“ปชช.แห่เล่นน้ำสงกรานต์ “สวนตาวุฒิ” แดนลับแลค้นพิกัดบน“Google Maps” ไม่พบ” คือพาดหัวข่าวเล็กๆ บนเว็บไซต์ “แนวหน้าออนไลน์” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 15 เม.ย. 2562 อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2562 ว่าด้วยผู้คนจำนวนมากเดินทางไปรวมตัวเล่นสาดน้ำกันในพื้นที่ดังกล่าว ที่แม้ว่าจะ “ไม่ปรากฏในฐานข้อมูล” ของแอพพลิเคชั่นแผนที่นำทางยอดนิยมอย่าง “กูเกิ้ล แมพส์ (Google Maps)” แต่ก็พยายามชักชวนกันแบบ “ปากต่อปาก” (หรือตัวอักษรผ่านตัวอักษร) บนโลกออนไลน์ เพื่อที่จะไปให้ถึงให้ได้
หลังจากข่าวข้างต้นถูกนำเสนอ ชื่อของ “สวนตาวุฒิ” ถูกกล่าวขานถึงมากขึ้นกว่าเดิม “หลายคนบอกว่าในที่สุดสวนตาวุฒิก็ดังแล้ว แต่บางคนก็เป็นห่วงเพราะกลัวปีหน้าจะถูกห้ามไม่ได้เล่นอีก” ซึ่งข้อหลังนี้บรรดา “สายสาด” จำนวนไม่น้อยยัง “ฝันร้าย” กับสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เนื่องจาก “ทางการเข้มงวดมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ถนนแทบทุกสายมีประกาศห้ามประชาชนเล่นสาดน้ำ”มีการระดมกำลังทหาร ตำรวจและเทศกิจออกสกัดอย่างต่อเนื่อง จนบรรยากาศสงกรานต์ในเมืองกรุงแทบจะเงียบเหงา
วัยรุ่นชาวสวนตาวุฒิรายหนึ่งบอกเล่ากับ “สกู๊ปแนวหน้า”เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 1 พ.ค. 2562 ว่า “ถ้าถนนเลียบคลองทวีวัฒนา (กรุงเทพฯ) ไม่ถูกห้ามเล่นสงกรานต์ สวนตาวุฒิก็คงไม่ดังขึ้นมาเพราะคนคงไม่แห่กันมาเล่นที่นี่” โดยสวนตาวุฒินั้นอยู่ในพื้นที่ ต.หนองเพรางาย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรีมีที่มาจากชื่อของชาวสวนกล้วยไม้ผู้ยกที่ดินให้กับรัฐเพื่อนำไปทำถนน มีสภาพเป็นถนนเส้นเล็กๆ สองข้างทางเป็นสวน และมีบ้านเรือนประปราย และย้ำว่า “ที่นี่เกิดขึ้นจากประชาชนริเริ่มลงทุนลงแรงก่อน” ตั้งแต่การจัดหาเครื่องเสียงจนถึงระดมคนมาช่วยอำนวยการจราจร
ขณะที่ สัมฤทธิ์ ภิรมย์คำ แกนนำทีมงานสวนตาวุฒิ เปิดเผยว่า “ที่สงกรานต์สวนตาวุฒิเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ต้องขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่” ไม่ว่าจะเป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่น อดีตผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันของทั้ง 3 หมู่บ้านที่ “เอาด้วย” ทำให้การขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการเสนอแผนการจัดงานไปถึงภาครัฐเป็นไปอย่างมีน้ำหนัก
โดยเมื่อได้รับ “ไฟเขียว” สิ่งที่ทีมงานสวนตาวุฒิต้องมาคิดกันต่อไป คือ 1.การทะเลาะวิวาท” เรื่องนี้ต้องเริ่มจาก“เจ้าถิ่นอย่าเป็นฝ่ายหาเรื่องเสียเองก่อน” โดยก่อนหน้าวันงานมีการประชุมกลุ่มวัยรุ่นต่างๆ ในพื้นที่ กำชับว่า “ถ้ามีเรื่องขึ้นมาพื้นที่นี้ก็จะถูกห้าม” ด้วยเชื่อว่าถ้าฝ่ายเจ้าถิ่นไม่เริ่มก่อเรื่องก็จะลดความรุนแรงลงไปได้มาก เพราะบรรดาผู้มาเยือนอย่างไรเสียก็ต้องเกรงใจคนพื้นที่กันบ้าง ซึ่งตลอด 3 วันที่ผ่านมาทุกอย่างก็เรียบร้อยดี
เห็นได้จาก “เมื่อถึงเวลา 19.30 น.ของ 2 วันแรก และ 20.00 น. ของวันสุดท้าย ทีมผู้จัดประกาศขอให้เลิกเล่นสาดน้ำ
เครื่องเสียงก็ทยอยปิด และผู้คนก็ทยอยนำยานพาหนะออกจากพื้นที่” อีกทั้งไม่มีเหตุอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น นอกจากนี้ “ในปีต่อๆ ไปวางแผนว่าจะออกข้อห้ามนำเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้วเข้ามาขาย เพราะขวดแก้วสามารถทุบให้แตกทำเป็นอาวุธได้” หากพ่อค้าแม่ค้าจะนำเครื่องดื่มมาขายต้องเป็นแบบกระป๋องเท่านั้น
กับ 2.การจราจร เรื่องนี้ในช่วงสงกรานต์ 2562 ที่ผ่านมายอมรับว่าอาจมีข้อบกพร่องบ้างเพราะทำเรื่องเสนอไปยังอำเภออย่างกระชั้นชิด เนื่องจากตอนแรกเข้าใจว่าปีนี้ถนนเลียบคลองทวีวัฒนาจะเล่นได้ ทำให้ทีมงานภาคประชาชนต้องดูแลกันเองในเบื้องต้นก่อนที่ทาง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองเพรางาย จะมาช่วยสนับสนุน ซึ่งทางอำเภอแนะนำว่าในปีต่อไปให้ทำเรื่องขอไปทางจังหวัดแล้วจะได้รับการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่
“ถ้าวันแรกเราปิดเวลานี้ วันที่สองเขาก็จะรู้แล้วว่าเวลาเลิกมันประมาณกี่โมง เราเดินบอกตามจุดต่างๆ ผมก็เดินดูตลอด ถามว่าประสบความสำเร็จไหม? ก็ใช่ แต่มันก็เหนื่อย แต่เหนื่อยแล้วแลกกับความสุข การจราจรมันติดขัดจริง อันนี้เรายอมรับ แต่ตรงนี้มันเป็นทางเบี่ยง ถ้าคุณจะไปเส้นตรงก็ไปอีกทาง แล้วสวนตาวุฒิวันทั่วไปก็ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งเท่าไร ก็ไม่ค่อยมีคนร้องเรียนบ้านคนเราก็ชวนมาขายของให้เขามีรายได้” แกนนำทีมงานสวนตาวุฒิ กล่าว
ย้อนกลับมายังถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ป้อมลาย ดอกไม้สด แกนนำภาคประชาชนชาวคลองทวีวัฒนาผู้เรียกร้องให้ภาครัฐยุติคำสั่งห้ามนำยานพาหนะบรรทุกคนและถังน้ำเข้าไปเล่นสาดน้ำในพื้นที่ สรุปบทเรียนจากสวนตาวุฒิไว้ 1.ผู้ใหญ่ในพื้นที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยความที่เป็น “สังคมภูธร” ทำให้ทั้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และภาครัฐ มีความสัมพันธ์ค่อนข้างแน่นแฟ้นกว่าสังคมเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ
2.ไม่มีความขัดแย้งระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้มาอยู่ใหม่ เรื่องนี้เป็นปัญหามาก ไม่เฉพาะสงกรานต์แต่ยังรวมถึงกรณีอื่นๆ เช่นเสียงระฆังวัดหรือเสียงเพลงจากเวทีเต้น
แอโรบิก รวมถึงเสียงบ่นการจราจรติดขัดจากขบวนแห่นาคงานบวชแม้จะเป็นวันเสาร์ - อาทิตย์ก็ตาม ฯลฯ เนื่องด้วย “ผู้อาศัยในโครงการเหล่านี้มักมีรสนิยมชอบความเงียบสงบและเป็นระเบียบ” ซึ่งขัดกับวิถีของชุมชนดั้งเดิมข้างต้น เรื่องนี้ ป้อมลายตั้งคำถามว่า “คนมาอยู่ใหม่ควรเป็นฝ่ายปรับตัวหรือไม่?” มากกว่าจะให้ชาวชุมชนเดิมเปลี่ยนแปลงตามผู้มาทีหลัง
“หมู่บ้านที่มาตั้งราคาหลังละเป็นสิบล้าน มันคนละระดับกับคนพื้นที่ที่ปลูกบ้านแค่ 3 - 4 แสนบาท ความคิดมันแตกต่างกัน คุณอาจจะเห็นว่ามีเงินมากกว่า เสียงดังกว่า แล้วคนมียศมีตำแหน่งก็มักจะฟังเสียงคนมีเงินมากกว่า แต่ผมอยากให้คนมาอยู่ใหม่ปรับสภาพเข้ากับชุมชนเดิม เพราะต้องเข้าใจว่าคุณมาใหม่ เท่ากับมาเพิ่มภาระไม่ว่าการจราจรหรืออะไรหลายๆ อย่างให้กับชุมชนเดิมที่เขาก็มีอยู่แล้ว” ป้อมลาย ฝากทิ้งท้าย
บทสรุปของเรื่องนี้..สงกรานต์สวนตาวุฒิ ดูจะไม่ต่างจากกรณีอื่นๆ ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ชุมชนกับป่าในชนบท หรือหาบเร่แผงลอยในเมือง ที่เมื่อรัฐบาลทหารให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเหนือสิ่งอื่นใด องคาพยพต่างๆ ของรัฐก็จะพากันเลือกใช้วิธี “โละ-ล้าง” สิ่งที่ดูไม่เรียบร้อยในสายตาของผู้มีอำนาจออกไปให้หมดจนกระทบต่อวิถีชีวิตคนฐานราก ในขณะที่ภาคประชาชนก็จะพยายามต่อสู้เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ชุมชนสามารถบริหารจัดการเองได้” โดยประชาชนเป็นผู้ริเริ่มแล้วภาครัฐช่วยสนับสนุนเติมเต็มส่วนที่ขาด อีกทั้งไม่ว่าที่ใดก็ล้วนคาดหวังว่า..
เมื่อมีการเลือกตั้งรัฐบาลกลางและผู้บริหารท้องถิ่นตามครรลองประชาธิปไตยแล้ว การบริหารจัดการแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม จะได้รับการส่งเสริมมากขึ้น!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี