมาแล้วนับสิบปีและระยะหลังๆ ศิลปินเพื่อชีวิตคนดังจะไม่ได้แต่งเพลงเนื้อหาแรงๆ แบบนี้อีกแล้วก็ตาม
ซึ่งแม้รสนิยมการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่อาจเปลี่ยนไปหาแนวเพลงอื่นๆ แทนเพลงเพื่อชีวิต แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงแบบใด “ก็ไม่ใช่ข้อจำกัด” ในการสะท้อน “อารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คน ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวอย่างรักๆ ใคร่ๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างสังคมและการเมือง ส่วนเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” จะกลายเป็นตำนานอย่างเพลงเพื่อชีวิตข้างต้นหรือไม่..คงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี