วันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ผลการประชุม กสม. ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา กรณีพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ร้องเรียนว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากทำงานแบบเดียวกันกับข้าราชการหรือลูกจ้าง แต่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่า
ซึ่งสืบเนื่องจากปี 2541 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเรื่องการปฏิรูประบบราชการ เพื่อปรับลดอัตรากำลังภาครัฐ ต่อมาเมื่อปี 2548 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานรัฐให้จ้างเอกชนดำเนินงาน โดยไม่ถือเป็นการจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ ไม่ถือเป็นการจ้างแรงงาน และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ทำให้ตั้งแต่ปี 2549 กสม. เริ่มได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ กสม. เห็นว่าการกระทำของหน่วยงานภาครัฐต่อกลุ่มพนักงานจ้างเหมาบริการเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปยังรัฐบาลที่ผ่านมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีคำร้องกรณีดังกล่าวมายัง กสม. อย่างต่อเนื่อง
ทำให้ กสม. ชุดปัจจุบันหยิบยกปัญหาเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง โดยเห็นว่า ลักษณะการปฏิบัติงานของพนักงานจ้างเหมาบริการเหมือนกันกับการปฏิบัติงานของข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว กล่าวคือ พนักงานจ้างเหมาบริการต้องมาทำงานตามวันเวลาราชการ ต้องปฏิบัติงานอื่นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย อันมีลักษณะการจ้างที่เป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ได้รับสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ทั้งยังถูกหักเงินค่าจ้างในกรณีที่ไม่มาปฏิบัติงานด้วย
“การจัดจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในรูปแบบสัญญาจ้างทำของจึงเป็นการอำพรางสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นนิติสัมพันธ์ที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.349/2556 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.531/2557 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2557 ส่งผลให้พนักงานจ้างเหมาบริการไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้าง อันกระทบต่อสิทธิของบุคคลในเรื่องการประกอบอาชีพตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้”
การจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานรัฐ จึงเป็นการผลักภาระให้บุคคลมิได้รับสิทธิในสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกับข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐ ขัดกับหลักการที่บุคคลควรได้รับค่าตอบแทนเท่าเทียมกันในงานลักษณะเดียวกัน (equal pay for equal work) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อ 7 ที่ให้การรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่ากัน โดยปราศจากความแตกต่างในเรื่องใด กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล โดยขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ
ซึ่งอาจพิจารณาใช้ระบบพนักงานของรัฐ หรืออาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่น ได้รับสิทธิในการลาป่วย ลาพักผ่อน โดยได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา ได้รับการเลื่อนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนการทำงานที่คุ้มค่า สิทธิในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิประกันสังคม หรือได้รับการคุ้มครองในลักษณะของลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ทั้งนี้ ในระยะยาวรัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังภาครัฐในปัจจุบัน ว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ เพียงใดด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี