การตายแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.กาลมรณะ หมายความว่า ถึงเวลาที่จะต้องตาย 2.อกาลมรณะ หมายความว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตาย ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ความตายนั้นเมื่อถึงเวลา หรือถึงที่แล้วจึงจะตายลง และเมื่อยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงที่แล้วตายลงก็มี
คำว่า มรณุปปัตติ แยกศัพท์ออกเป็น 2 ประการ มรณะ แปลว่า ตาย, อุปปัตติ แปลว่า เกิด, เกิด ตาย เกิด ดับ หมายถึง ความตายและความเกิดขึ้น
มรณุปปัตตินั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ 4 ประการ ได้แก่ อยุกขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นอายุ, กัมมักขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นกรรม, อุภยักขยะ หมายถึง ตายโดยสิ้นอายุและกรรม และอุปัจเฉทกมรณะ หมายถึง ตายโดยอุบัติเหตุต่างๆ มาตัดรอน คือยังไม่สิ้นอายุ อาจเป็นตกต้นไม้ตาย หรือโดยฆ่าตาย คือยังไม่สิ้นอายุและยังไม่สิ้นกรรม มาจากเวรกรรมจะต้องโดนรถชนตาย โดยฆ่าตาย เป็นต้น
1. อยุกขยะ ตายโดยสิ้นอายุ ข้อนี้สัตว์ทั้งหลายต้องตายโดนสิ้นอายุ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมมีชีวิตอยู่ภายในในขอบเขตของอายุขัย เช่น เต่ามีอายุ 130 ปี ช้างมีอายุ 300 ปี ยุงมีอายุไม่เกิน 15 วัน มนุษย์ในปัจจุบันนี้มีอายุเพียง 75 ปีเท่านั้น แม้จะมีผู้มีอายุสูงกวา 75 ปีบ้างก็มีเพียงเล็กน้อย การที่โลกในปัจจุบันค้นคว้าในเรื่องสรีระของมนุษย์จนมีความรู้ละเอียด ค้นคว้าในเรื่องอาหารและยา เพื่อประสงค์จะให้มนุษย์ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียนและมีอายุยืนยาวนั้น ถึงจะค้นคว้ากันต่อไปสักเพียงใด วิทยาศาสตร์การแพทย์จะเจริญก้าวหน้าสักเพียงไหน ก็เป็นการช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการมีอายุยืนหรืออายุสั้น มิได้มีเหตุเพียงในด้านวัตถุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่นที่สำคัญมากอีกหลายประการ
2. กัมมักขยะ ตายโดยสิ้นกรรม ข้อนี้หมายถึงการที่สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาและเป็นไปนั้น อาศัยกำลังของกรรมที่หล่อเลี้ยงอยู่หรือสนับสนุนให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างไร อาตมาจะให้เหตุผลข้อเท็จจริงต่อไปในภายหลัง การที่จะต้องกล่าวถึงกรรมก็เพราะว่าเกี่ยวพันไปถึงความตาย
3. อุภยักขยะ ตายโดยสิ้นอายุและสิ้นกรรม ความตายที่เกิดขึ้นเพราะสิ้นอายุนั้น หมายถึงแก่เฒ่าอายุมากแล้ว ร่างกายก็หมดกำลังที่จะอยู่ต่อไปได้ ทั้งกรรมที่สนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่ก็หมดลงด้วย บุคคลจึงมักจะถึงความตายด้วยเหตุผลทั้งสองดังกล่าวแล้ว
4. อุปัจเฉทมรณะ หมายถึงตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ มาตัดรอน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงอายุขัย และยังไม่สิ้นกรรม เช่น ตกต้นไม้ตาย หรือถูกรถทับตาย ความตายในข้อนี้เป็นความตายโดยเหตุต่าง ๆ อันเป็นปัจจุบัน มิได้สิ้นอายุ หรือมิได้มีกรรมแต่อดีตมาตัดรอน แต่อาศัยกรรมแต่อดีตเป็นแรงส่ง เช่น กรรมแต่อดีตเป็นตัวส่งให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ แล้วไปติดโรคระบาดตายในเรือนจำ เป็นต้น
เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับความตายทั้ง 4 ประการนี้ ท่านได้เปรียบไว้กับดวงประทีปที่ใช้น้ำมันคือ ชีวิตทั้งหลายเปรียบเหมือนประทีปหรือโคมไฟที่อาศัยน้ำมัน ธรรมดาโคมที่อาศัยน้ำมัน จะดับได้ด้วยเหตุสี่ประการคือ
1. เพราะเหตุที่หมดน้ำมัน เมื่อโคมไฟหมดน้ำมันไฟก็ดับ ข้อนี้หมายถึงชีวิตทั้งหลายจะถึงแก่ความตายเมื่อสิ้นอายุ
2. เพราะเหตุที่หมดไส้ เมื่อโคมไฟหมดไส้ไฟก็ดับ หมายถึง ชีวิตทั้งหลายเมื่อสิ้นกำลังของกรรมที่สนับสนุนให้ชีวิตคงอยู่แล้ว ก็จะถึงแก่ความตายได้
3. เพราะเหตุที่หมดน้ำมันและหมดไส้ เมื่อโคมไฟหมดทั้งน้ำมันและหมดทั้งไส้ หมายถึงชีวิตทั้งหลายต้องสิ้นชีวิตไปเพราะหมดอายุและกำลังของกรรม
4. เพราะเหตุที่มีอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อโคมไฟถูกลมพัด หมายถึงยามเมื่อยังไม่สิ้นอายุและยังไม่สิ้นกรรม แต่ต้องตายด้วยอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
สำหรับข้อหนึ่ง ข้อสอง และข้อสาม ตายเพราะถึงเวลาที่จะต้องตายแล้ว สำหรับในข้อสี่ ตายเมื่อยังไม่ถึงคราวที่จะต้องตาย แต่ก็ต้องตาย เพราะเหตุในปัจจุบันทุกวันนี้ ซึ่งตายไม่เหมือนกัน บางคนเกิดอุบัติเหตุ บางคนผูกคอตาย บางคนถูกยิงตาย ทำไมต้องผูกคอตาย ทำไมต้องถูกยิงตาย ทำไมต้องฆ่าตัวตายด้วย ด้วยเหตุผลประการใด ทุกคนไม่ทราบ ข้อเท็จจริงมันเกิดอุบัติเหตุ
ยกตัวอย่างอาตมานี้ตายไปแล้ว อาตมารู้ล่วงหน้า 6 เดือนว่า คอจะหัก รถจะทับ เมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2521 เวลา 12.45 น.รถจะชนที่หลังตลาดปากบาง สิงห์บุรี รถชนคอหัก รู้ล่วงหน้า 6 เดือน มีเวลาเตรียมตัวไป นี่คือเตรียมตัวก่อนตาย
ท่านทั้งหลายเอ๋ยจะรู้หรือไม่ว่า พรุ่งนี้รถจะชน หัวจะแตก ถ้าท่านขาดสติ ไม่สะสมหน่วยกิตไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ท่านจะไม่รู้อะไรเลยนะ ไม่มีความเข้าใจด้วย เพราะว่าจิตใจของเราเป็นธรรมชาติ ต้องคิดอ่านอารมณ์ รับรู้อารมณ์ไว้ได้นานเหมือนเทปบันทึกเสียง ไม่มีตัวตนที่จะคลำได้ ถ้าท่านไม่ใช้หลักพระพุทธศาสนาหรือคุณธรรมที่ประจำตัวแล้ว จะไม่มีความรู้ความเข้าใจอันนี้แน่นอน
คัดลอกจาก : หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 12 พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี