8 ตุลาคม 2562 เพจเฟซบุ๊ก "สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย" ได้โพสต์ข้อความถึงภาพยนตร์เรื่อง "Joker" (โจ๊กเกอร์) โดยระบุว่า นี่ไม่ใช่หนัง action ฮีโร่ แต่เป็น psychological drama thriller movie และ เรท R จากความรุนแรง (และหดหู่)
แต่ใครสนใจด้านจิตวิทยา แนะนำว่าน่าจะไปดูอยู่ครับ เพราะมีประเด็นอะไรหลายอย่างที่ควรพูดถึง (แต่ *** มัน เรท R นะครับ ฉะนั้นไม่แนะนำให้เด็กดูครับ)
เอาเป็นว่าแอดมินไปดูมาแล้ว เลยอยากเขียนถึงประเด็นด้าน psychological หน่อย บอกก่อนว่าด้านล่างนี่โคตรสปอยล์ .... ใครยังไม่ได้ดูอย่าเพิ่งอ่านนะครับ แต่ใครดูมาแล้ว ลองมาพูดคุยกันได้ครับ
*** Spoil Alert ***
....
....
....
....
(เก็บไว้อ่านหลังไปดูได้ครับ)
(อันนี้อาจไม่ใช่วิจารณ์หนังนะครับ แค่เขียนถึงประเด็นด้านจิตวิทยาที่โผล่มาในหนังเฉยๆ)
Joker เป็นหนังที่เล่า "ที่มาที่ไป" ของ Joker ว่าเพราะอะไรถึงกลายมาเป็นแบบใน Batman The Dark Knight (ของโนแลน) หรืออาจเรียกหนังว่า ชีวิตบัดซบของโจกเกอร์ ก็คงได้
มองในมุมจิตวิทยา/จิตเวช
ตัว Joker (ที่ตอนแรกยังเป็นอาเธอร์อยู่) เรียกว่ามีความเสี่ยงและเปราะบางมาแล้วตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมีแม่ที่ป่วยทางจิต หากดูตามเรื่องน่าจะเป็นโรคจิตเภท - schizophrenia ซึ่งจากความรู้ปัจจุบัน เป็นโรคที่จัดเป็นความเสี่ยงทางกรรมพันธุ์
(** ปล แก้ไขเพิ่ม —> มีคนทักมาว่า แม่ไม่ใช่แม่จริงๆ 555 จริงครับ ลืมไป งั้นด้านกรรมพันธุ์ตัดออกไปนะครับ)
แถมชีวิตตอนเด็กก็ย่ำแย่ ถูกพ่อเลี้ยงซ้อมเป็นประจำ จนบาดเจ็บที่หัวอย่างหนัก - แม้หนังจะไม่ได้บอกตรง ๆ แต่เดาว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวมีอาการหัวเราะแบบควบคุมไม่ได้ที่เรียกว่า pathological laughing (อ่านเอาจากโพสต์ก่อนหน้านี้นะครับ)
** ที่เดาแบบนี้เพราะโรคนี้ ในคนอายุน้อย ส่วนใหญ่น่าจะเกิดจากบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งในหนังก็เล่าว่าอาเธอร์ตอนเด็กถูกซ้อมจนบาดเจ็บที่หัวรุนแรง **
ความจริงชีวิตในตอนเด็กของเจ้าตัวนี่น่าจะย่ำแย่มาก ขนาดที่มีการใช้กลไกทางจิต (defense mechanism) บางชนิด ที่ทำให้ตัวเองจำเรื่องราวตอนเด็กไม่ได้ว่ามีพ่อแบบนี้ และถูกซ้อม เพื่อหลีกหนีความจริงอันเจ็บปวดนั่นเอง
แต่ความน่าเจ็บปวดยิ่งกว่าของชีวิต คือการที่แม่เองก็มีอาการเจ็บป่วย ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูเขาได้ ไม่สามารถปกป้องเขาจากพ่อเลี้ยงได้ อย่างที่แม่คนนึงพึงกระทำ กลายเป็นเขาต้องมาดูแลแม่แทน
อาการหลงผิด (delusion) ของแม่ Joker นั้นทำให้เจ้าตัวไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง (>>> เชื่อว่าตัวเองเป็นเมียของโทมัส เวร์น และเป็นพ่อของอาเธอร์) เดี๋ยวเค้าจะมาช่วยเราแม่ลูก ทั้งที่ความจริงคือมีสามีที่โหดร้ายและซ้อมตัวเองและลูก) จนไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของลูกตัวเองได้ แถมดันคิดว่าลูกตัวเองมีความสุข หัวเราะเพราะเด็กร่าเริงอารมณ์ดี และเรียกเค้าว่า "happy"
.... ซึ่งเป็นสิ่งที่โคตรย้อนแย้ง sarcastic มาก ๆ
อย่างที่ Joker บอกว่า เขาไม่เคยรู้สึกมีความสุขเลยสักนาที
"ชีวิตผมมีแต่ความคิดแย่ ๆ ตลอดนั่นแหละ"
เพราะตลอดมา เขาไม่เคยได้รับความรักและการดูแลจากพ่อแม่
ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน หรือมีคุณค่าในสายตาใคร
จนบางทีความตายที่เขานึกถึง ยังอาจจะมีค่าเสียกว่าการมีชีวิตอยู่
" I just hope my death makes more cents than my life."
(ประโยคนี้จริง ๆ เป็นการเล่นคำ ทำให้การแปลไทยทำได้ยาก คือใช้คำว่า cents แทน sense ซึ่งจะแปลได้ประมาณว่า ฉันหวังว่าการตายของฉันมีราคามากกว่าชีวิตฉันอีก ประมาณนี้)
ส่วนการมีอาการ pathological affect ก็ทำให้ชีวิตเจ้าตัวใช้ชีวิตลำบาก ต้องพกบัตรแสดงว่าตัวเองป่วยไว้ เพราะมักไปหัวเราะในจังหวะที่ไม่ควร รบกวนการทำงาน และทำให้ต้องอับอายขายหน้าอยู่เนืองๆ
การที่ตัวเองต้องหัวเราะอย่างหยุดไม่อยู่ทั้ง ๆ ที่ใจจริง "ไม่ขำ แถมขมขื่นหนักมาก" ยิ่งเจ็บปวดเข้าไปใหญ่
(ถามว่าการพยายามฝืนยิ้ม หรือหัวเราะ ดีไหม? - หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการหัวเราะบำบัด ที่ให้คนมาหัวเราะทุกวัน
คำตอบคือ ถ้าอารมณ์กลาง ๆ หรือไม่เศร้ามาก การยิ้มหรือหัวเราะอาจจะดี ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้บ้าง
แต่หากเป็นคนที่เศร้ามาก ๆ หรือมันขัดแย้งกับภายในใจมากเกินไป กลับพบว่าการพยายามฝืนยิ้มหรือหัวเราะ ยิ่งทำให้สภาพจิตใจแย่กว่าเดิม เพราะมันขัดแย้งกับอารมณ์และความคิดมากเกินไป คล้าย ๆ กับชีวิตบัดซบขนาดนี้แต่พูดซ้ำ ๆ กับตัวเองว่า ฉันมีความสุข ๆ ๆ ๆ)
ชีวิตยิ่งมาแย่ลงหนัก เพราะปัจจัยสิ่งแวดล้อมมาทับถมซ้ำ
ตั้งแต่ หางานยาก เงินน้อย (จนผอมแห้ง) ถูกวัยรุ่นทำร้าย ถูกเพื่อนหักหลัง และฆ่าคนที่มารุมทำร้ายตัวเอง
หลังจากนั้นพอโดนตัดงบด้านสังคมสงเคราะห์ ทำให้ไม่ได้คุยกับนักบำบัดและขาดยา ก็เลยยิ่งทำให้อาการยิ่งเป็นมากเข้าไปใหญ่ จนช่วงหนึ่งในหนังถึงกับมีอาการหลงผิด (delusion) และ ประสาทหลอน(hallucination)(ซึ่งเป็นคล้าย ๆ ที่แม่ตัวเองเป็น) คือคิดว่าตัวเองเป็นแฟนกับสาวข้างห้อง - เพียงแต่ประเด็นนี้ในหนังอาจยังไม่ชัดพอว่าเป็นโรค schizophrenia แบบแม่ หรือเป็นเพียงอาการทางจิต (psychosis) ช่วงสั้น ๆ (เรียกว่า brief psychotic disorder) จากการเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างมากกันแน่
(ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นอันหลังมากกว่า เพราะอาการเหมือนจะเป็นขึ้นมาทันที และเป็นช่วงสั้น ๆ หลังจากเหตุการณ์ที่ฆ่าคนเป็นครั้งแรก)
หากนำทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory - id, ego, superego) ของ Sigmund Freud มาจับ
ก็คงเป็นจุดที่ ego (โครงสร้างจิตใจส่วนที่มีหน้าที่รับมือกับความจริงและสัญชาตญาณดิบ) แตกสลาย
superego (มโนธรรม) ต้านทานไม่ได้
จนความก้าวร้าว (aggressive drive) ในจิตใต้สำนึกระเบิดออกมา
การที่มีแม่ป่วย การที่ตัวเองก็ป่วย การเป็น loser เป็น "ตัวตลก" ในสายตาใครๆ
เมื่อบวกกับการมารู้ความจริงในตอนหลังว่า สิ่งที่แม่พูดมาตลอด แท้จริงแล้วคืออาการหลงผิดทั้งหมด
แม่ก็ไม่ใช่แม่แท้ๆ
พ่อ(ที่แม่ว่า)ก็ไม่ใช่พ่อแท้ๆ
สุดท้ายจิตใจจึงพังทลายหนักที่สุด
ความผิดหวังซ้ำๆซากๆ ความอับอายอยู่เป็นนิจ กระตุ้นให้ความโกรธแค้นที่สะสมมานานต่อสังคม ต่อทุก ๆ คนที่ทำร้าย-ปากว่าตาขยิบ ถูกปลดปล่อยออกมาแบบไม่มีความรู้สึกผิดชอบและยับยั้ง (แถมยังดูพอใจอีกต่างหาก ที่ได้เป็น 'somebody')
จนนำไปสู่ตอนท้ายของเรื่อง ที่ "อาเธอร์" กลายเป็น "โจ๊กเกอร์" โดยสมบูรณ์
*********
จะเห็นว่าหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้ในเรื่องของที่มาของคน ๆ หนึ่ง (psychodynamic)
ที่มีทั้งปัจจัยทางกายภาพ (biology เช่น โรคทางสมอง กรรมพันธ์)
ปัจจัยด้านการเลี้ยงดูและจิตใจ (psychological factor)
และปัจจัยด้านสังคม (social factor)
ที่ร่วมกันหล่อหลอมให้คน ๆ หนึ่งเป็นอย่างที่เขาเป็น และชีวิตจริงคนเราก็มักเป็นแบบนี้ ที่ไม่ได้มีปัจจัยเพียงอันใดอันหนึ่งทำให้เราเป็นแบบนั้น แต่เกิดจากหลายปัจจัยที่ผสมผสามเข้าด้วยกัน
**********
* เน้น * หนังพยายามเล่าที่มาว่าทำไมคนหนึ่งถึงเป็นแบบนั้น แต่ไม่ได้บอก (justify) ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สมควร หรือไม่ผิดนะครับ
--- การฆ่าคน ทำความรุนแรงยังไงก็เป็นสิ่งที่ผิด ถึงมีความเจ็บป่วยทางสมองก็ยังผิด ;
และคนอีกจำนวนมากแม้เจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่ก็อาจจะสามารถปรับตัวไปในทางที่ดี เช่น พยายามขยันให้มากขึ้น หาทางเป็นนักการเมืองเพื่อแก้ไขสิ่งไม่ดี หรือช่วยเหลือสังคม ก็สามารถทำได้ เช่นกัน
* * * ดังนั้นนี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับให้เด็กดูนะครับ ขอเตือนไว้ก่อน * * *
**********
// note การวิเคราะห์อันนี้อยู่บนสมมุติฐานว่าสิ่งที่เราดูตลอดเรื่อง ไม่ใช่แค่จินตนาการที่อยู่ในหัวของอาเธอร์ นะครับ ... //
***********
// หมอคลองหลวง เขียน
หมอมีฟ้า เพิ่มเติม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี