จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดพิธีสักการะ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และเปิดหอเชิดชูเกียรติ เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและเกียรติคุณรวมทั้งจัดแสดงผลงาน ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
วันที่ 9 ก.ค.63 ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานพิธีสักการะพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประจำปี 2563 พร้อมด้วยนายจิตติน ตั้งกงพานิช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ นางอุทัย พัฒนพิชัย วัฒนธรรมจังหวัดฯ นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ทายาทของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ร่วมพิธี จากนั้นเดินทางไป ณ อาคารเรือนรับรอง "พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา" ประกอบพิธีบวงสรวงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พิธีทางศาสนา การอ่านทำนองเสนาะสดุดีเชิดชูเกียรติฯโดยนายประยุทธ เรืองสวัสดิ์ ศิลปินดีเด่น สาขาวรรณศิลป์ จังหวัดฉะเชิงเทราปี 2545 จากนั้นประธานพร้อมผู้เข้าร่วมพิธีร่วมเปิดหอเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และเยี่ยมชมนิทรรศการ "พรรณไม้ในนิพนธ์พระยาศรีสุนทรโวหารฯ และตำนานอาหารจากนิติสารสาธก"
นายจิตติน ตั้งกงพานิช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2365 ณ บ้านริมคลองโสธร ตำบลโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มเรียนหนังสือไทยที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่ออายุครบบวชเรียนได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและพระธรรมวินัยจากสำนักต่างๆ หลายสำนักจนเชี่ยวชาญ และเมื่ออายุครบบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดสระเกศวรมหาวิหาร และเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จนได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ และลาสิกขาบท ขณะอายุได้ 32 ปี ท่านเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในกรมอาลักษณ์ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาอีกด้วย จนได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสุนทรโวหารญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยะพาหะ และท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2434 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นนักการศึกษาปราชญ์ภาษาไทย ผลงาน อาทิเช่น แบบเรียนหลวงชุดมูลบทบรรพกิจ (มูน – บด – บัน – พะ- กิด) 6 เล่ม บทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน (สัด – ตะ – วา – พิ- ทาน) เป็นต้น รวมผลงานที่ท่านนิพนธ์มีไว้ทั้งหมด 32 เรื่อง ล้วนมีคุณค่าทั้งด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม นับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลของชาติ ที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างยิ่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้กำหนดให้วันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของท่านเป็นวันจัดงานสักการะพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และในปี พ.ศ.2565 จะเป็นวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาล ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มีนโยบายให้จัดตั้งหอเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขึ้น ณ อาคารเรือนรับรอง พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและเกียรติยศ รวมทั้งจัดแสดงผลงานของท่านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายสืบไป นอกจากนี้ ท่านได้ถูกเสนอชื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญขององค์การยูเนสโก้ อีกด้วย ทั้งนี้ นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ทายาทของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ให้ความอนุเคราะห์รูปหล่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มาประดิษฐาน ณ หอเชิดชูเกียรติฯ อาคารเรือนรับรอง พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี