ชาวปักษ์ใต้ที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี ร่วมกันทำบุญสารทเดือน 10 หรือประเพณีชิงเปรต ที่วัดหนองกวาง อ.โพธาราม ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ และสืบสานอนุรักษ์ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน
ที่วัดหนองกวาง ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา พระอธิการเติมพงษ์ ตันติสาโร เจ้าอาวาสวัดหนองกวาง ได้ร่วมกับนายโสภณ พัฒนโสภณพงศ์ ประธานชมรมชาวใต้ จ.ราชบุรี และชาวปักษ์ใต้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ได้ร่วมจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานทำบุญสารทเดือน 10 หรือ ประเพณีชิงเปรต ปีนี้เป็นที่ 8 แล้วของการจัดทำบุญ
โดยมีชาวปักษ์ใต้ที่มาอาศัยทำงานอยู่ในพื้นที่ราชบุรีทั้ง 10 อำเภอ ได้เดินทางมาร่วมงานบุญกันอย่างคึกคักแทนการเดินทางกลับไปบ้านเกิดที่ภาคใต้ พร้อมทั้งนำอาหารข้าวแกงของคนปักษ์ใต้ รดชาติเด็จ เผ็ดมัน อาหารคาวหวาน ผลไม้ โดยเฉพาะขนมลา ขนมเจาะหู ขนมข้าวพอง รวมถึงขนมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของภาคใต้ที่นำมาจัดถวายเลี้ยงพระเพล เพื่อร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีให้คงอยู่คู่กับคนไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างราชบุรี มาคอยอำนวยความสะดวกการจราจร และจัดเตรียมสถานให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางบรรยากาศที่มืดครึ้ม มีฝนตกลงมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
พระอธิการเติมพงษ์ ตันติสาโร เจ้าอาวาสวัดหนองกวาง กล่าวถึงการจัดงานว่า วันนี้คณะชมรมชาวใต้มีข้าราชการ พ่อค้า ชาวบ้าน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมงานบุญวันสารทเดือน 10 ซึ่งสารทเดือน 10 นั้น มักจะไปจัดกันที่ภาคใต้ แต่ที่ราชบุรีนั้นมีชาวใต้มาอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก การเดินทางอาจจะไม่ทันเวลาเรื่องดินฟ้าอากาศ จึงได้จัดประเพณีสารทเดือน 10 ขึ้นที่วัดหนองกวาง ถือว่าการทำหน้าที่ไหว้พระ รับศีล การสวดฉลองหมับ
คำว่า "หมับ" นั้นเป็นกฎตายตัวของชาวใต้ได้บอกว่ามีความสำคัญ หนึ่งขนมลา ขนมพอง เป็นความเชื่อว่าคนเราตายไปแล้วต้องเกิด แต่ถ้ายังไม่เกิดอาจจะต้องไปมีความทุกข์ ความสุข ดังนั้นการทำบุญของชาวใต้จะมีอยู่ในช่วงหนึ่งที่เรียกว่าชิงเปรต เพราะพูดไปแล้วก็ดูน่ากลัวแต่จริงๆ ชาวใต้ถือว่าเปรตมาจาก เปร - ตะ แปลว่า ผู้ไปก่อน เมื่อญาติพี่น้องไปก่อนกลัวว่าจะทุกข์ยากลำบาก จึงทำบุญอุทิศไปให้ โดยสิ่งของที่เอามาทำให้ก็ถือว่าสมบูรณ์ทุกอย่างพร้อมด้วยพิธีทางสงฆ์
วันนี้ชมรมคนใต้ทั้งหมดก็ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นอย่างสมบูรณ์ ยกตัวอย่าง หมับ มีหลายสิ่งประกอบกัน เช่น ขนมลา ลักษณะเป็นเส้นเล็กมีใยถามว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้ ถือเป็นปริศนาอย่างหนึ่งว่า ถ้าญาติพี่น้องตายไปเป็นเปรตที่มีปากเล็ก ๆ เท่ารูเข็มกินของใหญ่ไม่ได้ จึงได้คิดทำขนมลาให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ในการหยอดลงปากให้ ส่วนขนมพองเปรียบเสมือนเป็นแพเพื่อให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วได้ลอยข้ามไปถึงฝั่งของความเป็นทุกข์ไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จพิธีสงฆ์แล้วได้มีการจัดนำขนมลา ขนมพอง และผลไม้ต่างๆมาจัดวางบนโต๊ะ พร้อมกับนำผ้าไตรมาวางเรียงเป็นแถวยาวพร้อมกับให้ชาวบ้านมาร่วมกันอนุโมทนาบุญ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
หลังจากเสร็จพิธีแล้วต่างก็เตรียมแย่งชิงขนม ชิงผัก ผลไม้ มีทั้งสะตอ เงาะ ลองกอง กล้วย มะพร้าว องุ่น ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ชาวบ้านก็ไม่หวั่นต่างแย่งชิงขนม ผลไม้ อย่างสนุกสนาน จึงเป็นที่มาของคำว่าประเพณีชิงเปรตที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี