นักวิชาการแนะ‘แจกเงินเดือนขั้นต่ำคนจน’เผยผลวิจัยหลายปท.ชี้ไม่ไหลลงอบายมุข-สุขภาพจิตดีขึ้น
31 ต.ค. 2561 โลกออนไลน์มีหารแชร์บทความ “จะให้ “เบ็ด” หรือให้ “ปลา”? ให้ “เงิน” ไปเลยดีมั้ย” ซึ่งนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์บนเฟซบุ๊คส่วนตัว “Decharut Sukkumnoed” เมื่อ 30 ต.ค. 2561 เนื้อหาว่าด้วยการทดลอง “แจกเงินเดือนขั้นต่ำให้ครัวเรือนระดับล่าง” ในหลายประเทศ แล้วพบว่าคนระดับล่างก็มิได้นำเงินไปลงกับอบายมุข เช่น สุรา ยาสูบ การพนัน อย่างที่หลายฝ่ายกังวลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงนำมาเปิดประเด็นแก่สังคมไทย ดังนี้
“เนื่องจากวันนี้ ต้องไปพูดเรื่อง “ประชานิยม” และเวลากล่าวคำว่า “ประชานิยม” คนก็มักจะรู้สึก “ยี้” เป็นลำดับแรก ผมจึงต้องคิดหนัก และหากถามให้ลึกไปว่าแล้ว อะไรคือ “ยี้ที่สุด” ของประชานิยม? ผมเชื่อว่าคนส่วนหนึ่งจะตอบว่า “ก็แจกเงิน” ให้ประชาชน/คนจนไงล่ะ ผมยอมรับว่า ผมก็เคยคิดเช่นนั้น จนกระทั่ง ผมพยายามหาแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับที่ผมคิด จนไปเจอหนังสือชื่อ Give People Money: The Simple Idea to Solve inequality and revolutionize our lives ของ Annie Lowrey ที่มาเลเซีย เมื่อเดือนก่อน ความคิดผมจึงเปลี่ยนไป ซึ่งผมก็จะขอเล่าถึงโดยย่อ (แต่ก็ยังยาวอยู่ดี)”
“หนังสือเล่าถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อว่า GiveDirectly ซึ่งเชื่อว่า การให้เงินแบบไม่มีเงื่อนไขแก่ครัวเรือนที่ยากจน เป็นวิธีการช่วยเหลือที่มีประสิทธิผลที่สุด และมีต้นทุนการดำเนินการ (หมายถึง เงินที่ใช้ในการบริหารจัดการหรือโลจิสติกส์ ซึ่งจะไปไม่ถึงคนจนหรือครัวเรือนเป้าหมาย) ต่ำสุดในการช่วยให้ องค์กรนี้จึงได้ทำการทดลองโอนเงินสดแบบไม่มีเงื่อนไขการใช้เงิน (Unconditioned Cash Transfer) แก่ครัวเรือนภาคตะวันตกของเคนย่า ผ่านทางระบบการโอนเงินแบบมือถือ ในระหว่างปี 2011 และปี 2012 โดยมีการให้แบบทั่วไป และไม่กำหนด และที่ผมอึ้งที่สุดคือ ไม่ให้ “คำแนะนำ” ใดๆ ว่าจะใช้เงินนั้นอย่างไร”
“แน่นอนว่า วิธีการเช่นนี้นอกจากจะทำให้ชาวบ้านที่ได้รับเงินงงมากแล้ว!!! (มีแบบนี้ด้วยเหรอ) ยังอาจถูกท้วงติงโดยคนจำนวนมาก ว่า การให้เงินแบบให้เปล่าไม่มีเงื่อนไขหรือคำแนะนำใดๆ จะไปจบลงที่ เหล้า บุหรี่ หวย หรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นหรือไม่ องค์กรนี้จึงไม่ได้ให้เงินไปเท่านั้น แต่องค์กรนี้ยังต้องการติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยมีการออกแบบการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Randomized Controlled Trial) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนที่ได้รับเงิน กับครัวเรือนที่ไม่ได้รับเงิน (เรียกว่า กลุ่มทดลอง)”
“นอกจากนั้น ยังทำเปรียบเทียบระหว่าง (ก) การให้เงินแก่สามีหรือภรรยา จะให้ผลที่ต่างกันหรือไม่ (ข) ปริมาณเงินที่ให้น้อยหรือมาก จะให้ผลต่างกันหรือไม่ (ตั้งแต่ 300-1,100 เหรียญสหรัฐต่อปี) และ (ค) การให้เงินแบบรายเดือน และการให้เงินเป็นก้อนใหญ่ จะให้ผลต่างกันหรือไม่?”
“ผลการทดลองปรากฏว่า ในแง่การบริโภค การโอนเงินแบบนี้ (ซึ่งผมขอเรียกว่า เงินโอนรายได้พื้นฐาน หรือ Universal Basic Income) ช่วยให้ครัวเรือนมีการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การดูแลสุขภาพ การศึกษา กิจกรรมทางสังคม รวมถึงงานประเพณีต่างๆ ในแง่ของการบริโภคอาหารนั่น เงินโอนยังช่วยให้การบริโภคอาหารโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% ภาวะความหิวโหย (หรือการบริโภคอาหารไม่เพียงพอ) ลดลง 30% และจำนวนวันที่เด็กไม่ได้รับอาหารลดลง 42% ทั้งนี้ การได้รับเงินโอน ไม่มีผลให้การบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเลย”
“ในแง่ทรัพย์สิน การโอนเงินรายได้พื้นฐานช่วยให้ครัวเรือนที่ได้รับเงิน เพิ่มทรัพย์สินของตน ได้มากกว่าครัวเรือนควบคุม (ครัวเรือนที่ไม่ได้รับเงินโอน) ถึง 58% และเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับ 40% ของเงินที่ได้รับทั้งหมด (พูดง่ายๆ เอาเงินไปลงทุนประมาณ 40% ของเงินที่ได้รับ) โดยทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ การปรับปรุงหลังคาบ้านเรือนให้มีความคงทน (เพิ่มขึ้น 23% เทียบกับครัวเรือนควบคุม) และการเลี้ยงปศุสัตว์ (เพิ่มขึ้น 51% เทียบกับครัวเรือนควบคุม) ผลที่ตามมาคือ รายได้จากการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 48% และรายได้ทั้งจากการประกอบธุรกิจของตน (คือไม่รวมรายได้จากการเป็นลูกจ้าง) เพิ่มขึ้น 38% (ประมาณ 11 เหรียญสหรัฐต่อเดือน)”
“เมื่อทำการทดสอบด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า การได้รับเงินโอนช่วยเพิ่มระดับความสุข ความพึงพอใจในชีวิต และลดความเครียด รวมถึงช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ในร่างกายลงด้วย นอกจากนี้ การได้รับเงินรายได้พื้นฐานยังช่วยลดความรุนแรง และเสริมความเท่าเทียมกันของสตรีได้ด้วย”
“ในแง่การเปรียบเทียบระบบการโอนเงินพบว่า การโอนเงินแบบรายเดือนจะมีผลดีต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารมากกว่าการโอนเงินแบบก้อนใหญ่ ในทางตรงกันข้าม การโอนเงินแบบก้อนใหญ่จะมีผลดีกว่าในแง่การเพิ่มทรัพย์สิน และการโอนเงินในปริมาณที่มาก (1,100 เหรียญสหรัฐต่อปี) จะได้ผลดีมากกว่าเงินโอนจำนวนน้อย (300 เหรียญสหรัฐต่อปี) แต่ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเพิ่มในอัตราที่ลดลง ส่วนการโอนเงินให้กับผู้ชายหรือผู้หญิงนั้น ให้ผลไม่แตกต่างกัน ในกรณีของเคนย่า”
“จริงๆ แล้วผลการทดลองดังกล่าวไม่ใช่ผลการทดลองเดียวที่ผลให้เช่นนั้น ผลการศึกษาของธนาคารโลกเรื่อง การให้เงินแบบให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข ในหลายประเทศเช่น ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย เม็กซิโก นิคารากัว และฟิลิปปินส์ พบว่า การให้เงินแบบนี้ ไม่ได้มีผลชั่วโมงการทำงานลดลง (พูดง่ายๆ ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ) ในทางตรงกันข้าม กับทำให้มีบางคนทำงานเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ (จะขยายความทีหลังว่าทำไม?)”
“นอกจากนี้ ผลงาวิจัยของธนาคารโลก ยังชี้ด้วยว่า การให้เงินแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้ทำให้คนจนบริโภคเหล้า บุหรี่ มากขึ้น อย่างที่เป็นห่วงกันแต่อย่างใด มีผลการศึกษาในเปรู ซึ่งพบว่า ครัวเรือนที่ได้รับเงินจะบริโภคลูกกวาด ช็อคโกแลต น้ำอัดลม และทานข้าวนอกบ้านเพิ่มขึ้น ในฐานะความหย่อนใจเล็กน้อยสำหรับครัวเรือนที่พ้นจากความยากจน”
“เช่นเดียวกับ ผลการศึกษาของ Overseas Development Institute ซึ่งทำการทบทวนผลการวิจัยทั่วโลก โดยครอบคลุมผู้ได้รับเงินให้เปล่าเป็นล้านคนทั่วโลก ผลการศึกษาพบว่า การให้เงินให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไขช่วยให้อัตราการเข้าเรียนเพิ่มสูงขึ้น การลดลงของภาวะขาดสารอาหาร การเป็นเจ้าของสินทรัพย์เพื่อการผลิต (โดยเฉพาะปศุสัตว์และเครื่องจักรในฟาร์ม) เพิ่มขึ้น การใช้ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น การเพิ่มอัตราการออม และที่สำคัญ ลดภาวะความยากจนลงได้อย่างมาก”
“ทำไมวิธีการให้เงินแบบให้เปล่า ซึ่งน่าจะยี้ที่สุด กลับกลายเป็นเวิร์คที่สุดไปได้ ผมขอสรุปเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประการแรก เงินทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ครัวเรือนต้องการ ซึ่งแต่ละครัวเรือนอาจต้องการไม่เหมือนกัน ประเด็นนี้ ทำให้ผมย้อนคิดไปถึงคำพูดที่คนในสังคมมักชอบพูดว่า จะให้ “เบ็ด” หรือ ให้ “ปลา” ? โดยนัยยะ ผู้พูดอยากตอบว่า “เบ็ด” แต่ในความเป็นจริง ในภาวะที่หิวโหยมาก เราอาจต้องการ “ปลา” มากกว่า “เบ็ด” และในบางภาวะเราอาจต้องการ “เหยื่อ” เพื่อไปตกเบ็ด และบางภาวะเราอาจต้องการ “แผง” เพื่อขายปลาที่ใช้เบ็ดจับมาได้ และบางภาวะเราอาจต้องการ “เกลือ” เพื่อมาเก็บรักษาปลาไว้บริโภคหรือขายในอนาคต”
“การให้เงินแบบ “ไม่มีเงื่อนไข” จึงไม่ได้ “ล็อค” ไว้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้ครัวเรือนได้ลงทุนในสิ่งที่ “จำเป็น” ที่สุด สำหรับตนเอง “ในเวลานั้นๆ” อย่างแท้จริง การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการให้ “เบ็ด” แต่ผมเชื่อว่า พี่น้องจะสามารถวางแผนซื้อ “เบ็ด” ในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับตนเองได้ครับ นั่นคือ ประเด็นที่สอง (ซึ่งสำคัญกว่าประเด็นแรก) ซึ่งก็คือ ความสามารถในการวางแผน ครับ”
“การที่ครัวเรือนรับรู้ล่วงหน้าอย่างมั่นใจว่า จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และมีปริมาณที่มีนัยยะพอสมควร หมายถึง ช่วยให้ตนลงทุนเพิ่มรายได้ของครัวเรือนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในขณะเดียวกัน รายได้นั้นก็ไม่ได้มากเกินไป (เหมือนถูกรางวัลที่ 1) ที่จะทำให้ตนกลายเป็น “คนนั่งกินนอนกิน” ได้อย่างที่นิยมลุ้นกันในบางประเทศ ผลการศึกษาที่ผมเล่ามาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อมีรายได้ที่แน่นอน มากพอ (แต่ไม่มากเกิน) คนจนสามารถวางแผนชีวิต วางแผนการลงทุน ได้อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้ครัวเรือนมีรายได้ดีขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
“ในทางตรงกันข้าม ในภาวะที่รายได้ไม่แน่นอนและ (โดยทั่วไป) ไม่เพียงพอ คนจนจะรู้สึก (ก) เครียด (ข) ไม่แน่ใจว่าจะมีความหวังในทางใดกันแน่ ในภาวะนั้น การตัดสินใจทางการเงินที่ผิดพลาดก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งในมุมของการกลัวความเสี่ยง (เช่น ไม่กล้าลงทุนพัฒนาผลผลิต เพราะกลัวจะยิ่งลำบากมากขึ้น) และในด้านชอบความเสี่ยง (เช่น การซื้อหวย เพื่อลุ้นก้าวข้ามความยากลำบากนั้นในช็อตเดียว)”
“กล่าวโดยสรุป การให้เงินแบบให้เปล่า หรือเงินโอนรายได้พื้นฐาน มาจากฐานความคิดที่ว่า (ก) คนจนแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และ (ข) คนจนก็มีขีดความสามารถในการวางแผนของตนได้ ถ้าอยู่ในเงื่อนไขที่ควบคุมได้ระดับหนึ่ง (ในที่นี้ คือ ได้รับเงินก้อนหนึ่งที่แน่นอน) ในทางตรงกันข้าม การพยายามตั้ง “เงื่อนไข” ในการได้รับเงินหรือการใช้เงิน (ไม่ว่า ผ่านการจำนำข้าว ผ่านการซื้อสินค้าที่รับบัตรคนจน ผ่านการฝึกอบรมต้นกล้าอาชีพ ฯลฯ) จะทำให้การวางแผนของพี่น้องคนจนนั้น (ทั้งในแง่การผลิตและการบริโภค) “จำเป็นต้องบิดเบือน” ไป (เช่น ต้องปลูกข้าวมากขึ้น หรือไปซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นแต่มีขายในร้านที่รับบัตร) เพื่อเข้าถึงความช่วยเหลือดังกล่าว”
“นอกจากนี้ การตั้ง “เงื่อนไข” ยังมักตามมาด้วย ต้นทุนในการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งความหวังดีนั้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารโครงการ การแนะนำโครงการ การตรวจสอบให้เป็นไปตามเงื่อนไข เครื่องสแกนบัตร ซึ่งเงินเหล่านี้จะไม่ไปถึงคนจนเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าให้เงินแบบนี้ เราจะลดงบประมาณในการบริหารโครงการ และงบจ้างข้าราชการ รวมถึง งบที่เชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างผมไปให้ความรู้ว่าจะใช้เงินอย่างไร ไปได้มากโขเลยทีเดียว”
“ผมเคยเล่าเรื่องนี้ ให้เพื่อนๆ คนไทยฟัง เพื่อนส่วนใหญ่มักบอกว่า “ผลการวิจัยนี้ใช้กับคนไทยไม่ได้หรอก คนไทยเรารักสบายและไม่วางแผน ถ้านำมาใช้ที่เมืองไทยรับรองเละแน่ ผมจึงตอบว่า ก็เป็นไปได้นะ แต่ตอนนี้ ผมรู้แล้วว่า “ปัญหาใหญ่ของเมืองไทยคืออะไร? อะไร? เพื่อนถาม..เราพร้อมจะสรุปตามความเชื่อของเรา และเป็นความเชื่อที่ดูถูกเพื่อนร่วมชาติเป็นอย่างมาก โดยไม่เคยคิดแม้แต่จะทดลอง หรือเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมชาติได้พิสูจน์ตนเอง..ผมตอบ”
“ถ้ามีโอกาส ผมจะพิสูจน์ทันที ถ้ายังไม่มีโอกาส ผมจะยังไม่เชื่อ และผมจะศึกษาต่อไปครับ หมายเหตุ ไม่เคยมีการเตรียมการพูดครั้งไหน ที่ทำให้ผมเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตนเอง ได้เท่าครั้งนี้เลย”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี