“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมาจุดที่กัญชาเริ่มใช้ทางการแพทย์จริงใน 3 ปีที่ผ่านมาผมต้องไปฝ่าฟันกับภาคประชาสังคม ทั้งมหาวิทยาลัยรังสิตและอีกหลายท่าน เพื่อทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้หลายปีมานี้ที่ทำให้กัญชาซึ่งเป็นพืชที่คนมองว่าเป็นอันตรายต่อประเทศ เป็นภัยต่อความมั่นคง แล้วก็กลายเป็นพืชที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ เราต้องไปฝ่าฟันเพื่อยกเลิกสิทธิบัตรต่างชาติที่จดในประเทศไทยในยามที่ประเทศไทยเห็นว่ากัญชาเป็นยาเสพติดซึ่งเราเห็นว่าไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศไทย”
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์อนุกรรมาธิการ และที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการ ของกลุ่มงานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และคณบดีสถานบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานแถลงข่าว “งานประชุมสุดยอดกัญชาเพื่อการลงทุนของโลก” หรือ “CISW”ณ รร.คาร์ลตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท เมื่อเร็วๆ นี้
ซึ่งคำกล่าวข้างต้นนั้นคงไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะใครจะคิดว่าในประเทศไทยที่กัญชาถูกระบุว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นสิ่งผิดกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ครอบครองและเสพ กำลังจะมีงานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในช่วงปลายปี 2563 โดยนับตั้งแต่เริ่มมีความคิดจัดงานดังกล่าว คณะ
ผู้จัดต้องเผชิญความท้าทาย เช่น ชาวต่างชาติจะนำกัญชาเข้าประเทศไทยได้อย่างไรเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย อีกทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้การเดินทางข้ามประเทศต้องหยุดชะงักลง
“ประเทศไทยในวันนี้มีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุดในโควิด-19 เรามีผู้ติดเชื้อในประเทศที่เป็นศูนย์ต่อเนื่องเกิน 60 วันแล้ว ดีที่สุดระดับโลกเรามีการรักษาหายดีที่สุดในโลก และเรามีสุขภาพที่ดี มีอัตราการตายน้อย และเราก็ปลดล็อกดาวน์ได้เร็วกว่าหลายประเทศโดยที่ไม่มีการติดเชื้อเลย เรากำลังจะบอกว่าประเทศไทยมีความชอบธรรมอย่างยิ่ง ที่เราจะประกาศว่าประเทศไทยสมควรแก่เวลาแล้วที่เราจะเป็น Medical Hub (ศูนย์กลางทางการแพทย์) ของโลก และการที่เราจะเป็น Medical Hub ของโลกได้กัญชาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม” ปานเทพ ระบุ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 มีการพิจารณา (ร่าง) กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. ....โดย ครม. มีมติใน 2 ข้อคือ 1.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. ....มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการโฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา
เพื่อการโฆษณาที่กระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพ และครอบคลุมถึงการโฆษณาที่เป็นเอกสารภาพ ภาพยนตร์ การบันทึกเสียงหรือภาพด้วย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ กับ 2.ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และข้อกำหนดต่างๆในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา
ให้แก่ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ที่มีความประสงค์จะขออนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาที่ได้รับการรับรองตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ได้รับทราบและสามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบและเข้าใจในสาระสำคัญของข้อกำหนดในกฎกระทรวง
โดยพิจารณาใช้กลไกระดับพื้นที่ในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ต่อมาในวันที่
6 ม.ค. 2563 อนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ณ อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมตั้งเป้าจะให้มีคลินิกอย่างเดียวกันเกิดขึ้นทั่วประเทศ
คู่มือ “คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3/2563” โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ไดประโยชน เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ประกอบด้วย 1.1 ภาวะคลื่นไสอาเจียนจากเคมีบำบัด1.2 โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 1.3 ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 1.4 ภาวะปวดประสาท1.5 ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
และ 1.6 การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ไดรับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้รักษา กับ 2.ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะไดประโยชน (ในการควบคุมอาการ) โดยประเภทนี้มีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนมีจำนวนจำกัด ซึ่งต้องการข้อมูลการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนต่อไป ประกอบด้วย2.1 โรคพาร์กินสัน 2.2 โรคอัลไซเมอร์ 2.3 โรควิตกกังวลไปทั่ว และ 4.โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ อาทิ neuromyelitis optica และ autoimmune encephalitis
อนึ่ง นอกจากกัญชาแล้ว “กระท่อม” ยังเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่กำลังจะถูกปลดล็อกจากยาเสพติดให้โทษเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่10 มี.ค. 2563 เรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..)พ.ศ. .... ตอนหนึ่งกล่าวถึงการให้ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เร่งสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมและการนำพืชกระท่อมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง
จากนั้นวันที่ 15 ก.ค. 2563 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในการเข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ว่า กระท่อมถูกระบุเป็นยาเสพติดตั้งแต่ปี 2486 เพราะรัฐบาลขณะนั้นต้องการเก็บภาษีฝิ่น จึงระงับไม่ให้คนเสพกระท่อม เป็นเหตุผลทางการค้าและการเมือง ผลการศึกษาพบโทษของกระท่อมมีน้อยมาก แต่กลับมีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่าง เป็นเหตุผลให้ต้องปรับกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งคาดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. ภายในเดือนส.ค. 2563
สำหรับงานประชุมสุดยอดกัญชาเพื่อการลงทุนของโลก (Cannabis Investment Summit World : CISW) จะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 พ.ย. 2563 ตามกำหนดการเดิมนั้น ระบุสถานที่จัดงาน ณ มหาวิทยาลัยรังสิต แต่จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คณะผู้จัดงานเปลี่ยนมาเป็นการประชุมออนไลน์ (Virtual Conference) แทน โดยตลอดทั้ง 3 วันจะมีวิทยากรที่เป็นผู้สนใจประเด็นกัญชากับการแพทย์จากหลายประเทศทั่วโลก มาบอกเล่าเรื่องราวอย่างครบวงจรตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การแปรรูปกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์ยา ไปจนถึงความสำคัญของกัญชาต่อเศรษฐกิจ
“เราจะมีข่าวดีว่ากัญชาจะไม่ถูกล็อกโดยภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่เดิมบอกว่า 5 ปีนี้เราต้องร่วมกับรัฐเท่านั้น เราจะทลายเงื่อนไขนี้ให้สำเร็จ และเตรียมที่จะสำเร็จ เพราะกฎหมายผ่านประชาพิจารณ์สำเร็จแล้ว กระท่อมได้ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติด ตอนนี้ปลูกจริงแล้วที่ภาคใต้หลายพื้นที่ เพราะฉะนั้นแล้วผมจึงรับหน้าที่ด้วยความเป็นเกียรติอย่างยิ่งจาก CISW ให้ผมบรรยายเรื่องกฎหมายและวิวัฒนาการกฎหมายที่ประเทศไทยจะเดินต่อไป” คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวในท้ายที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี