สมาธิท่าน (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) รู้สึกแปลกและพิสดารมาก ทั้งขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ คือขณะจิตรวมเป็นขณิกสมาธิแล้วตั้งอยู่ได้ขณะเดียว แต่มิได้ถอนออกมาเป็นจิตธรรมดา หากแต่ถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่มีประมาณ บางครั้งเกี่ยวกับพวกภูตผี เทวบุตร เทวธิดา พญานาคต่าง ๆ นับภพนับภูมิได้ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิประเภทนี้ ซึ่งท่านใช้รับแขกจำพวก มีรูปไม่ปรากฏด้วยตา มีเสียงไม่ปรากฏด้วยหู มาเป็นประจำ บางครั้งจิตก็เหาะลอยออกจากกายแล้วเที่ยวชมสวรรค์วิมานและพรหมโลกชั้นต่าง ๆ และลงไปเที่ยวดูภพภูมิของสัตว์นรกที่กำลังเสวยกรรมมีประเภทต่างกันอยู่ที่ที่ทรมานต่าง ๆ กันตามกรรมของตน
คำว่า ขึ้นลง ตามคำสมมุติที่โลกนำมาใช้กัน ตามกิริยาของกาย ซึ่งเป็นอวัยวะหยาบนั้น ผิดกับกิริยาของจิตซึ่งเป็นของละเอียดอยู่มาก จนกลายเป็นคนละโลกเอาเลย
คำว่า ขึ้นหรือลงของกาย รู้สึกเป็นประโยคพยายามอย่างเอาจริงเอาจัง แต่จิตถ้าใช้กิริยาแบบกายบ้างว่า ขึ้นหรือลง ก็สักแต่ว่าเท่านั้น แต่มิได้เป็นประโยคพยายามว่า จิตขึ้นหรือลงเลย
คำว่า สวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน อยู่สูงขึ้นไปตามลำดับแห่งความละเอียดของชั้นนั้น ๆ ก็ดี คำว่านรกอยู่ต่ำลงไปตามลำดับของความต่ำแห่งภูมิและผู้มีกรรมต่าง ๆ กันก็ดีนี้ เรานำด้านวัตถุ เข้าไปวัดกับนามธรรมเหล่านั้นต่างหาก นรก สวรรค์ เป็นต้น จึงมีต่ำสูงไปตามโลก
เราพอเทียบกันได้บ้าง เช่น นักโทษทั้งลหุโทษและครุโทษที่อยู่ในเรือนจำอันเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ในที่ที่มนุษย์ผู้ไม่มีโทษทัณฑ์อะไรอยู่กัน ในนักโทษทั้งสองชนิดไม่มีการขึ้นลงต่างกันที่ตรงไหนบ้างเลย เพราะอยู่ในเรือนจำอันเดียวกันและไม่มีขึ้นลงต่างกันกับมนุษย์ผู้ไม่มีโทษอีกด้วย เพราะเรือนจำหรือตะรางอันเป็นที่อยู่ของนักโทษทุกชนิดอยู่กัน กับสถานที่ที่มนุษย์อยู่กัน มันเป็นแผ่นดินอันเดียวกัน บ้านเมืองอันเดียวกัน เป็นแต่แยกเป็นเอกเทศกันอยู่คนละส่วนเท่านั้น
เมื่อต่างคนต่างมีตาดีหูดี ทั้งลหุโทษ ครุโทษ และมนุษย์ผู้ปราศจากโทษ ต่างก็มองเห็นได้ยินและรู้เรื่องของกันได้อย่างธรรมดา ทั่ว ๆ ไป ไม่เป็นปัญหาเหมือนระหว่างพวกนรกกับเทวดา ระหว่างเทวดากับพรหม และระหว่างพวกเทพฯ ทุกชั้นกับสัตว์นรกทุกภูมิ และระหว่างสัตว์นรกทุกภูมิและเทวดา พรหมทุกชั้นกับพวกมนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องของกันเอาเลย
แม้กระแสใจของทุก ๆ จำพวกจะส่งประสานผ่านภูมิที่อยู่ของกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เหมือนไม่ได้ผ่านและเหมือนไม่มีอะไรมีอยู่ในโลก นอกจากเราคนเดียวที่รู้เรื่องของตัวทุกอย่างเท่านั้น จะรับรองตนได้ว่า การมีอยู่ในโลก เพียงใจที่มีอยู่กับทุกคนตลอดสัตว์ก็ยังไม่สามารถรู้เรื่องความคิดดีชั่วของกันและกันได้ ถ้าจะปฏิเสธว่าใจของคนและสัตว์ไม่มี และถ้ามีทำไมไม่รู้ไม่เห็นใจเรื่องใจกันบ้าง ดังนี้ ก็พอจะปฏิเสธได้ถ้าจะเป็นความจริงตามคำปฏิเสธ แต่จะปฏิเสธวันยังค่ำก็คงผิดไปทั้งวัน เพราะปกติคนและสัตว์ที่ยังครองตัวอยู่ย่อมมีใจด้วยกันทุกราย แม้จะไม่รู้ไม่เห็นความคิดของกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใจไม่มีในร่างที่เราไม่สามารถมองเห็นและได้ยิน สิ่งละเอียดที่สุดวิสัยของตาหูจะรับรู้ได้ในโลกแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็คงขึ้นอยู่กับความไม่สามารถของแต่ละราย ไม่ขึ้นกับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จะปกปิดตัวเเอง
คำว่าสวรรค์และพรหมโลกชั้นนั้น ๆ สูงขึ้นไปเป็นลำดับนั้น ก็มิได้สูงขึ้นไปแบบบ้านที่มีหลายชั้นซึ่งเป็นด้านวัตถุ ดังที่รู้ ๆ กันที่จะต้องใช้บันไดหรือลิฟท์ขึ้นไปเป็นชั้น ๆ หากสูงแบบนามธรรม ขึ้นแบบนามธรรม ด้วยนามธรรม คือใจดวงมีสมรรถภาพภายในตัว เพราะกรรมดีคือกุศลกรรม คำว่านรกต่ำก็มิได้ต่ำแบบลงเหวลงบ่อ แต่ต่ำแบบนามธรรม ลงแบบนามธรรม และดูด้วยนามธรรม คือดวงใจมีความสามารถภายในตัว แต่ผู้ลงไปเสวยกรรมของตนต้องไปด้วยอำนาจกรรมชั่วที่พาให้เป็นไปทางตรงกันข้าม อยู่รับความทุกข์ทรมานก็อยู่ด้วยกรรมพาให้อยู่จนกว่าจะพ้นโทษ เหมือนคนติดคุกตะรางตามกำหนดเวลา เมื่อพ้นโทษก็ออกจากคุกตะรางไปฉะนั้น
ส่วนอุปจารสมาธิของท่านรู้สึกเริ่มเกี่ยวพันกันกับขณิกสมาธิมาแต่เริ่มแรกปฏิบัติ เพราะจิตท่านเป็นจิตที่ว่องไวผาดโผนมาดั้งเดิม เวลารวมลงเพียงขณะเดียวที่เรียกว่าขณิกสมาธิ ก็เริ่มออกเที่ยวรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในวงของอุปจาระ จนกระทั่งท่านมีความชำนาญและบังคับให้อยู่กับที่หรือให้ออกรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ได้แล้ว จากนั้นท่านต้องการจะปฏิบัติต่อสมาธิประเภทใดก็ได้สะดวกตามต้องการ คือจะให้เป็น ขณิกะแล้วเลื่อนออกมาเป็นอุปจาระเพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ หรือจะให้รวมสงบลงถึงฐานสมาธิอย่างเต็มที่ ที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ แล้วพักอยู่ในสมาธินั้นตามต้องการก็ได้
อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิที่สงบละเอียดแนบแน่นและเป็นความสงบสุขอย่างพอตัว ผู้ปฏิบัติจึงมีทางติดสมาธิประเภทนี้ได้ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเล่าว่า ท่านเคยติดสมาธิประเภทนี้บ้างเหมือนกัน แต่ท่านเป็นนิสัยปัญญาจึงหาทางออกได้ ไม่นอนใจและติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นาน ผู้ติดสมาธิประเภทนี้ทำให้เนิ่นช้าได้เหมือนกัน ถ้าไม่พยายามคิดค้นทางปัญญาต่อไป นักปฏิบัติที่ติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้มีเยอะแยะ เพราะเป็นสมาธิที่เต็มไปด้วยความสุข ความเยื่อใยและอ้อยอิ่งน่าอาลัยเสียดายอยู่มาก ไม่คิดอยากแยกตัวออกไปทางปัญญาอันเป็นทางถอนกิเลสทั้งมวล ถ้าไม่มีผู้ฉลาดมาตักเตือนด้วยเหตุผลจริง ๆ จะไม่ยอมถอดถอนตัวออกมาสู่ทางปัญญาเอาเลย
เมื่อจิตติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นานไป อาจเกิดความสำคัญตนไปต่าง ๆ ได้ เช่น สำคัญว่านิพพานความสิ้นทุกข์ก็ต้องมีอยู่ในจุดแห่งความสงบสุขนี้ หามีอยู่ในที่อื่นใดไม่ดังนี้ ความจริงจิตที่รวมตัวเข้าเป็นจุดเดียวจนรู้เห็นจุดของจิตได้อย่างชัดเจน และรู้เห็นความสงบสุขประจักษ์ใจในสมาธิขั้นอัปปนานี้ เป็นการรวมกิเลสภพชาติอยู่ในจิตดวงนั้นด้วยในขณะเดียวกัน ถ้าไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย ก็มีหวังตั้งภพชาติอีกต่อไปโดยไม่ต้องสงสัย
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติในสมาธิขั้นใดก็ตาม ปัญญาจึงควรมีแอบแฝงอยู่เสมอตามโอกาสที่ควร เฉพาะอัปปนาสมาธิด้วยแล้ว ควรใช้ปัญญาเดินหน้าอย่างยิ่ง ถ้าไม่อยากรู้อยากเห็นจิตที่มีเพียงความสงบสุขอยู่อย่างเดียว ไม่มีความฉลาดรอบตัวเลยเท่านั้น
.......................................
คัดลอกจากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ต่อจากตอน "พระเณรไม่เชื่อคำเตือนจนเกือบเกิดอันตราย" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-04.htm
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี