เสนอ"แม่น้ำสาละวิน"เป็นมรดกโลก เผยมีชาติพันธุ์-วัฒนธรรมหลากหลาย-ป่าไม้สมบูรณ์ ชาวบ้านร่วมจัดงานวันหยุดเขื่อนโลกตลอดลำน้ำ
15 มี.ค.62 เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) ที่บริเวณริมแม่น้ำสาละวินบ้านสบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านชุมชนบ้านสบเมยร่วมกันจัดงานสืบชาตาแม่น้ำเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ คริสต์ และพิธีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ซึ่งมีชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมกว่า 100 คน
นายเยบือ ษมาจิตผล หรือพะตีเยบือวัย 70 ปี ผู้อาวุโสประจำชุมชน เปิดเผยว่า ในทุกๆ ปีชาวบ้านร่วมกันจัดงานตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ โดยการเลี้ยงผีและขอขมาแม่น้ำ นอกจากนี้ ต้องการให้ลูกหลานได้สืบต่อพิธีกรรมดั้งเดิมที่บรรพชนทำมา และในปีนี้ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจ เพราะร่องน้ำในแม่น้ำเมยที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ที่ได้เปลี่ยนเส้นทางจากเดิมเคยไหลชิดในฝั่งพม่า แต่ปีนี้กลับไหลชิดฝั่งไทย ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุในสิ่งไม่ดี และแม่น้ำเมยไม่เคยเปลี่ยนเส้นทางน้ำเช่นนี้มานับสิบปี ดังนั้น จึงต้องเลี้ยงผีและขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไม่ให้มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น
พะตีเยบือ กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินเป็นเส้นเลือดที่สำคัญของชาวบ้าน เพราะนอกจากหล่อเลี้ยงให้ทุกคนได้มีอยู่มีกินแล้ว ยังเชื่อมโยงให้พี่น้องปกาเกอะญอให้ไปมาหากันไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน ดังนั้น ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยที่หากจะมีการกั้นสร้างเขื่อน เพราะจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง และจะเกิดความขาดแคลนขึ้น
"พวกเราได้หาปลากิน ปลูกพืชริมน้ำเลี้ยงครอบครัว และเป็นรายได้ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือในเมือง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้พวกเราก็ไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร" พะตีเยบือ กล่าว
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งนำชาวบ้านริมแม่น้ำโขง มาร่วมให้กำลังใจ กล่าวว่า อยากให้บทเรียนของแม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างของสาละวิน เพราะเป็นแม่น้ำใหญ่เช่นเดียวกัน แต่แม่น้ำโขงมีเขื่อนกั้นมากมาย ส่งผลกระทบกับชาวบ้านจนไม่สามารถหาอยู่หากินได้เหมือนเมื่อก่อน ทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีวัฒนธรรมของชุมชนแม่น้ำโขงถูกทำลาย ดังนั้น จึงต้องตระหนักเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในแม่น้ำสาละวินอีก เพราะชาวบ้านริมสาละวินต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก และแม่น้ำสาละวินมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และยังมีการสู้รบในบางพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงในการดำรงชีวิต ดังนั้น หากแม่น้ำถูกทำลายลงไปอีกก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน
"เห็นได้ว่าโครงการขนาดใหญ่บนแม่น้ำ โดยเฉพาะเขื่อนนั้นล้มเหลวแทบทุกที่ เราควรปล่อยให้แม่น้ำไหลอิสระเพื่อความอุดมบูรณ์ อย่ามาอ้างว่าสร้างเขื่อนเพื่อได้พลังงานบริสุทธิ เพราะมันไม่จริง ที่สำคัญเรายังมีแหล่งพลังงานอื่นที่เป็นทางเลือกมากมาย"นายนิวัฒน์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินไปยังเขื่อนภูมิพล นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้น้ำ ดังนั้น ควรแก้ไขตรงนี้ก่อนดีกว่า เพราะแม้จะเป็นการผันน้ำแต่การที่ปริมาณน้ำเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติย่อมส่งผลกระทบตามมามากมาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่สอดคล้องกับภูมินิเวศที่เคยเป็นมา
นายประยูร ลุกอง อายุ 69 ปี ผู้อาวุโสชาวเชียงของ ซึ่งเดินทางมาร่วมงาน กล่าวว่า จริงๆ แล้วแม่น้ำสาละวินควรยกระดับให้เป็นมรดกโลก เพราะเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ยังไม่มีเขื่อน และมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยแม่น้ำสายนี้ หากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียงตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันผลักดัน ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมกันดูแลทรัพยากรแหล่งนี้ไว้ให้ลูกหลาน และสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในเรื่องดีๆ ของอาเซียน ที่ไม่ถือว่าใครเป็นเจ้าของแม่น้ำ
นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ชาวบ้านเห็นด้วยที่จะเสนอให้แม่น้ำสาละวินเป็นมรดกโลก ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการหารือกัน แต่เงียบหายไป โดยแม่น้ำสายนี้มีความเหมาะสมที่จะเป็นมรดกโลกมาก เพราะตลาดทั้งลำน้ำเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนี้ ยังมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะป่าไม้ที่ชาวบ้านยังดูแลรักษาไว้ได้ดีในระดับต้นของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำสาละวินที่อยู่ในประเทศจีนนั้น ก็ได้กลายเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติไปแล้ว ดังนั้น จึงน่าจะเชื่อมต่อให้มีมรดกโลกตลอดลำน้ำ
นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวภายหลังร่วมงาน ว่า เคยได้ยินแต่เรื่องราวของคนในแม่น้ำสาละวินที่เป็นคนต้นน้ำแตกต่างจากพื้นที่ที่ตนอยู่ที่เป็นแม่น้ำสายเล็ก ตนได้เห็นพิธีเลี้ยงผีสบน้ำสำหรับคนต้นน้ำ ชีวิตของเขามีเรือนแพผูกพันกับน้ำถือว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งในน้ำและบนบก โดยชาวบ้านเข้าใจเกาะแก่งและหินอย่างดี รวมทั้งการปลูกพืชผักซึ่งเป็นรายได้สำคัญ เพราะมีดินที่เกิดจากตะกอนอันสมบูรณ์ แต่มีปัญหาคือภาครัฐมาจ้างปลูกต้นสักทับที่ของชาวบ้าน
"หากมีเขื่อนและน้ำท่วมสูงขึ้นทุกคนต่างไม่เห็นด้วย เพราะจะไม่เหลือชีวิตชุมชนที่มีความสุขอีกต่อไป คนกะเหรี่ยงอยู่ได้เพราะธรรมชาติ หากรัฐหรือใครมาแย่งชิงผืนดินผืนน้ำไปก็เท่ากับเป็นการฆ่าชาวกะเหรี่ยง เพียงแต่ไม่ได้ฆ่าแบบมีเลือดออกมา แต่ฆ่าด้วยความเลือดเย็น ค่อยๆ ตายไป" นายพฤ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันในรัฐต่างๆตลอดลำน้ำสาละวิน ต่างจัดงานวันหยุดเขื่อนโลก ทั้งในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนีและรฐมอญ โดยแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญในโลกที่ยังคงไหลอย่างอิสระ จากต้นน้ำที่ทิเบต จีน ลงจนถึงปากแม่น้ำที่มะละแหม่ง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,800 กิโลเมตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี