วันหยุดทั้งทีถ้ายังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวไหน เราขอแนะนำให้มาที่นี่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ทำให้ใช้เวลาในการเดินทางไม่นาน เพราะนอกจากพระนครศรีอยุธยาจะเป็นเมืองเก่าอันทรงคุณค่าแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของวัดอยู่มากมายอันเกิดมาจากแรงศรัทธาและความเชื่อของคนในสมัยนั้น แต่เมื่อพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวใน จ.พระนครศรีอยุธยา หลายคนคงนึกถึงการมาไหว้พระทำบุญมาเยือนเมืองเก่า อย่างวัดใหญ่ชัยมงคล วัดมหาธาตุ วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ
แต่วันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจแนวหน้าออนไลน์” จะมาแนะนำแหล่งท่องเที่ยวอีกสถานที่หนึ่ง คือ “วัดกุฎีดาว” เดิมชื่อ “วัดกุฎิทวา” ที่ตั้งอยู่บนถนนนอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศตะวันออก ติดกับทางเข้าวัดประดู่ทรงธรรม วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร และวัดมเหยงคณ์ เป็นวัดขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบัน “วัดกุฎีดาว” มีสภาพเป็นวัดร้างที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวเนื่องกับวัดมเหยงคณ์เสมอ เพราะในคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า พระมหาบรมราชาทรงสร้างวัดกุฎีดาว และพระภูมินทราธิบดีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์
ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ไม่มีการบันทึกถึงวัดกุฎีดาว กระทั่งมีการบันทึกถึงการบูรณะวัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่โดยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พงศาวดารจึงบันทึกว่าหลังจากนั้นอีก 1 ปีสมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ได้เจริญรอยตามพระเชษฐาด้วยการบูรณะวัดกุฎีดาวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามขึ้น โดยกระทำการบูรณปฏิสังขรณ์ถึง 3 ปี โดยพระองค์ท่านได้ประทับแรมอยู่ในวัดแห่งนั้นเพื่อคุมการก่อสร้าง
หลังจากนั้นวัดกุฎีดาวได้กลายเป็นวัดหลวง และเป็นที่พำนักของพระเทพมุนี พระราชาคณะในขณะนั้น ซึ่งต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระเทพมุนีวัดกุฎีดาวองค์นี้ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
วัดกุฎีดาว เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขต “อโยธยา” ตอนเหนือ ฝั่งนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อกันว่าคือชุมชนเมืองโบราณก่อนที่จะมีการสร้างกรุงศรีอยุธยา มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วย พระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร วางตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยมีเจดีย์รายขนาบอยู่โดยรอบ ปัจจุบันโบราณสถานของวัดกุฎีดาวยังมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสวยงาม ถึงแม้บริเวณโดยรอบจะเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง
พระอารามของวัดนี้มีกำแพงล้อมรอบทั้งหมด มีเจดีย์ทรงระฆังเป็นเจดีย์ประธาน ด้านหน้ามีองค์พระตั้งเป็นประธานให้สักการะ ส่วนทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธานนอกกำแพงมีพระตำหนักกำมะเลียนเป็นอาคาร 2 ชั้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในการเสด็จประทับทอดพระเนตร การบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยความประณีตของช่างฝีมือคนไทย ประกอบกับสถาปัตยกรรมในสมัยก่อนที่ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์เรื่อยมา ทำให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ทำการสำรวจ รวมทั้งขุดค้นโบราณสถานต่างๆในอยุธยา ได้อธิบายอย่างน่าสนใจว่า ฐานเจดีย์วัดกุฏีดาวนี้ เป็นศิลปะแบบมอญ เพราะลักษณะของเจดีย์วัดกุฏีดาวนั้น เหมือนกับวัดจักรวรรดิที่อยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งในอดีตถูกเรียกว่า “วัดเจ้ามอญ” ที่ทำการก่อสร้างในรูปแบบของดวงดาว หากสังเกตภาพรวม ที่ไม่ได้มองที่เจดีย์หัก บนฐานโดยรอบ จะพบมีเจดีย์เล็กๆ ที่เรียกว่า เจดีย์ราย อยู่โดยรอบ 8 องค์และทั้ง 8 องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในตำแหน่งดวงดาวทั้ง 8
“การวางตำแหน่งเจดีย์ตามดวงดาวนี้ เรียกว่า ทักษา ซึ่งเป็นหลักโหราศาสตร์แขนงหนึ่ง และเป็นคติความเชื่อของมอญ โดย ดาวอาทิตย์ อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดาวจันทร์ ประจำอยู่ทิศตะวันออก ดาวอังคาร ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดาวพุธ ประจำทิศใต้ ดาวพฤหัสบดี อยู่ทิศตะวันตก ดาวศุกร์ ประจำทิศเหนือ ดาวเสาร์อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และดาวราหู ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนดาวเกตุ อยู่ในตำแหน่งวิญญาณ ก็คือเจดีย์ตรงกลาง นอกเหนือจากตำแหน่งเกตุ ยังมีความหมายที่เชื่อว่า หมายถึงเขาพระสุเมรุ มีมีดวงดาวรายรอบ เป็นจักรวาล”
นอกจากความสวยงามของสถาปัตยกรรมแล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังมีความลี้ลับเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนาน “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ที่สืบต่อกันมา ได้ถูกบันทึกไว้ใน Wikipedia ว่า มีเจ้านายระดับพระองค์เจ้าพระองค์หนึ่งได้ลายแทงสมบัติ ที่บ่งบอกจุดที่ซ่อนสมบัติโบราณซึ่งถูกฝังไว้กว่า 303 แห่งในพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะที่ “วัดกุฎีดาว” มีสมบัติฝังมากที่สุดถึง 16 แห่ง จากนั้นพระองค์จึงทำเรื่องขออนุมัติดำเนินการขุดค้นหาสมบัติดังกล่าวโดยใช้เครื่ืองไมน์ ดีเทคเตอร์ ตรวจหาแร่ใต้ดินบริเวณรอบๆวัดกุฎีดาว แต่ต้องแปลกใจเมื่อขุดลงไปตรงจุดที่ลายแทงระบุว่ามีสมบัติซ่อนอยู่กลับไม่พบสิ่งใดเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
นอกจากพบความผิดหวังแล้ว พระองค์เจ้าฯและพระสหายยังพบกับความน่ากลัว เมื่อเห็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาปรากฏต่อหน้า จากภาพที่เห็นเป็นชายรูปร่างสูงใหญ่ แต่งตัวแบบนักรบไทยโบราณ แต่ไม่มีหัว ทว่าความน่ากลัวไม่มีเพียงเท่านี้ เมื่อพระองค์เสด็จกลับวังก็มีเสียงคล้ายคนขุดดินตลอดเวลา ทำให้พระองค์ต้องเชิญพระอาจารย์ที่สำเร็จอภิญญามานั่งทางในช่วยดู โดยอาจารย์บอกว่าวิญญาณที่ปรากฏคือ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” และเขาได้สาปแช่งแก่ผู้ที่มาขุดสมบัติของเขาทุกคน
ขอบคุณภาพ วรกร เข็มทองวงศ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี