“ถึงแม้ว่าเราออกแบบถนนให้รถเก๋งใช้ในปัจจุบัน จากที่ประเมินมา มองที่ผ่านดีกว่า คือตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป 3-5 ดาว ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40% อีก 60% 17% อยู่ที่ 1 ดาว ความเสี่ยงสูงสุด 43% คือได้ 2 ดาว เราไม่มี 0 ดาว 1 ดาวคือต่ำที่สุดแล้ว ฉะนั้นโดยภาพรวมเราสามารถบอกได้ว่า ณ ปัจจุบันเอาแค่คนที่ขับขี่ใช้รถเก๋ง อย่างที่พวกเราใช้ๆ กัน 60% อยู่บนถนนที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง”
ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการประเมินสภาพความปลอดภัยของถนนในประเทศไทย โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2559 นำร่องบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล (ยาวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์) กับที่ จ.ภูเก็ต รวมระยะทางกว่า 1 พันกิโลเมตร แม้ยังไม่ใช่ทั้งประเทศ แต่ก็บอกถึงความเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนของประชาชนชาวไทยได้พอสมควร
และหากผู้ใช้รถยนต์ 4 ล้อ ยังมีความเสี่ยงถึงร้อยละ 60 ของถนนตัวอย่างข้างต้น ผู้ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ (ซึ่งเป็นพาหนะยอดนิยมของคนไทย เห็นได้จากยอดจดทะเบียนสะสมและจดทะเบียนใหม่แต่ละปีมากกว่ารถยนต์) จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77 นอกจากนี้หากเป็นคนเดินเท้า จะมีความเสี่ยงที่ร้อยละ 84 และผู้ขี่จักรยานมีความเสี่ยงสูงสุดคือร้อยละ 91 จึงไม่ต้องแปลกใจที่กับกรณีข่าวนักปั่นจักรยานต่างชาติเอาชีวิตมาทิ้งในเมืองไทย
การประเมินสภาพถนนนี้เป็นภารกิจของ “ThaiRAP (Thailand Road Assessment Programme)” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับองค์กร International Road Assessment Programme (iRAP)ที่วิเคราะห์ถนนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้ทางแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือคนเดินเท้า รถยนต์ มอเตอร์ไซค์และจักรยาน จัดอันดับจาก 1 ดาว คือ เสี่ยงมากที่สุด ไปจนถึง 5 ดาว คือ เสี่ยงน้อยที่สุด
“การประเมินถนนของ iRAP จะใช้ตัวชี้วัดที่เป็นสากล” สามารถเทียบกันได้ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา “แต่กว่าจะออกมาเป็นผลประเมินของถนนแต่ละเส้นต้องใช้เวลาพอสมควร” เริ่มจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม เช่น นับปริมาณรถ-คน วิเคราะห์กายภาพเชิงเรขาคณิตของถนน “ประเมินกันละเอียดทุกๆ 100 เมตร” ดังนั้นสมมุติว่าหากเป็นถนนระยะทาง 1 กิโลเมตร จะมีผลการประเมินเป็นดาวออกมาถึง 10 จุด
ผลวิเคราะห์ล่าสุดข้างต้นที่ ศ.ดร.เกษม เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2563 ในการประชุมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom เรื่อง “ถนนแบบไหนที่ประเทศไทยต้องการ” (สามารถชมการบรรยายฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ Youtube ชื่อคลิป “zoom ThaiRAP ศาสตราจารย์เกษม” วันที่ 10 ต.ค. 2563) อธิบายปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย โดยเน้นไปที่ “ถนน-สิ่งแวดล้อม” เพราะการใช้หลักวิศวกรรมสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมที่ลดพฤติกรรมเสี่ยงของคนหรือยานพาหนะได้
อาทิ ทางแยกนอกเมือง แม้จะมีสัญญาณไฟจราจรและหลายแห่งสามารถตั้งเวลานับถอยหลังในแต่ละฝั่งได้ แต่ระบบนี้จะถูกเปิดใช้เฉพาะช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น นอกเหนือจากเวลาดังกล่าวมักจะเปิดเป็นเพียงไฟเหลืองกะพริบ เมื่อรถที่ขับมาคนละด้านต่างคิดว่าตนเองอยู่ในทางหลักทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่หยุดหรือชะลอ หรือถนนนอกเมือง กลางคืนไม่มีไฟส่องสว่างหรือไม่มีป้ายบอกว่าข้างหน้าเป็นทางโค้ง เหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ
ขณะที่ทางด่วนจุดทางแยกซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุรถตู้ที่คนขับไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหน ทำให้พุ่งชนขอบแยกตกลงไปมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ซับแรงกระแทก หากรถมาชนอย่างน้อยก็ไม่ตกลงไปข้างล่าง เช่นเดียวกับต้นไม้สองข้างทางที่มักจะมีข่าวรถยนต์เสียหลักพุ่งไปชนและมักมีผู้เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้งจุดไหนหากตัดออกได้ก็ตัด แต่หากไม่ต้องการตัดออกอย่างน้อยก็ควรมีแนวกั้น ก็จะช่วยลดความสูญเสียได้
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า “มนุษย์ผิดพลาดได้เสมอ” วันนี้อารมณ์ดีจิตใจแจ่มใสก็ขับรถมีมารยาทรักษากฎจราจรตามปกติ ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้คนคนเดียวกันอาจเจอเรื่องร้ายมาจนมีอารมณ์หงุดหงิด เกิดอาการหัวร้อน กลายเป็นโชเฟอร์ตีนผีขับซิ่งหวาดเสียวได้เช่นกัน หรือการไม่ชำนาญเส้นทางซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุที่พบในข่าวอุบัติเหตุอยู่เนืองๆ และ “มนุษย์เปราะบางกว่าที่คิด” การออกแบบถนนและสภาพแวดล้อมเผื่อความผิดพลาดนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
“เรื่องเกาะสี ถนนที่เวลาเราขับไปต่างจังหวัด อาจจะไป2 เลน กลับ 2 เลน แต่ที่แบ่งทิศทางการจราจรบนถนนเราใช้แค่เส้นสีตีเส้นไว้ มันมีโอกาสได้เสมอที่จะเกิดการชนแบบประสานงาขึ้น คือรถจากทิศทางตรงกันข้ามพุ่งเข้ามาชนหากันได้ ทำอย่างไรจะแก้ตรงนี้ เทคโนโลยีหรือศาสตร์ทางวิศวกรรม ง่ายๆ ทำเป็นแบริเออร์แทน ถ้าเราติดแบริเออร์ จบ! มันจะไม่มีการชนประสานงาบนถนนเส้นนั้น” ศ.ดร.เกษม ยกตัวอย่าง
ศ.ดร.เกษมยังกล่าวต่อไปถึงอีกตัวอย่างหนึ่งคือ“ถนนเยาวราช” กรุงเทพฯ ในยามค่ำคืนจะมีผู้คนมาเดินหาของกินอร่อยๆ กันอย่างเนืองแน่นถึงขั้นล้นจากทางเท้าลงมาบนถนนซึ่งอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้ การประเมินรอบแรกของ iRAP ถนนเยาวราช จึงได้เพียง 1 ดาว หรือหมายถึงมีความเสี่ยงสูงในกรณีเป็นคนเดินเท้า วิธีแก้ง่ายๆ คือแบ่งช่องสัญจรโดยนำแผงเหล็กมากั้นระหว่างรถกับคน คะแนนความปลอดภัยของคนเดินเท้าก็เพิ่มขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2573 ถนนร้อยละ 75 ของประเทศต่างๆ ต้องได้มาตรฐานอย่างน้อย 3 ดาว ส่วนถนนสร้างใหม่ต้องออกแบบให้ได้มาตรฐาน 3 ดาวตั้งแต่แรก ส่วนการศึกษาของ ธนาคารโลก (World Bank) และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า หากลงทุนเพื่อยกระดับดาวได้ จาก 1 ดาว ไป 2 ดาว หรือจาก 2 ดาว ไป 3 ดาว จะทำให้ความสูญเสียหรือต้นทุนที่เกิดความสูญเสียในอุบัติเหตุทางถนนลดลงได้ โดยทุกๆ ดาวที่เพิ่มขึ้นลดได้ถึงร้อยละ 50 จึงเป็นการลงทุนพิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่า
“ท่านที่คุ้นเคยกับการวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ ปกติจะมองเรื่อง Benefit Cost Ratio ความคุ้มค่าเท่าไร ต้นทุนที่ใช้เป็นเท่าไร เช่น ซื้อของมา 10 บาท ขายได้50 บาท กำไร 5 เท่า Benefit Cost Ratio ก็คือ 5 : 1 เรื่องของการแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย หรือจุดที่ได้คะแนนดาวต่ำ ประเทศไทยได้ความคุ้มค่าที่ 34 : 1 แปลว่าเราลงทุนแก้ไข ใช้งบบาทเดียวแต่ได้ผลกลับมา 34 เท่า ตัวเลขนี้สูงเป็นประเทศต้นๆ ของโลก
ค่าเฉลี่ยทั้งโลกอยู่แค่ 8 : 1 คือลงทุน 1 บาทได้กำไรคืนมา8 บาท แต่เพราะประเทศไทย อุบัติเหตุเป็นปัญหาที่รุนแรง เยอะและเรื้อรังมานาน เขาวิเคราะห์ออกมาให้เสร็จสรรพ ลงทุนเพียงแค่บาทเดียวได้กำไร 34 บาท แล้ว 8 : 1 นี่เขาคิดหมดทุกประเทศไม่ว่ารวยหรือจน เฉลี่ยออกมา 8 : 1 แต่ประเทศไทยได้ตัวเลข 34 : 1 เป็นลำดับต้นๆ ของโลก” ศ.ดร.เกษม กล่าวในท้ายที่สุด
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี