“จุดเปลี่ยนของชีวิตของผมเริ่มต้นด้วยความโศกเศร้า จำได้เป็นอย่างดีเลยว่า วันที่ 22 ธ.ค. 2521 ขณะนั้นผมอายุได้ 14 ปี พ่อแม่ของผมประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตพร้อมกัน ผมก็เลยกลายเป็นคนที่บ้านแตกสาแหรกขาด ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อรับ จ้างทำงานทุกอย่าง เช่น ถางป่า ปลูกปาล์ม พอโตขึ้นมาอีกนิดก็เข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร
จนกระทั่งผมอายุ 21 ปี ก็ได้เป็นทหารเกณฑ์ของกองทัพเรือ โดยอยู่ที่กรมการขนส่งทหารเรือ ที่บางกอกน้อย ซึ่งตลอดระยะเวลาช่วงดังกล่าวผมมีความพยายามที่จะกลับไปเรียนหนังสือให้ได้เพราะรู้ดีว่าการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต จึงได้เพียรพยายามเรียนชั้น ม.ปลาย ต่อเนื่องจนกระทั่งผมจบปริญญาตรีที่ ม.รามคำแหง และจบปริญญาโท ที่ ม.ธรรมศาสตร์”
คำบอกเล่าจาก ภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ หนุ่มไทยจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ด้วยการได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลในงาน World Genius Convention (WGC) ครั้งที่ 33 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นงานประชุมที่รวบรวมนักประดิษฐ์ผู้สร้างสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับชาวโลก ในช่วงปลายเดือน พ.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ จากผลงาน “ลูกบอลดับเพลิง ELIDE FIRE” ที่เขาคิดค้นขึ้น
ภณวัชร์นันท์เล่าต่อไปว่า หลังพ้นภาระทางทหาร ได้ออกไปทำงานเป็นเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (จป.) ให้กับทางบริษัทญี่ปุ่นในย่านนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กระทั่ง “วันที่ 11 ก.ค. 2540 เกิดไฟไหม้ที่โรงแรมรอยัล จอมเทียน รีสอร์ท เมืองพัทยา” เขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วย และสิ่งที่พบในวันนั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการหาทางป้องกันและลดผลกระทบจากอัคคีภัย
“ผมรู้สึกสลดใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากความผิดพลาดของพนักงานโรงแรมแล้ว ระบบการแจ้งเตือนเพลิงไหม้ก็ไม่ทำงาน ซึ่งกว่าเจ้าหน้าที่จะระงับเหตุได้ก็ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากและมีคนเสียชีวิตเกือบร่วมร้อยคน และสร้างบทเรียนให้กับทุกภาคส่วน ผมเองก็ได้แนวคิดว่า อยากจะประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อป้องกันและควบคุมปัญหาอัคคีภัยแบบอัตโนมัติเป็นอิสระไม่ต้องควบคุมโดยจะต้องตัดวงจรการลุกไหม้ ปฏิกิริยาลูกโซ่ของเพลิงให้ได้ก่อนและจะต้องใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว และผู้ใช้ไม่จำเป็นจะต้องผ่านการฝึกอบรม
ผมจึงคิดว่าลูกบอลน่าจะเป็นอะไรที่ทุกๆ คนคุ้นเคย ซึ่งถ้าย้ายเอาสารเคมีที่มีคุณภาพ น้ำหนักเบา เพื่อรบกวนลูกโซ่ของเพลิง และเพิ่มระบบตัดลูกโซ่ของเพลิงพร้อมกันจะทำให้เพลิงดับลงได้ และทำเป็นและการทำงานต้องเป็นอิสระไม่ต้องใช้พลังงานอื่นๆและใช้พลังงานของเปลวเพลิงอย่างเดียวและทำงานอัตโนมัติ มันน่าจะทำให้การดับเพลิงน่าจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะแค่กลิ้ง ปา ทอย และเฝ้าควบคุมเพลิงและดับเพลิงอัตโนมัติ ก็สามารถลดการสูญเสียจากเพลิงไหม้ได้ดี” เขากล่าว
เมื่อคิดได้ดังนั้น ชายหนุ่มตัดสินใจขายทรัพย์สินที่มีเพื่อนำเงินมาลงทุนเปิด “บริษัท สยามเซพตี้พรีเมียร์ จำกัด” ขึ้นในปี 2542 แต่กว่าจะมาเป็นลูกบอลดับเพลิงที่แพร่หลายไปทั่วขณะนี้ ต้องผ่าน “บททดสอบและคำสบประมาท” มาไม่น้อย “บางครั้งถึงขั้นขับไล่ไสส่งให้ไปพ้นๆ เลยทีเดียว” เมื่อจะขอนำผลงานไปเสนอ ซึ่งอาจเป็นเพราะความเป็น “นักประดิษฐ์จนๆ” ไม่มีห้องแล็บทันสมัยที่สถาบันวิชาการชั้นนำให้การสนับสนุนก็เป็นได้
แต่แล้วเหมือน “โชคจะเข้าข้าง” เสียที หลังจากเขาทดสอบผลงานในพื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองพัทยา ไม่นานก็มีชาวต่างชาติมาขอซื้อลูกบอลดับเพลิงไป 300 ลูก เพื่อส่งไปให้เพื่อนที่ประเทศสเปน และต่อมาก็ได้รับการติดต่อจากทีมงานของ “บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)” ที่ขณะนั้นกำลังทำรายการ“เกมส์แก้จน” ให้นำผลงานลูกบอลดับเพลิง ELIDE FIRE ไปทดสอบโชว์ในรายการ ซึ่งจะออกสู่สายตาคนไทยทั้งประเทศ
และนั่นกลายเป็น “จุดพลิกผัน” อีกครั้งในชีวิต ชื่อของ ภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ โด่งดังชั่วข้ามคืน และลูกบอลดับเพลิง ELIDE FIRE ก็ได้รับการติดต่อสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากจนผลิตแทบไม่ทัน อีกทั้งยังได้รับสารพัดรางวัล อาทิ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นรางวัลชมเชย จากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ปี 2544 , รางวัลสำหรับนักประดิษฐ์ยอดเยี่ยม เป็นเหรียญทอง จากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO),
เหรียญทองความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคนิคระดับสูงที่ดีเลิศ จากหน่วยงานรัฐบาลกลางทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของรัสเซีย (FASIRF) รางวัลเหรียญทองพร้อมถ้วย รางวัล เซมิแกรนด์ไพร์ส จากสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์เกาหลี (SIIF), รางวัลนักประดิษฐ์ที่ดีที่สุด ได้ถ้วยจากสมาคมนักประดิษฐ์แห่งสหพันธ์ระหว่างประเทศ (IFIA CUP) เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันลูกบอลดับเพลิง ELIDE FIRE มีจำหน่ายใน 90 ประเทศทั่วโลก
ภณวัชร์นันท์กล่าวว่า ทุกรางวัลที่ได้รับจากเวทีระหว่างประเทศถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย “ภูมิใจมากที่สุดคือสิ่งที่คิดออกมานั้นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ” ผ่านการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ หน่วยงานราชการได้ให้การยอมรับ “เรื่องนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน และนักประดิษฐ์ มีความหวัง มีอนาคตที่จะพัฒนาให้สิ่งประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมขายมีตลาดที่ขายได้” มีธุรกิจเป็นของตนเองทำให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น และยังพัฒนาต่อยอดไปส่งออกไปขายในตลาดโลกได้ดีอีกด้วย
“เราทุกคนมีจินตนาการ แต่คุณต้องนำจินตนาการมาประยุกต์กับความรู้และประสบการณ์ ที่เรียนรู้ว่ากับการใช้ชีวิตจริงมาสร้างจิตนาการณ์ ด้วยลงมือทำให้สำเร็จ ด้วยความอดทนของคุณเสียก่อน เมื่อนั้นความฝันคุณจะเป็นจริง เมื่อจินตนาการ ให้ลงมือทำทันที ถ้าไม่ลงมือทำทุกอย่างจะไม่เป็นความจริง และอย่าเสียใจกับความผิดพลาด เพราะความผิดพลาด มีความฉลาดที่อยู่ในนั้น
ขอให้จดจำความผิดพลาดไว้และลงมือทำในครั้งต่อไปและค่อยๆ คิดค้นหา ความผิดพลาด เมื่อถึงเวลานั้น ผมเชื่อมั่นว่าคุณจะพบความสำเร็จซึ่งอยู่ในความผิดพลาดเหล่านั้น ที่สำคัญคือความอดทน เพราะความอดทนเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นอัจฉริยะ หากคุณขาดความอดทนความล้มเหลวจะตามมาทันที”ภณวัชร์นันท์ ฝากทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี