“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย” ธงชาติและเพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของคนไทย เราจงร่วมใจเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย
เราคนไทยจะได้ยินเพลงชาติไทยคุ้นหู และเห็นธงชาติจนคุ้นตา วันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจแนวหน้าออนไลน์” จะพาไปชมนิทรรศการ “ธงไตรรงค์ ธำรงไทย” ภายใต้แนวคิด “ธงไทยในเวลาโลก” จัดโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับวชิราวุธวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายนนี้ ณ อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย เพื่อเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีความหมายมากกว่าแค่ผืนผ้าที่โบกสะบัดอยู่บนยอดเสา
ก้าวแรกที่เดินเข้าชมนิทรรศการจะได้พบกับมัคคุเทศก์ที่เป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คอยตอนรับอย่างเป็นกันเอง และพาเข้าเยี่ยมชมพร้อมกับเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ผู้ที่มางานฟัง เกี่ยวกับธงทั้งหมดก่อนที่จะมาเป็นธงชาติในปัจจุบันว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
เริ่มจาก... “ธงแดงแห่งกรุงศรีอยุธยา” น้องมัคคุเทศก์น้อยได้อธิบายเกี่ยวกับธงแดง ว่า เดิมนั้นเรายังไม่มีธงแระจำชาติ หากใช้ธงพื้นสีแดงเป็นธงในเรือสินค้า เรื่องธงแดงของสยามปรากฏในบันทึกของต่างชาติว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเรือของฝรั่งเศสเดินทางมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาต้องการยิงสลุตตามธรรมเนียมของชาติตะวันตก จึงขอให้สยามชักธงชาติขึ้น แต่เนื่องจากเราไม่มีธงชาติเป็นของตนเอง จึงหยิบธงชาติฮอลันดามาใช้แทน ฝรั่งเศสแจ้งว่าไม่สามารถยิงสลุตให้ได้ เพราะไม่ใช่ธงชาติสยาม จึงได้ลดธงชาติฮอลันดาลงแล้วให้ใช้ผ้าแดงชักขึ้นเสาแทน ดังนั้นธงแดงจึงปรากฏในหลักฐานตั้งแต่นั้นมา
มัคคุเทศก์น้อยพาเดินไปยังอีกจุด ซึ่งจุดนั้นมีมัคคุเทศก์อีกคนยืนอยู่ เพื่อจะเล่าประวัติเกี่ยวกับ ธงไทยในสมัยรัตนโกสินทร์หรือ “ธงเรือหลวง (ร.1) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหา ว่า ในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ “รูปจักสีขาว” เป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมจักรีวงศ์ไว้กลางธงผ้าสีแดง สำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง ส่วนเรือราษฎรยังคงใช้ธงสีแดง
จากนั้นมัคคุเทศก์อีกคนเดินมารับไม้ต่อ และเล่าว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ “ธงเรือหลวง” (ร.2) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรสีขาวสำหรับใช้ชักในเรือหลวง ด้วยในรัชสมัยนั้น ปรากฏมีช้างเผือกมาสู่บุญญาบารมีถึง 3 ช้าง คือ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์
มัคคุเทศก์น้อย เล่าต่ออีกว่า สำหรับ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช “ธงช้างเผือกบนพื้นแดง” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรือราษฎรสยามใช้ธงเหมือนอย่างเรือหลวง ตาให้เอารูปจักรออกเหลือแต่ช้างเผือกบนพื้นแดง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นช่วงที่สยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง อันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าและการศาลของสยาม เป็นอย่างมาก
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ธงริ้วแดง” เนื่องจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 ในช่วงต้นสยามยังวางตัวเป้นกลาง แต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยนำชาติเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2460 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ “ธงไตรรงค์”
ทั้งนี้ ธงสำหรับสยาม ได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติธงพระพุทธศักราช 2459 ยังไม่สง่าพอสำหรับประเทศไทย สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าไปอีกหนึ่งสี ให้เป็น 3 สี ตามสัญลักษณธงชาติของประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับกรุงสยาม เพื่อเป็นเครื่องหมายให้ปรากฏว่าประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเป็นน้ำหนึ่งน้ำเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกย์ให้พินาศประลัยไป
“สีน้ำเงิน เป็นสีที่เป็นศิริแก่พระชนมวารนับว่าเป็นสีเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ด้วย จึงเป็นสีที่สมควรประกอบไว้ในธงสำหรับชาติ”
นอกจากนี้ เรายังจะเห็นธงชาติถือเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศหรืออัฐิกับบุคคลที่เสียชีวิต ดังนี้
1.ประธานองคมนตรี
2.ประธานรัฐสภา
3.นายกรัฐมนตรี
4.ประธานศาลฎีกา
5.ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
6.ผู้เสียสละเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่สู้รบ หรือต่อสู่ หรือช่วยเหลือการสู้รบหรือต่อสู้ เนื่องจาการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือช่วยเหลือราชการในการป้องกันอธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือปราบปรามการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือปราบปรามการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนประองค์
7.ผู้ที่เสียชีวิตจาการแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ให้เป็นประโยชน์อย่างสำคัญแก่ทางราชการโดยไม่เกรงภัยที่จะเกิดแก่ชีวิตของตน
8.บุคคลที่ทางราชการเห็นสมควร
นายพุธดนัย ปิ่นแก้ว นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย มัคคุเทศก์น้อยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการ “ธงไตรรงค์ ธำรงไทย” อีกว่า การจัดนิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว และรู้สึกดีมากที่ได้มาเล่าประวัติความเป็นมาเรื่องธงให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างละเอียด ซึ่งบางคนอาจจะไม่ทราบว่าธงชาติเรามีการเปลี่ยนมาแล้วกี่ครั้งกว่าจะได้มาเป็นธงไตรรงค์ในปัจจุบัน หากใครมาชมนิทรรศการจะได้รู้ความเป็นมาจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเล่าที่เล่าต่อๆกันมา
เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย “ธงชาติไทย” ก็จะโบกสะบัดขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งบ่งบอกว่าเราคือคนไทย และอาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่มีธงชาติ 3 สี คือ สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี