“ช็อก” กันไปทั้งวงการสื่อสารมวลชนเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา หลังมีข่าว“7 ช่องทีวีดิจิตอลขอยุติการออกอากาศ” โดยคืนใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับทาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินไม่สามารถไปต่อได้ “ส่งผลให้มีพนักงานถูกเลิกจ้างกว่าพันคน” ถึงขนาดที่ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยังแสดงความเป็นห่วงและกำชับว่า ขอให้ชดเชยพนักงานมากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด
เป็นที่ทราบกันดีว่า “สื่อหลักมีผู้บริโภคลดลง” ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุรวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทำให้ “ผู้คนหันไปรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น” เกิดเนื้อหาและผู้ผลิตหน้าใหม่ที่ไม่ได้พึ่งพิงช่องทางเผยแพร่ดั้งเดิม จนมีคำพูดเชิงประชดประชันว่า “สื่อหลักกำลังจะตายแล้ว” เพราะเมื่อผู้บริโภคย้ายจากไป เม็ดเงินรายได้จากโฆษณาก็หายไปด้วย
ที่งานเสวนา “ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิตอล” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี และผู้อำนวยการโครงการ CU Transformation กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ๆในปัจจุบัน จนไปถึงยุคของ “5จี (5G)” ที่กำลังเข้ามา ทำให้ประชาชนเข้าถึงสื่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งกระทบต่อการรับชมสื่อโทรทัศน์ที่ผ่านผังรายการในรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน อีกทั้งการหลอมรวมสื่อทำให้การแบ่งแยกกำกับดูแลระหว่าง การแพร่ภาพและกระจายเสียง กับการโทรคมนาคม เป็นสิ่งที่ไปเสถียรในปัจจุบันและอนาคต
“คนรุ่นใหม่ดูโทรทัศน์น้อยลงเพราะมีเนื้อหาและรูปแบบที่ยืดหยุ่นมารองรับ แต่ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ปรับตัวช้า โดยเฉพาะในมุมของทางธุรกิจ (Business model) และการกำกับดูแล ส่วนของ กสทช. ก็ไม่สามารถเอื้อต่อการปรับตัวครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการอยู่รอดของทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน”ที่ปรึกษาอธิการบดี และผู้อำนวยการโครงการCU Transformation กล่าว
สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำยังทำให้อำนาจในการผลิตสื่ออยู่ที่ประชาชนหรือผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในราคาสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการทำทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี อีกทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีใหม่เกิดสารพัด อาทิ เทคโนโลยี 4จี (4G)ที่เข้าถึงประชากรร้อยละ 90 ทำให้สามารถรับชมรายการต่างๆ ผ่านออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
“การคืนใบอนุญาต 7 ช่อง อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลยังไม่หมดห่วง เพราะเทคโนโลยียังเป็นตัวแปรกระทบธุรกิจ เช่น ปัญญาประดิษฐ์(AI)ที่จะช่วยเก็บข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภค และหารายได้โฆษณา โดยไม่ต้องรอการสุ่มสำรวจเรตติ้ง (Rating) เทคโนโลยี 5G จะเอื้อให้ภาพมีความคมชัดมากขึ้น การส่งข้อมูลเร็วขึ้น นำเสนอเนื้อหาเป็นภาพเสมือนจริง (VR) มากขึ้น” สุพจน์ ระบุ
ขณะที่ พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และรองกรรมการผู้จัดการช่องสปริง 26 ซึ่งเป็น 1 ในช่องที่ขอคืนใบอนุญาต กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลแข่งขันลำบาก เนื่องจากต้นทุนคงที่จากค่าใบอนุญาตและค่าโครงข่าย (MUX) มีสัดส่วน
เกินร้อยละ 30 “เมื่อองค์กรลดต้นทุนไม่ได้ การหั่นต้นทุนแรกจึงเป็นด้านพนักงานและเนื้อหาซึ่งเป็นสินทรัพย์หลัก” ทำให้รายการที่นำเสนอไม่มีคุณภาพมากนัก
“เป็นไปไม่ได้ที่รายการคุณภาพดีจะมาจากต้นทุนที่ต่ำ และหากลดต้นทุนอะไรไม่ได้ก็ลดต้นทุนรายการข่าวก่อนเลย นี่คือสิ่งที่ธุรกิจสื่อเผชิญมาตลอด ซึ่งหลังทีวีดิจิตอล 7 ช่องคืนใบอนุญาต จำนวนช่องที่เหลือจะเดินต่อควรจะต้องพัฒนาช่องทางออนไลน์เพื่อมาเสริมทัพกับจอหลักอย่างทีวี และบริหารความพอดีของเนื้อหาเพื่อตรึงคนดู เพราะหากคนดูย้ายช่องแล้ว ยากที่จะดึงกลับมาคืนได้” พีระวัฒน์ กล่าว
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยังกล่าวอีกว่า “ผู้ประกอบการไม่ควรยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ” เพราะพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนเร็ว
เห็นได้ชัดคือช่องหลักบางช่องเสนอละครที่เป็นภาค 2 แต่ผลตอบรับจากคนดูต่ำกว่าสมัยที่ออกอากาศภาคแรก สะท้อนว่าการพึ่งพาความสำเร็จเก่าๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และย้ำว่า “ทีวีดิจิตอลเพิ่งเจอสึนามิลูกแรก” และที่เหลืออีก 15 ช่องยังมีต้นทุนเดิมบวกการแข่งขันสูงต่อไป
ทางด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า “ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมวิชาชีพสื่อได้ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศจะสนับสนุนบุคลากรในการทำงานด้านสื่อเป็นอย่างมาก ทั้งในรูปแบบการศึกษาดูงาน หรือการอบรมต่างๆ” ถ้าหากบุคลากรเหล่านี้ขาดการสนับสนุน อุตสาหกรรมด้านสื่อจะไม่เติบโต จนทำให้เกิดวิกฤติ เรื่องนี้ทาง กสทช. มีส่วนต้องรับผิดชอบเช่นกัน แต่
เมื่อมีคำสั่งมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาช่วยรับผิดชอบให้ จึงทำให้เกิดการเยียวยาและการคืนช่องอย่างในปัจจุบัน
แต่ถึงจะเยียวยาและคืนช่องไปแล้วใช่ว่าปัญหาจะคลี่คลาย อดีต กสทช. ผู้นี้ ชี้ว่า “การปฏิรูปสื่อในประเทศไทย จะไม่มีความก้าวหน้า
หากยังเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากกว่า” อาทิเงินที่ กสทช. เยียวยาผู้ประกอบการก็ไม่แน่ใจว่าจะถึงมือพนักงานมากน้อยเพียงใด เพราะการที่กสทช. อุ้มกิจการทีวีดิจิตอลครั้งนี้ไม่ได้มีข้อบังคับผู้ประกอบการ (TOR) ว่าจะเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการเยียวยาหรือไม่
ขณะเดียวกัน “กลุ่มทีวีดิจิตอลที่ดำเนินกิจการต่อ เมื่อมีการเปิดให้ซื้อขายเปลี่ยนมือก็ไม่มีข้อกำหนดว่าจะทำให้สาธารณประโยชน์ จึงเห็นการขายตรงบนทีวีในปัจจุบัน” นอกจากนี้ “เมื่อ คสช. ออก ม.44 มาอุ้ม คนทำสื่อโทรทัศน์จะมองว่าเป็นบุญคุณหรือไม่” เพราะว่า คสช.เป็นผู้ออกมาตรการเยียวยาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ “เมื่อเวลานำเสนอข่าวจะเกิดความเกรงใจขึ้นหรือเปล่า” เป็นต้น
“แนวทางการแก้ปัญหาคือ ปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐบาล กสทช. รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม แล้วนำงบสนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมผู้จัดรายการการในประเทศร่วมทุนผลิตรายการเพื่อขายในต่างประเทศ เพราะถ้าไม่ปรับตัวในเรื่องนี้ อนาคตของทีวีดิจิตอลก็จะไม่มีทางรอด”อดีต กสทช. ฝากทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี