หากย้อนไปเมื่อทศวรรษ 1990 (ปี 2533-2542) ที่ “อินเตอร์เนต” เพิ่งเริ่มแพร่หลาย ในเวลานั้นใครต่อใครต่างคิดว่า “เทคโนโลยีใหม่ที่เชื่อมโลกเข้าหากันนี้จะทำให้ผู้คนเข้าใจกันมากขึ้น” แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปราว 2 ทศวรรษ ในยุคปัจจุบันที่อินเตอร์เนตเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและกว้างขวางจริงๆ กลับมีเสียงครวญ “ทำไมโลกมันช่างวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมอย่างนี้” จากบรรดาสิ่งที่เรียกว่า “ดราม่า” หรือการแบ่งข้างแบ่งฝ่ายทะเลาะกันผ่านโลกออนไลน์ชนิดที่ “เรื่องอะไรก็เป็นประเด็นได้” ไม่ว่าในยุคก่อนหน้านั้นเรื่องดังกล่าวจะดูเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
“มากกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างเวลารับข่าวสารจากสื่อออนไลน์มักอ่านแล้วเชื่อทันที และส่วนใหญ่ก็พร้อมจะตัดสินคนอื่นในทันทีจากมาตรฐานถูกผิดของตนเอง มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นก่อนจะทำการตัดสินหรือแสดงความคิดเห็น” เป็นข้อค้นพบของ ผศ.ดร.ศิรประภาชวะนะญาณ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาในประเด็นการพิจารณาข้อขัดแย้งของคนไทยในเว็บสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสำรวจ รวบรวม อันนำไปสู่ความเข้าใจความขัดแย้งที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA หรือ สพธอ.) เคยรวบรวมพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารทางอินเตอร์ของคนไทย
ในปี 2561 แล้วพบว่า “คนไทยใช้อินเตอร์เนตยาวนานถึง 10 ชั่วโมง 5 นาที และส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook,Instagram, Twitter รวมไปถึงเว็บบอร์ดอย่าง Pantip สูงถึง 3 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน นับได้ว่าเป็นหนึ่งในชนชาติที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเตอร์เนตมากที่สุดในโลก” จึงไม่ต้องแปลกที่สังคมไทยจะเกิดสารพัดความขัดแย้งบนโลกออนไลน์อย่างที่เห็นกันจนชิน
อาจารย์ศิรประภา กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยอยู่ในวงล้อมของข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม และระเบียบวินัยในเว็บสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน” ขณะที่เหตุการณ์จำนวนมาก ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของการฆาตกรรม คอร์รัปชั่น ความเท่าเทียมทางเพศ หรือรูปแบบการปกครองประเทศ ประกอบกับปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์คือช่องทางหลักในการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของสังคม ซึ่งหลายครั้งผู้ใช้งานก็ไม่ได้รับข่าวสารแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผู้ตัดสินด้วยข้อคิดเห็นกันอย่างสนุกปาก
“ความเสรีโดยไม่ต้องมีตัวตนที่ชัดเจนในสื่อออนไลน์หลายเกือบทุกครั้งจึงนำมาซึ่ง “สงครามน้ำลาย” ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และการใส่ร้ายป้ายสีกันไปมาได้ในทุกหัวข้อสนทนา เลยเถิดไปจนถึงการด่าทอกันมากกว่าจะเป็นการแสดงออกทางความคิดบนฐานของเหตุผล จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการคิดเห็นไม่ตรงกัน กระทั่งนำไปสู่การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ตลอดเวลา” อาจารย์ศิรประภา ระบุ
นักวิชาการผู้นี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนมาจากความเชื่อ 2 เรื่องคือ 1.จริยศาสตร์ หมายถึงความเชื่อเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินเชิงคุณค่า มาตรฐานความดี การกระทำที่ดี และ 2.ญาณวิทยา หมายถึง ความเชื่อเกี่ยวกับเกณฑ์ตัดสินความรู้ เกณฑ์การตัดสินแหล่งที่มาของความรู้ และเกณฑ์การตัดสินเหตุอันควรให้เชื่อของความรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งสองส่วนนี้ส่งผลต่อการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง
บวกกับ “ลักษณะของสังคมออนไลน์ที่หลายแห่งเป็น “AnonymousSociety” คือไม่มีการบ่งบอกได้ว่าแต่ละบุคคลเป็นใคร” จึงอาจทำให้ความขัดแย้งทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยค่อนข้างรุนแรง “เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นเชิงตัดสิน เราจะเห็นพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับมาตรฐานความดี-ชั่ว ของแต่ละคนต่างกันไป” และหากเกิดความขัดแย้ง แต่ละคนใช้อะไรในการสนับสนุนความคิดของตัวเอง เช่น คำบอกเล่าของผู้อื่น ประสบการณ์ตรง หรือความรู้อันเป็นตำรา ซึ่งแต่ละคนก็จะให้ลำดับความสำคัญของส่วนนี้ต่างกัน
บทสรุปจากการศึกษาในเรื่องนี้อาจารย์ศิรประภา กล่าวว่า พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์คงไม่ต่างอะไรกับสภากาแฟแถวบ้านที่สมาชิกต่างมาสนทนา วิจารณ์ข่าวสารที่ได้รู้มา “หนึ่งบทบาทที่ผู้ใช้อินเตอร์เนตต่างสวมอยู่โดยอาจไม่รู้ตัวก็คือการเป็น “ลูกขุนออนไลน์”ชี้ถูกผิดเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเมามัน” แต่การถกเถียงที่นำไปสู่การตัดสินอย่างสร้างสรรค์ ไม่นำไปสู่กระบวนการ “ล่าแม่มด” ดังปรากฏในโลกออนไลน์ คือ “การเปิดใจ” ที่จะยอมรับความต่างทางความคิดของผู้อื่น
รวมถึง “การตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อของตนเอง” จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีสติ ไม่กลายเป็นเหล่าลูกขุนออนไลน์ที่ชี้ผู้อื่นถูกผิดด้วยอีโก้ซึ่งมักคิดว่าตัวเองถูกเสมอ มั่นใจและเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ทั้งนี้สังคมออนไลน์จัดเป็นแหล่งความรู้ที่ดีแหล่งหนึ่ง หลายคนเข้ามาแล้วได้ความรู้ใหม่ ซึ่งทุกประเด็นที่เกิดการถกเถียงได้ถือเป็นเรื่องดี แต่นั่นต้องขึ้นอยู่บนฐานความรู้ที่ถูกต้องและแย้งกันด้วยข้อมูล
“หากมองกันอย่างเปิดตาและเปิดใจ จะเห็นว่าการถกเถียงบนโลกออนไลน์คล้ายแผ่นงานศิลปะที่ทำให้เรามองเห็นแถบสีของความคิดความต่างของแต่ละบุคคล การมองเห็นตัวเองว่ามีพื้นฐานความเชื่อที่ทำให้แสดงความคิดบนโลกออนไลน์อย่างไรพื้นฐานความเชื่อนั้นมีความต่างจากคนอื่นด้วยเหตุใด อาจช่วยลดอีโก้ (Ego-อัตตา)ของตัวเองให้น้อยลง และเปิดรับความเห็นต่างได้มากขึ้น” อาจารย์ศิรประภากล่าวทิ้งท้าย
การถกเถียงนั้นหากมองในแง่ดีย่อมจะนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดที่จะเป็นประโยชน์ให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งลดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนไทยด้วยกันเอง และเป็นแนวทางที่ช่วยให้คนไทยสามารถตั้งรับกับสภาพสังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและมีความแตกต่างขัดแย้งทางความเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่จะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่? ก็อยู่ที่บรรดา “ชาวเนต” ทั้งหลายด้วย
ว่าจะยอม “ลดความ ‘ยึดมั่น-ถือมั่น’ หลักคิดในอุดมคติของตนเองให้น้อยลง...แล้วหันมา “เข้าใจ-เห็นใจ”ผู้อื่นที่เติบโตมาในบริบทซึ่งแตกต่างออกไปให้มากขึ้น” กันหรือเปล่า? หาไม่แล้วโลกออนไลน์คงไม่อาจหลุดพ้นจากคำว่า “สังคมอุดมดราม่า” อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้!!!
หมายเหตุ : ขอบคุณต้นเรื่องจากทีมสื่อสาร “Research Café” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ในปี 2554 เอลี ปารีเซอร์ (Eli Pariser) นักคิดและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “ฟิลเตอร์ บับเบิล (Filter Bubble)” หมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อ “คัดกรองเนื้อหาที่สอดคล้องกับจริตความเชื่อของผู้ใช้งานสื่อออนไลน์แต่ละคน” โดยโปรแกรมนี้สามารถพบได้ทั่วไปทั้งบนเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (Search Engine) ยอดนิยมอย่างกูเกิล (Google), ยาฮู (Yahoo) รวมถึงเว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค (Facebook)
เอลี เล่าว่า วันหนึ่งเขาได้สังเกตเห็นข่าวสารฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) หายไปหน้าจอเฟซบุ๊คของตน สาเหตุเพราะตนเองมีแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) จึงมักโต้ตอบกับข่าวสารฝ่ายเสรีนิยมเป็นหลัก และเฟซบุ๊คก็มีระบบที่จดจำพฤติกรรมการค้นหาหรือเนื้อหาที่ผู้ใช้งานแต่ละคนมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (กด Like กด Share หรือแสดงความคิดเห็น) บ่อยๆ ก่อนนำไปประมวลผลแล้วเลือกแต่เฉพาะเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คนคนนั้นชอบส่งมาให้เห็น
เช่นเดียวกับเพื่อนอีก 2 คน ที่ค้นหาคำว่า “ประเทศอียิปต์ (Egypt)” ใน Google แล้วพบว่า หน้าแรกของการค้นหาของคนหนึ่งมีข่าวการประท้วงในอียิปต์โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด แต่ของอีกคนหนึ่งไม่มีข่าวดังกล่าวปรากฏเลย
จากข้อค้นพบนี้ เอลี จึงแสดงความเป็นห่วงว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เนตอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน จากระบบที่กรองสิ่งที่ผู้ใช้งานมีแนวโน้มไม่ชอบ หรือตรงข้ามกับทัศนคติของผู้ใช้งานออกไปหมด เหลือแต่สิ่งที่แต่ละคนพอใจเพียงด้านเดียวเท่านั้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี