เมื่อวันที่ 30มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ นายไพฑูรย์ พินิจทรัพย์ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 278 หมู่ 1 ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ กำลังนั่งอยู่หน้าเครื่องปั้นดินเผา เพื่อปั้นภาชนะเครื่องใช้ขนาดเล็กจำนวนมากวางอยู่เรียงรายรอให้แห้งก่อนที่จะนำไปเข้าเตาเผา
นายไพฑูรย์ เล่าให้ฟังว่า บ้านช่างปี่ หรือเมืองเจียงแป็ย เป็นหมู่บ้านที่เคยเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีปราสาทช่างปี่ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอโรคยาสาร (โรงพยาบาล) สำหรับรักษาคนไข้โดยใช้ตำรับยาสมุนไพรแบบโบราณ ใช้เครื่องปั้นดินเผารูปทรงต่างๆมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รูปร่างแตกต่างกันออกไปใช้สำหรับบรรจุยาขนานต่างๆเพื่อใช้รักษาคนไข้ ในสมัยนั้นมีช่างปั้นดินเผาชื่อตาแป็ยหรือตาปี่ เป็นช่างปั้นดินเผามือเอก จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ตามชื่อช่างปั้นดินเผา
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าก็เริ่มจางหายไป จนกระทั่งเมื่อปี 2560 ได้มีโครงการพัฒนาท้องถิ่นของกรมพัฒนาชุมชนลงมาที่พื้นที่ตำบลช่างปี่ จึงได้มีการรื้อฟื้นเรื่องราวของเครื่องปั้นดินเผาบ้านช่างปี่ เนื่องจากว่าชาวบ้านในบ้านช่างปี่ได้มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากจากการไถนาบ้าง ปรับที่ดินเพื่อสร้างบ้านบ้าง และได้เครื่องปั้นดินเผาที่มีความสมบูรณ์มาก เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านช่างปี่คือเครื่องปั้นดินเผารูปช้าง คือมีการปั้นภาชนะรูปทรงต่างๆแล้วก็ปั้นเป็นหังช้างมาแปะติดกับภาชนะนั้นๆ
ชาวตำบลช่างปี่เห็นว่าเป็นศิลปะโบราณที่มีคุณค่ามากควรจะรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาและสืบทอดต่อและได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านช่างปี่และนำเครื่องปั้นดินเผาที่ชาวบ้านขุดได้ นำไปรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพื่อให้ลูกหลานได้มาศึกษาการรื้อฟื้นภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นมาในครั้งนี้ได้มีการใช้ภูมิปัญญาสมัยเก่าบวกกับเครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยอาจารย์จากจังหวัดเชียงใหม่ มาช่วยสอนให้ชาวบ้าน ในระยะแรกก็ใช้ดินจากเชียงใหม่มาใช้ปั้น เนื่องจากดินแถวบ้านช่างปี่ไม่เหมาะกับการนำมาปั้น แต่พ่อไพฑูรย์ก็ไม่ย่อท้อ พยายามค้นหาดินในพื้นที่บ้านช่างปี่มาทดลองปั้นอยู่หลายครั้ง ด้วยมีความเชื่อว่าสมัยบรรพบุรุษสามารถปั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพได้ แสดงว่าดินแถวนี้ต้องมีดินที่สามารถปั้นได้ เพราะคนสมัยก่อนคงไม่มีรถไปเอาดินถึงเชียงใหม่ จนกระทั่ง เมื่อ2-3 วันที่ผ่านมา นายไพฑูรย์ได้ทดลองนำดินจอมปลวกที่อยู่ในบริเวณบ้านของตนมาทดลองทุบให้แหลก นำมาร่อน และหมักดินเพื่อนำมาขึ้นรูป พบว่าดินจอมปลวกนี้สามารถปั้นได้เหมือนดินจากเชียงใหม่
เครื่องปั้นดินเผาบ้านช่างปี่ ที่ทำส่วนใหญ่ลอกแบบมาจากช่างปั้นดินเผาในสมัยโบราณที่มีเอกลักษณ์คือภาชนะที่มีรูปหัวช้างและมีขนาดเล็ก โดยใช้เครื่องช่วยขึ้นรูป ให้ได้รูปทรงที่ต้องการปล่อยไว้ให้แห้ง แล้วจึงนำไปเข้าเตาเผาที่ใช้ฟืนเผา ด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 วัน ก็จะได้เครื่องปั้นดินเผาที่สวยงาม ที่มีราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคณะทัวร์ที่มาเที่ยวปราสาทช่างปี่และพิพิธภัณฑ์บ้านช่างปี่ ได้ทราบที่มาของเครื่องปั้นดินเผาก็ซื้อเป็นของฝากและของที่ระลึกกลับไป
นอกจากนี้ก็นำไปโชว์และขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆที่ทางอำเภอและจังหวัดจัดขึ้น ทำให้มีรายได้สู่ชุมชนด้วย ใครที่มีความสนใจที่จะมาศึกษาประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาบ้านช่างปี่และอุดหนุนสินค้าสามารถมาได้ที่ศูนย์เครื่องปั้นดินเผาบ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณพ่อไพฑูรย์ พินิจทรัพย์ เบอร์โทรศัพท์ 093-5658835 หรือใครที่อยากมาเรียนวิชาเครื่องปั้นดินเผา ก็คิดค่าสอนคนละ 1,000 บาท ไม่จำกัดเวลา สอนจนกว่าจะปั้นเป็น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี