ตัวเลข 100 มาจากต้องการจะล้อกับพระชันษาของสมเด็จพระสังฆราชครบ 100 ปี ในเดือนตุลาคม 2556 จัดทำเป็นหนังสือของกิจกรรมจัดหาทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลพหลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดพระชาติภูมิของสมเด็จพระสังฆราช
คำสอนของสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นคำสอนที่ใช้ภาษาเรียบง่าย และงดงาม ชวนให้น้อมนำเข้ามาสู่จิตใจ 100 คำสอนที่รวบรวมมา แต่ละคำสอนเป็นข้อความสั้น ๆ ไม่เกินหนึ่งหน้า จัดแบ่งเป็น 8 หมวด ว่าด้วย ชีวิต, คน, คนดี, กรรม, ความสุข, ความดี, เมตตา และชัยชนะ
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 28
อันคนที่ทำงานที่เป็นคุณให้ เกิดประโยชน์ย่อมจะต้องประสบถ้อยคำถากถาง หรือการขัดขวางน้อยหรือมาก ผู้มีใจอ่อนแอก็จะเกิดความย่อท้อ ไม่อยากจะทำดีต่อไป แต่ผู้ที่มีกำลังใจย่อมจะไม่ท้อถอย ยิ่งถูกค่อนแคะก็ยิ่งจะเกิดกำลังใจมากขึ้น คำค่อนแคะกลายเป็นพาหนะที่มีเดชะแห่งการทำความดี แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกคนที่ริษยามุ่งร้ายจ้างคนให้ตามด่าว่าในบางครั้ง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 29
การที่จะให้ใครช่วยเหลือทำอะไร ต้องเลือกคนที่มีปัญญา ที่รู้จักผิดถูก ควรไม่ควร มิใช่ว่าถ้าเขามุ่งดีปรารถนาดีแล้ว เป็นมอบการงานให้ทำเรื่อยไป เพราะถ้าเป็นคนขาดปัญญา แม้จะทำด้วยความตั้งใจช่วยจริง แต่ก็อาจจะทำการที่เป็นโทษแม้อย่างอุกฤษฏ์ก็ได้
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 30
คนเรานั้น นอกจากจะมีปัญญาแล้ว ยังต้องมีความคิดอีกด้วย จึงจะเอาตัวรอดได้จากอันตรายต่างๆ ในโลก วิสัยของบัณฑิตคือคนที่ฉลาดนั้น ย่อมไม่ยอมแพ้หรืออับจนต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่รัดรึงเข้ามา ย่อมใช้ความคิดคลี่คลายเอาตัวรอดปลอดภัยให้จงได้ และเป็นธรรมดาอยู่ที่คนฉลาดกว่า ย่อมเอาชนะคนที่ฉลาดน้อยกว่าได้
คำสอนสมเด็จพระสังฆราช ที่ 31
คนโง่นั้น เมื่อยังยอมอาศัยปัญญาของคนฉลาดอยู่ ก็ยังพอรักษาตนอยู่ได้ แต่เมื่อโง่เกิดอวดฉลาดขึ้นมาเมื่อใด ก็เกิดวิบัติเมื่อนั้น และเมื่อถึงคราวคับขันซึ่งจะต้องแสดงวิชาเอง คนโง่ก็จะต้องแสดงโง่ออกมาจนได้ ฉะนั้น ถึงอย่างไรก็สู้หาวิชาใส่ตนให้เป็นคนฉลาด ขึ้นเองไม่ได้ ทั้งคนดีมีวิชาถึงจะมีรูปร่างไม่ดี ก็จะต้องได้ดีในที่สุด
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 32
คนที่อ่อนแอ ย่อมแพ้อุปสรรคง่ายๆ ส่วนคนที่เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไปรักษาการงานหรือสิ่งมุ่งจะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ถืออุปสรรคเหมือนอย่างสัญญาณไฟแดงที่จะต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวจะต้องพบสัญญาณไฟแดงตามถนนซึ่งจะต้องหยุดรถ ก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้การดำเนินชีวิตก็ฉันนั้น ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรค ก็ทำอะไรไม่ได้
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 33
ธรรมดาผู้เป็นปุถุชน ความปรารถนาต้องการย่อมบังเกิดขึ้นได้เสมอ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ เมื่อความปรารถนาต้องการเกิดขึ้นเมื่อใด ให้ทำสติพิจารณาใจตนเองอย่างผู้มีปัญญา อย่าคิดเอาเองว่าใจเป็นอย่างไร จะต้องพบความจริงแน่นอนว่า ใจเป็นทุกข์ ใจเร่าร้อน ด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการที่เกิดขึ้นนั้น ใจจะไม่สงบเย็นด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการที่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 34
วิธีดับความปรารถนาต้องการ ก็คือ หัดเป็นผู้ให้บ่อยๆ ให้เสมอๆ การให้กับการดับความปรารถนาต้องการ จะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ ถ้าการให้นั้นเป็นการให้เพื่อลดกิเลสคือความโลภในใจตน มิได้เป็นการให้เพื่อหวังผลตอบแทนที่ยิ่งกว่า
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 35
มีคนไม่ใช่น้อยที่เรียนรู้มากมาย อะไรดีอะไรชั่ว รู้ทั้งนั้น แต่ไม่ทำดี หรือทำก็ทำสิ่งไม่ดี เรียกว่า ใช้ความรู้นั้นช่วยตนเองไม่ได้ ก็เพราะขาดความเคารพในธรรมที่รู้ คือไม่ปฏิบัติให้สมควรแก่ ความรู้นั่นเอง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 36
พระพุทธศาสนา สอนให้คนเข้าใจในกรรมนั้นไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรมหรืออยู่ไต้อำนาจกรรม แต่สอนให้ รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน กรรมคือการอะไรทุกอย่างที่คนทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ประกอบด้วยเจตนา คือ ความจงใจ
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 37
ทุกคนในโลกต่างต้องถ้อยทีต้องพึ่งอาศัยกันในทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น จึงควรปฏิบัติตน ในทางที่จะชื่อว่ารักษาไว้ทั้งตนทั้งผู้อื่น คือด้วยวิธีที่แต่ละคนตั้งใจปฏิบัติกรณียะคือกิจของตน ควรทำ หน้าที่เป็นตนให้ดีและด้วยความมีน้ำใจที่อดทนไม่คิดเบียดเบียนใคร มีจิตเมตตา มีเอ็นดูอนุเคราะห์ เมื่อตั้งใจปฏิบ้ติกรณียะ กอปรด้วยน้ำใจดังกล่าว ก็ชื่อว่ารักษาทั้งตนทั้งผู้อื่นเป็นผู้รักษาไว้ได้ทั้งหมด
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 38
หน้าที่ของคนเรา ที่จะพึงปฏิบัติต่อชีวิตร่างกาย คือบริหารรักษาให้ปราศจากโรค ให้มีสมรรถภาพและรีบประกอบประโยชน์ให้ เป็นชีวิตดี ชีวิตที่อุดม ไม่ให้เป็นชีวิตชั่ว ชีวิตเปล่าประโยชน์ (โมฆชีวิต)และในขณะเดียวกัน ก็ให้กำหนดรู้คติธรรมดาของชีวิต เพื่อ ความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้ทำลายชีวิตร่างกาย ถ้าจะเกิดความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ในอันที่จะทำลายชีวิต ร่างกายก็ให้ทำลายความอยาก ความโกรธความเกลียดนั้นเสีย
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 39
คนที่มีบุญนั้น บุญย่อมคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว เพียงแต่เปิดโอกาสให้เข้าช่วย คือเปิดใจรับนั่นเอง การเปิดใจรับก็คือเปิด อารมณ์ที่หุ้มห่อออกเสียแม้ชั่วขณะหนึ่ง ด้วยสติที่กำหนดทำใจตามวิธีของพระพุทธเจ้า เมื่อบุญได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาถึงใจ หรือ โผล่ขึ้นมาได้แล้ว จิตใจจะกลับมีความสุข อย่างยิ่ง อารมณ์ทั้งหลายที่เคยเห็นว่าดีหรือร้าย ก็จะกลับเป็นเรื่องธรรมดาโลก
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 40
คนที่ทำดีไม่น้อย เป็นทุกข์เพราะการทำดีของตน ที่ไม่กล้าที่จะทำดีก็มี แต่คนทำดีที่ยังเป็นทุกข์ดังกล่าว ก็เพราะยังทำไม่ถึง ความดีแห่งจิตใจของตนเอง จิตใจจึงทำไม่ถึงความดีแห่งจิตใจของตนเองจิตใจจึงยังมีความยินดียินร้ายไปตามอารมณ์ที่มากระทบ จากคนทั้งหลาย หากได้เล็งเห็นว่าเรื่องของคนทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องของโลก ถ้าตนเองมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเรื่องของคนอื่นการปฏิบัติทำจิตใจของตนให้มั่นคงดังนี้ เป็นการสร้างความดีให้แก่จิตใจ เป็นตัวความดีที่เป็นแก่นแท้ ของความดีทั้งหลาย ซึ่งจะป้องกันความทุกข์กระทบกระเทือนใจได้ทุกอย่าง
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 41
ความดีนั้น เกิดจากกรรม (การงาน) ที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ความว่า คนเป็นคนดีเพราะกรรมเป็นคนถ่อยก็เพราะกรรม ฉะนั้น เมื่อละเลิกกรรมที่ชั่วผิด ทำกรรมที่ดีที่ชอบ ก็ได้เป็นคนดีแล้ว แต่คนที่ทำกรรมชั่วผิด แม้จะได้รับบัญญัติ (แต่งตั้ง) ว่าดีอย่างไร ก็หาชื่อว่าเป็นคนดีไม่ ผู้ที่รู้และค้านเป็นคนแรกก็คือตนนั่นเอง เว้น ไว้แต่จะมีตาใจบอดไปเสียแล้ว ด้วยความหลงตนไปอย่างยิ่งนั้นแหละ จึงจะไม่รู้
คำสอนสมเด็จพระสังฆราชที่ 42
อันความดีนั้นย่อมเป็นอาภรณ์ เป็นอิสริยยศ (ยศคือความเป็นใหญ่) ของคนดี เพราะคนดี ย่อมเห็นความดีนี้แหละเป็นยศอันยิ่งใหญ่ และย่อมพอใจประดับความดีเป็นอาภรณ์ จึงกล่าวได้ว่าความ ดีนั้นเป็นอิสริยาภรณ์ของคนดี
..................................................
ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี