ชาวอีสานมีความคุ้นเคยกับการเล่นว่าวมาแต่โบราณกาล เช่นเดียวกันกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเดิมนั้นหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะจัดทำว่าวเพื่อนำมาเล่นสร้างความบันเทิงไปพร้อมๆ กับการนวดข้าว แต่ในปัจจุบันวิถีการดำรงชีพของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป เครื่องมือจักรกลการเกษตรได้เข้ามามีบทบาทสูง แรงงานในภาคเกษตรกรลดน้อยลง อีกทั้งความเป็นชุมชน ทำให้บริเวณลานกว้างที่จะเป็นสถานที่ให้เด็กวิ่งเล่นว่าวก็ถูกจำกัด จึงทำให้เราเห็นภาพการเล่นว่าวลดน้อยลงในตามท้องทุ่งนาและชนบททั่วไป
นายเกรียงศักดิ์ สมจิต นายอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาถิ่นและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการเล่นว่าวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 โดยมีการจัดงานประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ซึ่งปัจจุบันได้ทำมาเป็นปีที่ 32 แล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของคนในท้องถิ่นอีสานให้คงอยู่สืบไป และเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยในปีนี้ทางจังหวัดได้กำหนดจัดงานประเพณีมหกรรมว่าวอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ชื่องาน "เทศกาลว่าวและบอลลูนนานาชาติ" ขึ้นในระหว่างวันที่ 21-23 ธ.ค.61 นี้ที่บริเวณสนามแข่งว่าว ข้างมหาวิทยาลัยรามคำแหงบุรีรัมย์ อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์เพียง 10 กิโลเมตรเศษเท่านั้นและเป็นลานกว้างสามารถวิ่งเล่นว่าวและแข่งขันว่าวแอกโดยไม่มีอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางใดๆ
สำหรับว่าวอีสานที่เล่นกันในแต่ละถิ่นจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่ลักษณะเด่นของว่าวอีสานจะเป็นว่าวที่มีตัวเป็นสองห้องจึงถูกเรียกว่า ว่าวสองห้อง หรือ ว่าวแม่ลูก ก็เรียก เพราะ ตัวว่าวที่ห้องบนขนาดใหญ่จะเรียกว่า "ตัวแม่" ตัวว่าวที่อยู่ด้านล่างลงมามีขนาดเล็กกว่าประมาณเท่าตัวเรียกว่า "ตัวลูก" แต่ในบางพื้นที่ก็เรียก "ว่าวแอก" เพราะด้วยว่ามี "แอก" ซึ่งทำจากไม้หวาย และใบหวายติดที่ส่วนหัวว่าว โดยจะส่งเสียงในเวลาที่ว่าวลอยติดลมบน ตัวแอกก็เรียก บ้างก็เรียก "ธนู" ดังนั้นจึงจะได้ยินชื่อเรียก "ว่าว" ของภาคอีสาน ไม่ว่า จะเป็นว่าวแอก ว่าวสองห้อง ว่าวธนู หรือว่าวแม่ลูก ตามแต่ละท้องถิ่นของชาวบุรีรัมย์ที่เรียกกัน
การเล่นว่าวทางภาคอีสานนั้นจะเป็นช่วงฤดูสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือน เท่านั้น โดยจะเริ่มในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี เพราะช่วงนี้มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลมบน" และต้องเล่นว่าวในยามค่ำคืนในช่วงเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็น เรื่อยไปจนถึงสว่างประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ลมว่าวก็จะหมดลง โดยการเล่นว่าวของคนอีสานส่วนมากจะมีการเล่นที่แฝงไว้กับจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการบวงสรวง หรือการเสี่ยงทาย ซึ่งมักจะมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของความเชื่อกับการพยากรณ์ การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร
โดยเชื่อว่า หากปีใดว่าวขึ้นสูงติดลมบนได้ตลอดทั้งคืน ปีหน้าฟ้าฝนจะดีข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์ ส่วนชาวถิ่นไทยเขมรใน จ.บุรีรัมย์ เชื่อกันว่า การชักว่าวขึ้นให้ติดลม และเสียงของแอกที่โหยหวน มีความหมายว่า เป็นการสร้างกรรม ดังนั้นเมื่อเลิกเล่นจึงนิยมตัดว่าวทิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นการตัดเวรตัดกรรมออกไป เป็นการสะเดาะเคราะห์ และจะมีการผูกข้าวปลาอาหารให้ล่องลอยไปกับตัวว่าว
สำหรับในงานปีนี้ มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่าวทุกประเภท ว่าวแอกโบราณ ซึ่งเป็นว่าวที่ใช้วัสดุทำตัวโครงว่าวจากไม้ไผ่ ใช้กระดาษปิดเป็นตัวว่าว และหางว่าวจะต้องทำจากใบตาล หรือใบลาน เท่านั้น โดยมีขนาดของตัวปีกตั้งแต่ 2.50 -3 เมตร ส่วนว่าวแอกพัฒนามีขนาดเช่นเดียวกันว่าวแอกโบราณ เพียงแต่วัสดุที่นำมาใช้ทำตัวว่าวจะทำจากวัสดุใดก็ได้และการแข่งขันว่าวแอกยักษ์ จะมีความยาวของส่วนปีกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ใช้วัสดุอะไรในการสร้างว่าวก็ได้ แต่ต้องติดแอกในขณะแข่งขัน โดยว่าวที่แข่งขันจะต้องปล่อยในช่วงเย็น และจะต้องติดลมตลอดทั้งคืนจึงจะผ่านเกณฑ์การแข่งขัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์การเล่นว่าวในหมู่เยาวชนคนรุ่นหลัง ทางจังหวัดจึงได้จัดให้มีการแข่งขันว่าวประดิษฐ์เยาวชน ที่มีขนาดว่าวแอกไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร โดยให้เวลาประดิษฐ์และจัดทำว่าวไม่เกิน 2 ชั่วโมง ทั้งยังมีการแข่งขันแกว่งแอก ซึ่งเป็นลีลาและเป็นความสามารถเฉพาะตัวในการแกว่งแอกให้มีเสียงไพเราะ
พร้อมทั้งจัดขบวนแห่มหกรรมว่าวอีสาน และมีธิดาว่าวโดยมีสาวงามจากทุกตำบลของอำเภอห้วยราช ที่เข้าร่วมจัดริ้วขบวนอย่างยิ่งใหญ่ พิธีทำขวัญข้าว ตัดกรรม สะเดาะเคราะห์และเสริมชะตาชีวิต ส่วนในภาคกลางคืน ชมการประกวดธิดาว่าว, ประกวดร้องเพลง, การเดินแบบผ้าไหม รวมทั้งชมการแสดงดนตรี การละเล่น พื้นบ้าน พร้อมกับชมว่าวกลางคืน ฟังเสียงแอกเมื่อต้องลมยามค่ำคืน ที่มีการปล่อยว่าวให้ติดลมบนตลอดคืน ถือเป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามของชาวบุรีรัมย์และชาวอีสานไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ ยังจะได้ชมการแสดงบอลลูนนานาชาติ การแสดงหมู่บ้านว่าวของชุมชนในพื้นที่ และการออกร้าน OTOP สุดยอดผลิตภัณฑ์ "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" ต่างๆ มากมาย ซึ่งนำมาแสดงและจำหน่ายในการออกร้านของแต่ละตำบล ดังนั้น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสลมหนาวกับการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานในงาน "เทศกาลว่าวและบอลลูนนานาชาติ" อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อซึมซับกลิ่นไอ และร่วมดำรงวิถีชีวิตของชาวอีสานให้คงดำรงอยู่ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี