การ “เลี้ยงวัวชน” คือวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนไทย ที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ในฐานะส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวนาไทยแบบดั้งเดิม ที่ใช้แรงงานคนและสัตว์ในการผลิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อการสันทนาการหลังฤดูกาลไถหว่านและเก็บเกี่ยวข้าว แล้วค่อยๆ พัฒนารูปแบบจนเป็นกีฬาประจำท้องถิ่น “ชนวัว” ที่นิยมของชาวปักษ์ใต้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช จะเห็นว่าเกือบทุกบ้านที่เลี้ยงวัวชน บางบ้านเลี้ยง 2-3 กว่าตัว หรือมากกว่านั้น
วันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะแนวหน้าออนไลน์” จะพาไปดูวิถีชีวิตการเป็นอยู่ของการเลี้ยงวัวชน ที่แม้มุมมองของคนภายนอกจะมองว่านี่เป็นเพียงการพนัน แต่ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตแล้ว วัวชนเหล่านี้มีคุณค่าและความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่น เป็นการสร้างงาน กระจายรายได้ และสานความสัมพันธ์ของผู้คนภายในชุมชนได้อย่างดีเลยทีเดียว
“ภานุพงศ์ ชูทอง” หรือ “น้องต้น” เด็กชายอายุพียง 15 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 8/1 หมู่ 7 ต.ท้ายสำเภา อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ที่คุ้นเคยกับการเลี้ยงวัวชนตั้งแต่เด็กๆ ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า “ชาวนครศรีธรรมราชส่วนมากจะเลี้ยงวัวชนกันเกือบทุกบ้าน เพราะเป็นวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นวิถีชีวิตของคนนครศรีธรรมราช โดยจะมีสัตว์เลี้ยงไว้ เพื่อหารายได้ อาทิ วัวชน ไก่ชน นกกรงหัวจุก นกเขา เป็นต้น”
ก่อนอื่นเลยก่อนที่เราจะเลือกวัวชนที่ดี ก็จะต้องคัดมาจากวัวชนที่มีลักษณะดีไปผสมพันธุ์กับวัวตัวเมียที่มีลักษณะที่ดีเช่นกัน โดยการเลือกวัวตัวเมียจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ กระชับ ไม่ป่วย ซึ่งวัวตัวเมียจะมีลูกได้ปีละ1ตัว ลูกวัวแรกเกิด-1ปี ราคาจะอยู่ประมาณ 8,000 บาท หรือมากกว่านั้น ส่วนวัวชนอายุประมาณ 2-4 ปี ราคาประมาณ 40,000-50,000 บาท หรือมากกว่านั้นเช่นกัน ถ้าวัวที่ยังไม่มีการชนจะดูกันที่ลักษณะของวัวและเนื้อของวัว ถ้าเนื้อมากก็จะขายได้ราคาดีกว่า เขาเรียกกันว่าราคาเนื้อ
ภานุพงศ์ ชูทอง เล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อวัวถูกวางคู่ชน จะต้องฟิตร่างกายให้วัวก่อน คือ วัวจะต้องกินหญ้า เช้า กลางวัน เย็น และต้องพาเดินออกกำลังกายทุกเช้า ตอนเย็นต้องพาไปอาบน้ำ หลังอาบน้ำเสร็จก็จะนำขมิ้นเหลืองมาทาเขาให้มัน เพื่อรักษาเขาให้แข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมที่จะประลองกับคู่ต่อสู้ ที่สำคัญวัวที่จะจับคู่ชนกันจะต้องมีขนาดตัวที่ใกล้เคียงกัน เขาของมันจะต้องใกล้เคียงกันด้วย และน้ำหนักของวัวก็สำคัญ เพราะถ้าวัวเราน้ำหนักน้อยกว่าคู่ต่อสู้อาจจะแพ้ได้ แต่ก่อนวัวจะชนจริงจะต้องมีการซ้อมก่อนโดยการพาไปประลองในสนามซ้อม
ทั้งนี้ วัวชนที่แข็งแรงจะต้องกินหญ้าที่เฉพาะของมัน นั้นคือ “หญ้าหวาย” เพราะจะปลูกเอง หรือบางคนอาจจะปลูกขาย โดยการใส่แต่ปุ๋ย ไม่มีการใส่ยาฆ่าแมลง เพราะจะทำให้ร่างกายของวัวป่วยได้ แต่ถ้าวัวที่ไม่ติดคู่การเลี้ยงก็สามารถกินหญ้าทั่วไปได้
“วัวที่ติดคู่ชนจะต้องไปอยู่ที่สนามชนวัว 1 เดือน เพื่อปรับสภาพให้วัวผ่อนคลาย และชินกับสนามจริง ตากแดด และพาเดินทุกเช้า เงินเดิมพันสูงสุดในประเทศไทยสูงสุดประมาณ 24 ล้านบาท ที่เคยมีมา การเลี้ยงวัวชนมีรายได้หลายทาง คือ เลี้ยงเพื่อวางเดิมพัน หากชนะราคาวัวก็จะสูงขึ้น จากราคา 50,000บาท จะขึ้นไปอยู่ที่ 100,000-200,000 บาท และเลี้ยงเพื่อขายเนื้อ ส่วนขี้ของมันก็ยังทำรายได้อีก เนื่องจากสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย ซึ่งขายได้กระสอบละ 60 บาท” น้องต้น กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่า “ชนวัว” เป็นวัฒนธรรมและกีฬาพื้นเมืองของภาคใต้ สำหรับในประเทศไทยอาจเป็นความนิยมที่เริ่มมาจากการเลี้ยงวัวไว้บริโภคของชาวมุสลิม แต่พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ปรากฏความนิยมอยู่บ้างเช่นกัน ซึ่งการแข่งเพื่อความสนุกสนานนี้อาจมีให้พบเห็นได้จนถึงประเทศลาว
โดยการแข่งขันกระทำโดยการปล่อยวัวหนุ่มที่แข็งแรงให้พ้นจากคอก ให้วัวผู้ทั้งสองฝ่ายตรงรี่เข้าปะทะกัน ใช้พละกำลังและอาวุธคือเขาเข้าต่อสู้ สัตว์ทั้งสองต้องใช้กำลังยืนหยัดต่อสู้ไม่ยอมถอยเพื่อชัยชนะ ส่วนใหญ่ของผู้ชมที่รายรอบรอชมการชนวัวนั้น ล้อมรอบกันแน่นขนัดก็เพื่อต้องการเห็นชัยชนะและกำลังความแข็งแกร่งของวัวผู้ตัวที่ชนะ บางคนก็เลือกที่จะชมร่างกายที่สวยงามของวัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่มักเพิ่มการพนันขันต่อ เพื่อเพิ่มการลุ้นและการเชียร์วัวตัวที่ชอบได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ วัวที่นิยมใช้แข่งขันเป็นวัวที่มีรูปร่างบึกบึนกำยำ เขา ส่วนหัว ลำตัว และขาหน้า ต้องแข็งแรง เมื่อวิ่งเข้าปะทะหัวชนกัน เสียงดังสนั่น เมื่อตัวใดตัวหนึ่งไม่ยอมถอยหรือวิ่งหนี ก็ต้องชนกันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดแรงหรือได้รับบาดเจ็บจนพ่ายแพ้ไป
ปัจจุบัน... การชนวัวชนได้ขยายไปถึงการเลี้ยง “ไก่ชน-ปลากัด-นกกรงหัวจุก” ที่นิยมเลี้ยงกันมากในภาคใต้ มักเห็นจนชินตา อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสต้องลองไปชมการชนวัวที่สนามจริงดูสักครั้ง คุณจะเห็นมุมมองและภาพสะท้อนของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี