16 ธันวาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนา จ.กาฬสินธุ์ ในพื้นที่รับน้ำชลประทานลำปาว หลังทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ระบายน้ำเพื่อการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าได้ลงมือไถ คราด และเพาะปลูกกันแล้ว
นายนิวาส คำฤาเดช ชาวนาบ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วิธีการทำนาของชาวนาในทุกวันนี้นิยมทำนาหว่าน ซึ่งมีทั้งหว่านตมและหว่านแห้ง เพราะสะดวก รวดเร็วและประหยัดกว่าการทำนาดำ เนื่องจากการทำนาดำต้องทำหลายขั้นตอน เช่น หว่านเมล็ดพันธุ์ ถอนกล้า นำไปปักดำ ซึ่งต้องใช้แรงงาน ทำให้สิ้นเปลืองรายจ่ายในการถอนต้นกล้าและปักดำเป็นจำนวนมาก หากรวมค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ค่ารถไถ คราด เฉลี่ยไร่ต้นทุนการทำนาดำตกไร่ละไม่ต่ำกว่า 5 พันบาททีเดียว จึงสู้ทำนาหว่านไม่ได้ คือหว่านครั้งเดียวจบ รอเก็บเกี่ยวอย่างเดียว
นายนิวาสกล่าวอีกว่า การทำนาหว่านมี 2 วิธี คือหว่านตมและหว่านแห้ง เมล็ดพันธุ์อาจจะใช้แบบเมล็ดแห้งหรือผ่านการบ่มเพาะโดยการแช่น้ำจนมีรากงอกออกมานิดหน่อยก็ได้ ตามสะดวก ขณะที่การหว่านแต่เดิมใช้มือกำเมล็ดข้าวหว่าน ต่อมามีการพัฒนามาเป็นเครื่องพ่นเมล็ดพันธุ์ เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยให้การหว่านข้าวรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ระยะความห่างของเมล็ดพันธุ์และต้นข้าวเมื่องอกออกมาไม่สม่ำเสมอ ถี่บ้าง ห่างบ้าง ทำให้เสียเวลามาถอนและซ่อมแซมต้นข้าวอีก ไม่จบในครั้งเดียว จึงได้คิดหาวิธีการเพาะปลูกข้าวแบบใหม่ เพื่อทางเลือกที่ดีกว่า โดยคิดว่าหากมีเครื่องหยอดเมล็ดข้าวเปลือก ติดตั้งกับรถไถนาเดินตาม คงจะทำให้ต้นข้าวงอกสม่ำเสมอ และสะดวกกว่าการใช้มือหว่าน หรือดีกว่าใช้เครื่องพ่นเมล็ด
นายนิวาสกล่าวเพิ่มเติมว่า จากนั้นจึงได้นำแนวคิดไปปรึกษากับช่างเชื่อมเหล็กหลายคน เพื่อให้ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดข้าวเปลือก ก่อนที่จะไปพบกับช่างท้องถิ่นคนหนึ่ง ที่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ใช้ภูมิปัญญาออกแบบและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากการนำเครื่องหยอดเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากภูมิปัญญามาใช้งาน ในฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีที่ผ่านมา ได้ผลดีมาก เช่น ทำเวลาได้รวดเร็ว ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ประหยัดเมล็ดพันธุ์ โดยพื้นที่ 5 ไร่ ใช้เวลาหยอดเมล็ด 3 ชั่วโมงแล้วเสร็จ ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 30 กก. หลังจากหยอดเสร็จก็ปล่อยน้ำขังแปลงนา เพื่อให้ความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ ประมาณ 5-7 วันเริ่มเห็นเมล็ดงอก ระยะห่างเมล็ดข้าวออกสม่ำเสมอ เป็นแถว ง่ายต่อการกำจัดวัชพืชหรือพันธุ์ข้าวปลอมปน ผลผลิตใกล้เคียงกับการทำนาดำ ซึ่งเป็นผลดีกับชาวนาที่ต้องการผลผลิตข้าวคุณภาพ โดยเฉพาะสมาชิกผู้ปลูกข้าวเมล็ดพันธุ์ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์
“จากการทำนาปีด้วยเครื่องหยอด และได้ผลดีดังกล่าว ทำให้การทำนาปรังปีนี้ มีเพื่อนชาวนาหันมาทำนาหยอดเหมือนตนมากขึ้น โดยเครื่องหยอดที่นำมาติดตั้งรถไถนาเดินตาม ใช้ได้เฉพาะการทำนาหยอดแห้งเท่านั้น น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย คิดค่าจ้างราคากันเอง เพราะเห็นใจเพื่อนชาวนาด้วยกัน หากเจ้าของนาจ้างทั้งรถไถนาเดินตามและให้ตนเป็นคนขับหยอดให้ คิดราคาไร่ละ 250 บาท หรือหากรถไถนาเดินตามเป็นของเจ้าของนา และเจ้าของนาหยอดเอง คิดค่าเช่าเครื่องหยอดเพียงไร่ละ 150-200 บาทเท่านั้น การทำนาหยอดแห้ง ด้วยเครื่องหยอดดังกล่าว จึงประหยัดทั้งเวลา ค่าจ้างแรงงาน เมล็ดพันธุ์ และรายจ่ายอื่นๆกว่าการทำนาดำหลายเท่าตัว หากเปรียบเทียบเฉพาะในพื้นที่และเวลาเท่ากัน คือพื้นที่ 5 ไร่ ทำนาหยอดใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่หากใช้แรงงานคนถอนกล้าและปัก ในช่วงเวลา 3 ชั่วโมงเท่ากันดังกล่าว อาจจะต้องใช้แรงงานคนไม่ต่ำกว่า 50 คน ค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าแรงคนละ 300 บาท จะต้องใช้เงินถึง 15,000 บาททีเดียว ขณะที่การใช้รถหยอดใช้แรงงานเพียง 1 คน ค่าจ้างเพียง 100-250 บาทเท่านั้น” นายนิวาส กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี