"วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร" เป็นวัดเก่าแก่ อยู่เลขที่ 72 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคนั้นเป็นวัดราษฎร์ เรียกว่า วัดเจ๊สัวหง หรือ แจ๊สัวหง หรือ เจ้าสัวหง หรือ วัดขรัวหง เพราะตั้งตามชื่อของเศรษฐีชาวจีนผู้สร้าง คือ นายหง วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดหลวงชั้นโท คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งตามทะเบียนเลขที่ 102 ถนนวังเดิม 2 หรือ ถนนอิสรภาพ 28 แขวงวัดอรุณเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ใกล้กับวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และกองทัพเรือ (พระราชวังธนบุรีเดิม)
วัดหงส์รัตนารามฯ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมศรัทธาของประชาชนทั่วไปแล้วยังมีข้าราชการ นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายท่านรวมถึงนักธุรกิจ และดารา ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระเทพปริยัติมุนี (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร มาสนทนาธรรมและร่วมทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิตที่วัดหงส์รัตนารามเห็นอยู่บ่อยครั้ง และจะได้นิมนต์พระเทพปริยัติมุนี ไปร่วมสวดทำพิธีในงานมงคลสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อกันว่าจะสร้างความเป็นสิริมงคล ส่งเสริมความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับจิตใจตามความเชื่อ
ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีเศษวัดหงส์รัตนารามฯ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จนเมื่อพระเทพปริยัติมุนี หรือเจ้าคุณมีชัย (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม มาเป็นเจ้าอาวาสฯท่านได้ทะนุบํารุงปฏิสังขรณ์วัดจนมีสภาพสวยงามดังปัจจุบันโดยจะสังเกตเห็นได้ว่าข้าราชการทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระเทพปริยัติมุนี มาสนทนาธรรมและร่วมทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในชีวิตที่วัดหงส์รัตนารามฯ เห็นอยู่บ่อยครั้ง บางท่านก็อุปสมบทภายในวัดนี้ อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป้นพระสงฆ์อีกรูปในวันที่ 8 ตุลาคม 2563
สำหรับวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ทางเว็บไซด์ https://sites.google.com/site/krurungnet/wad-hngs-ratnaram ได้รวบรวมประวัติและสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด "วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร" ไว้ดังนี้....
"วัดหงส์รัตนาราม" เดิมเรียกกันว่า "วัดเจ๊สัวหง" สร้างโดยเศรษฐีชาวจีนในสมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงสถาปนาพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิ ในคราวเดียวกับที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือนอก) เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตไปแล้ว ประชาชนผู้เคารพนับถือพระองค์ได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น เรียกกันว่า ศาลเจ้าพ่อตากสินวัดหงส์ เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนโดยทั่วไป ต่อมาสมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมจนสำเร็จบริบูรณ์ พระอุโบสถ มีพาไลแบบศิลปะรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูลักษณะจีนปนฝรั่ง ลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูและหน้าต่างได้รับการยกย่องในฝีมือมาก ภายในมีจิตรกรรมสีฝุ่นเขียนใส่กรอบกระจกเรื่องรัตนพิมพวงศ์ ( ตำนานพระแก้วมรกต ) ฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน "วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร"
1. พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
2. พระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่น เรื่องรัตนพิมพวงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) เป็นฝีมือช่าง ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ภาพทั้งหมดใส่กรอบกระจก และประดับด้วยไม้แกะสลักอย่างสวยงาม
3. หลวงพ่อแสน ซึ่งสร้างขึ้นจากสัมฤทธิ์นวโลหะ ประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกเศษ หรือ 24 นิ้วครึ่ง หลวงพ่อแสนเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ อำนวยความสำเร็จให้แก่ผู้ปรารถนาได้นานาประการ
ส่วนในตำนานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บอกไว้ว่า พระแสนองค์นี้อัญเชิญมาจากเมือง เชียงแตง ในปีมะเมีย พ.ศ. 2401 และนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดหงส์ แต่ในบันทึกบางเล่ม บอกไว้ว่า พระครูท่านหนึ่งอพยพมาจากเขมร แล้วมาพำนักอยู่ที่ตำบลเชียงแตง และได้เรี่ยไรเงินญาติโยม ก่อนนำทองแดงและทองเหลืองหนัก 160 ชั่ง หล่อเป็นพระพุทธ รูปขึ้นมาองค์หนึ่งพร้อมกับถวายพระนามว่า พระแสน ซึ่งมาจากการที่คิดน้ำหนักได้ทั้งหมดแสนเฟื้อง
4. พระพุทธรูปทองโบราณ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย แต่เดิมพระพุทธรูปนี้เป็นปูนปั้น จนเมื่อปูนที่หุ้มอยู่กระเทาะออก จึงได้เห็นเนื้อโลหะข้างในว่ามีสีทองอร่าม ที่ตั้ง ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
วัดหงส์รัตนาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชาวบ้านเรียกว่า "วัดเจ๊สัวหง" หรือ "วัดเจ้าสัวหง" ตามชื่อของเศรษฐีชาวจีนผู้สร้าง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่า "วัดหงส์รัตนาราม" วัดนี้มีสถานที่และปูชนียวัตถุที่สำคัญ 3 สิ่ง คือ
สิ่งที่ 1 ยอมรับว่าปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองเราในทุกวันนี้ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เล่ากันว่าเมื่อครั้งมีการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปี 2325 ด้วยท่อนจันทร์ ปรากฏว่าพระโลหิตของท่านตกลง ณ ที่แห่งนี้ จึงได้สร้างศาลขึ้นมา
สิ่งที่ 2 สระน้ำมนต์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะเสด็จมาสรงน้ำที่เมื่อมีพิธีสำคัญของแผ่นดิน ที่กลางสระน้ำจะมีหินอาคมอยู่ ผู้ใดที่มาอาบ-กิน ก็ต้องคารวะและอธิษฐานจะได้อำนวยผลสัมฤทธิ์ดังที่ดธิษฐานไว้
สิ่งสุดท้ายคือมีพระพุทธรูปทองโบราณ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นฝีมือประติมากรชั้นเยี่ยม พระพุทธรูปทองโบราณ เดิมนั้นองค์พระได้ถูกพอกด้วยปูนปั้น เมื่อทำการกะเทาะปูนออกจึงพบองค์พระเป็นทองเนื้อห้า โดยบริเวณฐานพระมีตัวอักษรสมัยอู่ทองจารึกอยู่ลักษณะองค์พระถือเป็นแบบอย่างพุทฑศิลป์สมัยสุโขทัยที่งดงามสมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะ "หลวงพ่อแสน" วัดหงส์ฯ
พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ นวโลหะ ชื่อ หลวงพ่อแสน เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปรางมารวิชัย หน้าตักประมาณ 2 ศอกเศษ หรือประมาณ 25 นิ้วครึ่ง เป็นโลหะเนื้อสัมฤทธิ์สีทองต่างกันเป็น 4 ชนิด ดังนี้ เบื้องพระศอตอนบนจนถึงพระเศียรและพระพักตร์สีทองเป็นนวโลหะสัมฤทธิ์แก่ เบื้องพระศอตอนล่างลงมาจนถึงพระองค์ และฐานรองสีทองสัมฤทธิ์เนื้ออ่อนกว่าตอนพระเศียรและพระพักตร์ เนื้อทองจีวรเป็นอีกสีหนึ่งเข้มกว่าเนื้อทองส่วนพระองค์ แต่ไม่เข้มกว่าตอนพระพักตร์และพระเศียร
ส่วนผ้าทาบสังฆาฏิก็เป็นเนื้อทองอีกชนิดหนึ่ง แตกต่างจากจีวรและสีพระองค์ พระพักตร์และพระเศียร แต่เป็งสังฆาฏิชนิดยาวทาบลงมาถึงพระนาภีแบบลังกาวงศ์พระเกตุมาลาหรือพระรัศมีเป็นเปลวยาวขึ้นแบบลังกาวงศ์ รอบฝังแก้วผลึก 15 เม็ดนิ้วพระพัตถ์ไม่เสมอกันแบบพระเชียงแสน และสุโขทัยยุคแรก พระเศียรโตเขื่องกว่าส่วนพระองค์จนสังเกตเห็นชัด พระเนตรฝังแก้วผลึกในส่วนสีขาวและฝั่งนิลในส่วนสีดำฐานรองเป็นแบบบัวคว่ำบัวหงายประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเบื้องหน้าพระองค์พระประธานออกมา จัดเป็นพระพุทธรูปสำคัญและงามเป็นพิเศษแตกต่างจากบรรดาพระพุทธรูปอื่น ๆ มีลักษณะเป็นชนิดหนึ่งหาเหมือนพระพุทธรูปในที่อื่นไม่เป็นพระเก่าโบราณ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นมูลเหตุ ในหนังสือชุมชนพระบรมราชาธิบายในพระองค์ท่าน เพื่อให้ผู้อ่านทราบเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อแสน ซึ่งมีพระราชดำรัสเป็นลักษณะทรงโต้ตอบกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ใจความว่า
"ถ้าฉันพอใจจะให้มีพระพุทธรูปสำคัญมีชื่อที่คนนับถือ อยู่ที่วัดหงส์ ฯ เป็นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ให้เป็นพระเกียรติยศแล้ว พระชื่อพระแสนอยู่เมืองเชียงแตงอีกพระองค์หนึ่งงามนักหนา ถ้าฉันจะมีตราไปเชิญมาท่านจะให้พระยาราชโยธาที่ครั้งนั้นเป็นพระยาสุเรนทร์ใช้คน ให้นำไปชี้องค์พระให้ ฉันเห็นว่าท่านประสงค์ดังนั้น ไม่มีเหตุที่ควรจะขัดฉันก็ไม่ได้ขัด ฉันก็ได้ให้มหาดไทยมีตราไปเชิญ พระนั้นลงมา พระยาสุเรนทร์ใช้พระลาวรูปหนึ่งเป็นผู้รับอาสานำไป ฉันก็ได้ให้ผ้าไตรไปถวายพระสงฆ์ลาวรูปนั้นหนึ่งไตร แล้วก็ให้นำทองตราไป ได้เชิญพระแสนลงมาถึงกรุงเก่าแล้ว ฉันก็ได้บอกถวายวังหน้า ให้ท่านจัดการไปแห่รับมาไว้ วัดหงส์ทีเดียว แลฐานที่จะตั้งพระนั้น ฉันให้ท่านทำเป็นการช่างในพระบรมราชวัง ฉันจะเป็นแต่รับปิดทอง ฐานพระนั้นก็ยังทำค้างอยู่บัดนี้ก็ยังไม่ได้ปิดทอง ว่ามาทั้งนี้เป็นการเล่าถึงเหตุที่เป็นแลถ้อยคำที่ได้พูดกันแล้วแต่ก่อนนี้ไป ให้ท่านทั้งปวงทราบ"
พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2401 ลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1858 ข้อความว่าดังนี้ ฉันขึ้นไปถึงกรุงเก่า ได้นมัสการพระแสนเมืองเชียงแตงแล้ว รูปพรรณเป็นของเก่าโบราณนักหนา แต่เห็นชัดว่าอย่างเดียวกับพระแสนเมืองมหาชัยแน่แล้วของคนโบราณจะนับถือว่า พระแสนองค์นี้ องค์ใดองค์หนึ่งจะเป็น ของเทวดาสร้างฤๅว่าเหมือนพระพุทธเจ้าแท้ แล้วจึงถ่ายอย่างกันข้างหนึ่งเป็นแน่แล้ว แต่เมื่อดูสีทองแลชั้นเชิงละเอียดไป ดูทีเห็นว่าจะพระแสนเมืองเชียงแตงจะเก่ากว่า สีทองที่พระเศียรและพระพักตร์ เป็นสีนากเนาวโลหะเช่นกับพระอุมาภควดีเก่า ในเทวสถานหมู่กฤๅพระนาสิกก็ดูบวมมากเหมือนกันทีเดียว ที่พระองค์ พระหัตถ์พระบาทนั้น สีทองเป็นอย่างหนึ่ง ติดจะเจือทองเหลืองมากไป ทีผ้าพาดนั้นเป็นแผ่นเงินฝังทายทับลง แต่ดูแน่นหนาอยู่ พระแสนองค์นี้ฉันถวายแล้ว โปรดทรงพระดำริดูเถิด จะให้ไปเชิญลงมาเมื่อไรอย่างไรก็ตามแต่จะโปรด
สำหรับประวัติความบังเกิดขึ้นของหลวงพ่อแสน วัดหงส์รัตนาราม ซึ่งได้จากตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ รวม 3 ฉบับคือ
1. ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี
2. ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ ปฐม)
3. ฉบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ กับเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ ว่าไว้ ดังนี้ พระภิกษุรูปหนึ่ง ฉลาดไหวพริบดีและแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นชาวเมืองพาน ได้รับยกย่องเป็นราชาจั่วและได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุ มีพระสงฆ์นั่งหัตถบาสถึง ๕๐๐ รูปในพระอุโบสถน้ำ โดยพระเจ้า เมืองเวียงจันทร์ถวายอุปการะ ต่อมาได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นพระครู และจำพรรษาอยู่ ณ วัดโพนเสม็ด เรียกชื่อว่า “พระครูโพนเสม็ด”
ต่อมาเจ้านครเวียงจันทร์พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงราชสมบัติได้เป็นเจ้าเมือง พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วย ศิษยานุภาพศิษย์ชาวบ้าน และมเหสีพระโอรสเจ้าเวียงจันทน์เดิม จึงทิ้งถิ่นเดิมอพยพย้ายกันเป็นหมู่ใหญ่จำนวนนับพันมาอยู่ยังตำบลจะโรย จังวา คือตำบลบ้านแหลม ซึ่งต่อมาตำบลนี้เป็นนครพนมเปญ
พระครูโพนเสม็ดประสบศุภนิมิต คือได้พระบรมธาตุจากยายเป็นผู้ถวาย จึงสร้างเจดีย์เป็นพนมขึ้นแล้วบรรจุพระบรมธาตุนั้นไว้ ณ ทีเจดีย์พนมนี้ แล้วท่านจึงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง ได้แต่เพียงพระเศียรลงมาถึงพระกรขวา เกิดเรื่องพระจ้ากรุงกัมพูชาจะเก็บส่วยเป็นเงินครัวละ ๘ บาท พระครูโพนเสม็ดจึงพาญาติโยมเคลื่อนที่ขึ้นไปตามลำน้ำโขงโดยลำดับแล้วมาอธิษฐานของที่อยู่อาศัย ด้วยอำนาจกุศลธรรมของ ท่าน ก็เกิดเกาะเป็นหาดขึ้นเรียกกันว่า “หาดท่านพระครู” ในปัจจุบัน
พระครูโพนเสม็ดและญาติโยมก็อยู่พำนัก ณ ที่นี้ และสร้าง พระพุทธปฏิมากรต่อพระอังสาพระกรเบื้องซ้ายตลอดพระแท่นรองสำเร็จแล้วให้ศิษย์ไปนำส่วนพระเศียรและพระกรเบื้อง ขวามาต่อสวมเข้าเป็นองค์บริบูรณ์ ตรงนั้นเรียกเกาะหาดเกาะทรายมาจนบัดนี้ แล้วขนานนามพระปฏิมากรองค์นี้ว่า “พระแสน” และสร้างวิหารประดิษฐาน ณ ที่นี้ พระครูโพนเสม็ดรูปนี้เป็นผู้ให้กำเนิดเมืองเชียงแตงและนครจำปาศักดิ์พร้อมทั้งเจ้าท้าวพระยาอีกด้วย และท่านยังได้สร้างพระพุทธปฏิมากรองค์ อื่น ๆ อีก
เมื่อพิจารณาตามประวัตินี้หลวงพ่อแสนได้กำเนิดจากพระครูโพนเสม็ด ในเนื้อที่สองแห่ง คือ ที่บ้านแหลมต่อมา กลายเป็นราชธานีนครพนมเปญ และเกาะหาดเกาะทรายซึ่งต่อมาในบริเวณที่แถบนี้กลายเป็นนครจำปาศักดิ์
ศิษย์ของพระครูโพนเสม็ดเป็นเชื้อสายเจ้านคร เวียงจันทร์เดิม พระนามว่าเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกรู โดยท่านเป็นผู้สถาปนาขึ้น และพระโอรสเจ้าสร้อยศรีสมุทร องค์สุดท้อง ทรงพระนามว่า พระไชยเชษฐ์ ครองเมืองเชียงแตง คือบ้านหางโค ปากน้ำเซกอง ฝั่งโขงตะวันออกบัดนี้นับว่า หลวงพ่อแสนเป็นพระฤกษ์อันสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ และเป็นพระต้นสกุลองค์หนึ่งของพระแคล้วลานช้าง
กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงให้เหตุผลไว้ในหนังสือพุทธเจดีย์ว่า “พุทธเจดีย์แบบเชียงแสนเป็นต้นแบบต่อไปถึง ประเทศลานช้าง คือ เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทร์ ลงมาจนถึงเมืองจำปาศักดิ์” ดังนี้ นัยนี้คำว่า “พระแสน” ก็หมายเอา “พระสมัยฝีมือเชียงแสน” นั่นเอง แต่เรียกสั้นก็ว่า “พระแสน” ฉะนั้นหลวงพ่อแสนองค์นี้ นับเข้าเป็นพระงามยิ่งองค์หนึ่งในบรรดาพระพุทธรูปลานช้างที่งามด้วยกันคือพระแสนวัดหงส์ ฯ นี้องค์หนึ่งและ พระแสนกับพระเสริม วัดปทุมวรารามอีก ๒ องค์ด้วยกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดไว้ในประเภทพระพุทธรูปสำคัญทรงพระนิพนธ์ประวัติไว้ในตำนานจองพระองค์ท่านดังนี้ “พระแสน” (เมืองเชียงแตง) พระพุทธรูปองค์นี้ เชิญมาแต่เมืองเชียงแตงเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม”
สถาปัตยกรรมภายใน"วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร"
สมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ วัดหงส์รัตนาราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ จังหวัดกรุงเทพฯ เศรษฐีชาวจีนชื่อ "หง" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเรียกว่า "วัดเจ้าสัวหงหรือเจ๊สัวหง" ในสมัยกรุงธนบุรีถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางศาสนา เนื่องจากอยู่ติดกับเขตพระราชฐานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมามีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3
พระอุโบสถ มีพาไลแบบศิลปะรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูลักษณะจีนปนฝรั่ง ลายปูนปั้นที่ซุ้มประตูและหน้าต่างได้รับการยกย่องในฝีมือมาก ภายในมีจิตรกรรมสีฝุ่นเขียนใส่กรอบกระจกเรื่องรัตนพิมพวงศ์ ( ตำนานพระแก้วมรกต ) ฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4
หอไตร ที่ฝาปกนเขียนลายรดน้ำปิดทอง นประตูสลักเป็นลายเครือเถาฝีมือช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์
พระพุทธรูปทองโบราณ เดิมนั้นองค์พระได้ถูกพอกด้วยปูนปั้น เมื่อทำการกะเทาะปูนออกจึงพบองค์พระเป็นทองเนื้อห้า โดยบริเวณฐานพระมีตัวอักษรสมัยอู่ทองจารึกอยู่ลักษณะองค์พระ ถือเป็นแบบอย่างพุทฑศิลป์สมัยสุโขทัยที่งดงามสมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง
พระอุโบสถ มีพาไลรอบแบบรัชกาลที่ 3 เป็นพระอุโบสถใหญ่ ลายสลักไม้ที่บานประตูด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปหงส์เกาะกิ่งไม้ ลายปูนปั้นซุ้มประตูและหน้าต่างได้รับการยกย่องว่ามีความงามเป็นเลิศแห่งหนึ่ง มีลักษณะเป็นแบบจีนผสมตะวันตก มีพระประธานปูนปั้นและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีนามว่า "หลวงพ่อแสน" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญมาจากเมืองเชียงแสน เมื่อ พ.ศ. 2401
นอกจากนี้แล้วยังมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นฝีมือช่างในรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4 เรื่อง รัตนพิมพวงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) ใส่กรอบกระจกแขวนอยู่ในพระอุโบสถ ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและได้ทำการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมชุดนี้เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525
ขอขอบคุณเจ้าของภาพ "ยุทธเศรษฐ วังกานนท์" และ "วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร"
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี