ประเทศไทย..แม้จะยังไม่เข้าข่าย “ประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country)” แต่ก็ถูกเรียกว่าเป็น “ประเทศกำลังพัฒนารายได้สูง (High income developing country)” มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากพอสมควรโดยเฉพาะหากเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทำให้ดึงดูดประชากรจากต่างแดนเข้ามาแสวงหาโอกาสด้วยการเข้ามาเป็นแรงงาน
รายงาน สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนธันวาคม 2561 จัดทำโดยกรมการจัดหางาน ระบุว่า ณ สิ้นปี 2561 มีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย 3,315,714 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติคือ เมียนมา (พม่า) ลาวและกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีจากเพื่อนบ้านร่วมอาเซียนอย่างเวียดนาม แน่นอนว่าย่อมมี “ผู้ติดตาม” ที่หมายถึงบุตรหลานเข้ามาอยู่ร่วมด้วย
และเนื่องจากประเทศไทยนั้นร่วมรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC)” ซึ่งใน “ข้อ 28 (ข้อย่อย 1)”กำหนดให้รัฐภาคีต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสัญชาติของรัฐนั้นๆ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จนเป็นที่มาของ “มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. .... (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย)” ณ วันที่ 5 ก.ค. 2548
จากกติกาสากลและมติคณะรัฐมนตรีของไทย ด้านหนึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติด้านการจัดการศึกษาที่คุ้มครองเด็กทุกคนเสมอหน้ากัน แต่อีกด้านหนึ่งบางส่วนก็กังวลทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ “ลำพังเด็กไทยด้อยโอกาสยังมีอีกมาก เราอาจไม่พร้อมไปช่วยเด็กต่างด้าวหรือเปล่า?” หรือมองว่าการให้เรียนสูงๆ จนบางครั้งพบว่า “เด็กไร้สัญชาติหรือลูกหลานแรงงานต่างด้าวเรียนเก่งและสอบได้คะแนนดีกว่าเด็กไทย” ทำให้มองว่า “จะมาแย่งงานคนไทยในอนาคตหรือไม่?” เป็นต้น
เกียรติกูล เหล่ากอดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิริมงคล ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อันเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของไทย กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งนักเรียนร้อยละ 90 เป็นเด็กไร้สัญชาติหรือสัญชาติอื่น ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นเด็กไทย“ยึดหลักเด็กทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน” โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย “แม้กระทั่งเด็กที่ไม่มีเอกสารก็ให้เรียนไปก่อน” แล้วทางโรงเรียนจะช่วยเดินเรื่องเอกสารต่างๆ ตามไปทีหลัง
“ต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและมองในมุมการศึกษาใหม่ โดยเราจะปรับทัศนคติของครูในโรงเรียนว่าถ้าเราปล่อยเด็กกลุ่มนี้ไป เลือกแต่เด็กเรา ให้ความสำคัญแต่กับเด็กเรา เด็กกลุ่มนี้จะไม่มีใครคอยตักเตือนเมื่อเขาทำผิด และอาจก่อให้เด็กไปทำสิ่งผิดๆ ในอนาคต เช่น ก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้ นั่นก็เพราะเราผิดที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีพอ” ผอ.รร.วัดศิริมงคล กล่าว
เช่นเดียวกับที่ จ.ระนอง ที่นี่อยู่ติดกับประเทศเมียนมา จึงมีชาวเมียนมาเดินทางข้ามมาทำงานในฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นายณัฏฐวัฒน์ คลายทุกข์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีระนอง เปิดเผยว่า ในโรงเรียนจะมีเด็กไร้สัญชาติและสัญชาติอื่นเกือบร้อยละ 5 ส่วนเด็กไทยร้อยละ 95 “นอกจากไม่แบ่งแยกสัญชาติแล้ว ยังส่งเสริมความสามารถแต่ละด้านของเด็กแต่ละคนอย่างเต็มที่” จัดงบประมาณดูแลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรมหรือวิชาการ ทั้งนี้ การพบเด็กที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมีความรับผิดชอบมากกว่า มองว่าอาจเป็นเพราะต้องดิ้นรนมากกว่าเด็กไทยที่พร้อมอยู่แล้วก็ได้
“การแก้ไขปัญหาในเด็ก ทางโรงเรียนมีนโยบายครูประจำชั้นเยี่ยมบ้าน ที่จะคอยเป็นหูเป็นตาและจะรู้ความเป็นอยู่ของเด็กในความปกครองทุกคน จะรู้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาทางบ้าน ปัญหาตัวเด็ก หรือแม้แต่ปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะเด็กไร้สัญชาติ ที่เรียนจบ ม.6 และคิดจะต่อมหาวิทยาลัยแต่บางสาขาเขาไม่สามารถเรียนต่อได้ เช่น ครู หมอ เราก็จะเป็นที่ปรึกษาแนะนำในด้านอื่นๆ เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองหากไม่ได้เรียนคณะที่ตั้งใจและหาตัวเองให้เจอว่าหากไม่ได้เรียนต่อแล้วเขาถนัดอะไร เพื่อให้เขาใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างรู้คุณค่า”
ณัฏฐวัฒน์ ระบุ
อนึ่ง..ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้พูดคุยกับ “น้องพลอย” ยลฤดี ปิยะทัต เด็กสาวที่อาศัยใน จ.ระนอง ซึ่งเกือบจะไม่ได้ไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ “Genius Olympiad” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา “การไม่มีสัญชาติทำให้ทางการสหรัฐไม่อนุมัติวีซ่าเข้าประเทศ” กระทั่งต่อมาทางจังหวัดและกรมการปกครองได้เข้ามาช่วยเหลือจนได้สัญชาติไทยเมื่อเร็วๆนี้ เธอเล่าว่าพ่อแม่เป็นชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงได้เรียนหนังสือในประเทศไทย โดยทางโรงเรียนให้การส่งเสริม อาทิ ได้รับการชักชวนจากอาจารย์ให้ไปช่วยนำเสนอโครงงานของภาควิชาภาษาอังกฤษ
“ตอนแรกที่ไปแข่งกับครูไหว กัลยภัทร ท่านเห็นแววด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ และการที่ได้ไปแข่งต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ทันได้คาดคิด เพราะคิดว่าแข่งที่ไทยแล้วจบ ทางโรงเรียนก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการฝึกซ้อมและการผลักดันให้มีสัญชาติ ทำให้รู้สึกมีความหวังมากขึ้น จึงต้องทำให้เต็มที่ ให้สมกับที่ทุกคนช่วยเหลือและให้การสนับสนุน” น้องพลอย กล่าว
ด้าน เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยได้สิทธิเรียนในประเทศไทยว่า “เรื่องนี้อย่าไปมองคนต่างด้าวได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว สังคมไทยก็ได้ประโยชน์ด้วย” ไล่ตั้งแต่ “ลดปัญหาสังคม” หากปล่อยให้มีเด็กคนใดไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ค้ามนุษย์หรือยาเสพติด ในทางกลับกันเมื่อเด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาเต็มที่ ก็จะมีอาชีพสุจริตและมีรายได้ อีกทั้งต้องเสียภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมตามเกณฑ์ของกฎหมายด้วย
“ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และแม้ท้ายที่สุดเขาจะกลับไปประเทศของเขา แต่เขาย่อมจะผูกพันกับประเทศไทย เราเคยไปหมู่บ้านในเมืองทวาย (เมียนมา) พอคนที่นั่นรู้ว่าเราเป็นคนไทยเขาก็เข้ามาทักทาย บอกว่าเคยมาทำงานในประเทศไทยแล้วลูกหลานก็ได้เรียนหนังสือในประเทศไทย เขาจึงรักประเทศไทย อันนี้มันเป็นคุณค่าที่มากกว่าเงินที่ลงทุนไป เพราะทำให้เขาคิดถึงเมืองไทยในเชิงบวก” กสม. เตือนใจ กล่าวในท้ายที่สุด
บุษยมาศ ซองรัมย์
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี