6 ตุลาคม 2562 นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงกรณีรถตู้คณะของพระราชวิสุทธิประชานาถ หรือท่านเจ้าคุณพระอลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ชนกับรถกระบะที่เลี้ยวกลับรถข้ามฝั่งในลักษณะตัดหน้า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในรถกระบะ 2 ศพ และเจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุได้รับบาดเจ็บ บริเวณถนนพหลโยธิน ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 179-180 ขาเข้าตัวเมืองลพบุรี หมู่ที่ 3 ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เมื่อค่ำวันที่ 30 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ว่า “เกาะสี” หรือการใช้สีแบ่งช่องจราจรสวนกัน 2 ฝั่ง ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยง
กล่าวคือ 1. “ถนนยิ่งกว้างยิ่งขับเร็ว” ซึ่งถนน 4 ช่องทางเกาะสี ส่งผลต่อมุมมองของผู้ขับขี่ ว่า ถนนกว้าง โล่ง จึงใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เพราะคิดว่าจะตัดสินใจแซงได้ง่ายขึ้นโดยจะสามารถแซงบนช่องเกาะสีได้ 2.“ใช้เกาะสีเป็นที่หยุดรอ” ในขณะที่คนขับรถใช้ความเร็วและอาจจะใช้เกาะสีสำหรับการแซง แต่สำหรับคนเดินถนน รถจักรยานยนต์ จักรยาน หรือรถยนต์ จะใช้เกาะสีเป็นที่ “หยุดรอ” เพื่อข้ามไปอีกฝากหนึ่งของถนน
3. “จอดล้ำช่องทางรถวิ่งสวน” ขนาดความกว้างของเกาะสี มีความจำกัด โดยปกติจะกว้างประมาณ 1.2-2 เมตร ทำให้รถที่จอดรอเลี้ยว มีโอกาสล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านตรงข้าม ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเฉี่ยวชนได้ง่าย 4.“กลับรถได้ทุกจุดบนเกาะสี” ซึ่งโดยลักษณะทางกายภาพของเกาะสี ทำให้ผู้ขับขี่ที่ต้องการจะกลับรถ ลักไก่ตัดข้ามกลับรถได้ในทุกจุด เท่ากับเป๋นการเพิ่มโอกาสในการชนด้านข้างหรือชนท้ายได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากจุดกลับรถทั่วๆไป ที่มีช่องทางสำหรับกลับรถที่ชัดเจน ทำให้ผู้ขับขี่ ที่ขับมาจากทางด้านหลังจะเพิ่มความระมัดระวังเมื่อถึงจุดกลับรถ
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เจ้าหน้าที่กู้ชีพในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยจากข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่รวบรวมโดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ(ศปถ.อ.)โคกสำโรง พบว่า ช่วงถนนพหลโยธินตั้งแต่หลัก กม.171 - 180 ในเขต ต.ห้วยปง (จุดใกล้เคียงบริเวณที่รถหลวงพ่ออลงกตประสบอุบัติเหตุ) ด้วยระยะทางเพียงแค่ 9 กิโลเมตร แต่ในปีที่ผ่านมา (2561) มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 11 ราย ส่วนใหญ่จะเกิดเหตุในเขตชุมชน ที่มีการขยายไหล่ทางและเป็นช่วงเกาะสี
ซึ่งแตกต่างไปจากถนนพหลโยธิน ช่วงที่เป็นถนนสองเลน รถวิ่งสวนในช่วงตั้งแต่ ต.โคกสำโรง เชื่อมไปยัง อ.ท่าม่วง ที่มักจะไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้เมื่อเกิดการชนปะทะเกิดขึ้นร่างกายคนเราจะมีจุดที่ทนแรงชนปะทะได้เท่าไหร่นั้น ข้อมูลจาก towardszero ระบุว่า 1.รถชนปะทะ ที่ความเร็ว 70 กม./ชม. (มีการคาดเข็มขัดนิรภัย) 2.รถที่ถูกชนจากด้านข้าง ที่ความเร็ว 50 กม./ชม. 3.รถที่เกิดการปะทะกับต้นไม้ที่ความเร็ว 30 กม./ชม. 4.การชนคนเดินเท้าที่ 30 กม./ชม.
“จากคลิปวิดีโอในที่เกิดเหตุ เมื่อพิจารณาทั้งปัจจัยในเรื่องของอันตรายจากเกาะสีที่ทำให้รถทางตรงใช้ความเร็ว และมีการตัดกระแสเพื่อจะกลับรถโดยลักษณะกายภาพของเกาะสีที่เอื้อให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ฝ่าฝืนกลับรถได้ทุกจุด และแรงปะทะจากการชนทางด้านข้างที่มากกว่า 50 กม./ชม. จึงส่งผลให้มีผู้โดยสารในรถกระบะเสียชีวิตทั้ง 2 ราย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2560 ศวปถ. เคยทำหนังสือส่งไปยัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ถึงข้อเสนอเพื่อพิจารณา “ลดความสูญเสีย กรณีถนน 4 ช่องทางเกาะสี” โดยมองว่า แม้อุบัติเหตุจะมีปัจจัยจาก “คนขับ” เป็นสาเหตุหลัก แต่ปัจจัยจากตัวถนน ที่ทาให้รถยนต์สามารถวิ่งด้วย ความเร็ว หยุดกลับรถได้ตลอด หรือสามารถใช้เกาะสี สำหรับแซง กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงและ ความรุนแรงของอุบัติเหตุ
โดยสรุปก็คือนวัตกรรมเกาะสีจึงถือเป็นกรณีสำคัญ ที่ต้องนำมาเป็นบทเรียน และทบทวนการออกแบบและก่อสร้างที่ อาจจะดูสะดวก ประหยัดงบประมาณ แต่ถ้าไม่ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะมูลค่าความสูญเสียจาก อุบัติเหตุทางถนนมาประกอบด้วย สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสีย และคนที่เสียมากที่สุดก็คือ ประชาชนคนที่ใช้รถใช้ถนน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี