“สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19” ทำให้ผู้คนไม่ว่าวัยเรียนหรือวัยทำงานต้องอยู่บ้านนานนับเดือนในช่วง
ล็อกดาวน์ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างมากจากผลกระทบของโรคระบาด กลายเป็นช่องทางให้บรรดา “เว็บไซต์การพนันออนไลน์” สามารถโฆษณาชักชวนโดยใช้ถ้อยคำที่เล่นกับความรู้สึกที่ไม่มั่นคง อาทิ “มีเงินใช้ช่วงโควิด , “หาเงินค่าเทอม”, “ลงทุนง่ายได้เงินไว” เป็นต้น
ข้อมูลจาก สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย พบว่า การระบาดของโควิด-19 แม้ธุรกิจหลายอย่างจะซบเซา แต่ธุรกิจพนันออนไลน์กลับตรงกันข้าม เว็บพนันออนไลน์ผุดเป็นดอกเห็ดเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว รวมแล้วมากถึง 440 เว็บไซต์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์โดยเฉพาะการใช้บรรดาคนดังหรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด (เนตไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์) ทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ โดยใช้รูปแบบของ “เกมได้เงิน” เป็นกลยุทธ์หลอกล่อ
สอดคล้องกับผลสำรวจ “สถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2563” โดย ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ภายใต้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ
มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี พบว่า เล่นเกมออนไลน์ 3-10 ชั่วโมงต่อวันมากถึงร้อยละ 30 รองลงมา เล่นเกมออนไลน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ที่สำคัญคือร้อยละ 10 ระบุว่า มีการพนันในเกมที่เล่น จึงเห็นได้ว่าการพนันซุกซ่อนอยู่ในโลกออนไลน์ เพิ่มโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย 32 องค์กร วางแนวทางความร่วมมือในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ที่นำไปสู่การขยายผลในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยออนไลน์อย่างเป็นระบบ ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญคือ การพนันออนไลน์ ที่มีการเก็บข้อมูลพบว่าเว็บไซต์หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเป็นอันตรายที่เด็กเข้าถึงมากที่สุด มีเรื่องการพนันเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 22 โดย พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มสช. มองว่า ความน่ากลัวของธุรกิจพนันออนไลน์นั้นอยู่ที่การส่งโฆษณากระตุ้น
“จัดโปรโมชั่นดึงดูดใจพร้อมกับทำให้การเล่นพนันง่ายยิ่งขึ้นด้วยการผูกบัญชี โดยเฉพาะการพนันฟุตบอลที่มูลค่าการแทงบอลในเทศกาลสำคัญสูงหลายสิบล้านบาท แม้ว่าจะดำเนินการปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 200 เว็บไซต์ เมื่อเดือนก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ก็ยังไม่อาจควบคุมได้ สิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่การปราบปราม คือการให้ความรู้เรื่องวิกฤติสุขภาพจากพนันออนไลน์ชวนให้สังคมเห็นภาพรวมว่าการพนันมีผลต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่แค่เรื่องผิดกฎหมาย แต่กระทบวิธีคิด สุขภาพจิตการเรียน แม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวัน” พงศ์ธร กล่าว
ผู้จัดการโครงการ มสช. กล่าวต่อไปว่า “ปัญหาการพนันและพนันออนไลน์เกี่ยวข้องกับสังคมโดยตรง ดังนั้นควรผลักดัน
ปัญหาการพนันให้อยู่ในระดับเดียวกับยาเสพติด” เพราะการพนันส่งผลต่อสุขภาพคล้ายกับการใช้สารเสพติด เรียกกันว่า “โรคติดพนัน (Gambling Addict)” ซึ่งก่อให้เกิดโรคจิตเวชและมีผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อครอบครัว แม้กระทั่งการทำงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านบัญชีหรือดูแลการเงิน หากมีปัญหาติดการพนันจะไปเพิ่มความเสี่ยงกับบริษัทได้
ทั้งนี้ “การที่เด็กและเยาวชนเล่นการพนัน ส่วนหนึ่งมาจากคนในครอบครัวชอบเล่นการพนัน การพนันอยู่ในสายเลือด
จึงไม่ใช่คำเปรียบเทียบ แต่เป็นเรื่องจริง” จึงต้องอาศัยการจัดการสภาพแวดล้อม ชี้แนะให้เยาวชนรู้ถึงอันตรายของการ
เล่นพนัน ที่สำคัญอย่าปล่อยให้นโยบายการปราบปรามการพนันเกิดขึ้นเฉพาะบางช่วง แต่ต้องเพิ่มบุคลากรในการประสานทำงานอย่างเป็นระบบ ด้านคณะรัฐมนตรีและภาคสังคมควรตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดการผลักดันแก้ปัญหาในระยะยาว
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาการพนันและการพนันออนไลน์ในระยะยาว มสช. ซึ่งทำงานร่วมกับทั้ง ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผ่าน Health Policy Brief เรื่องการจัดการและรับมือกับปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากพนัน มีข้อเสนอว่า ต้องยกระดับปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากการพนันให้เป็นวาระแห่งชาติ
การพนันรวมถึงโรคติดพนันเป็นประเด็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่มีผลกระทบต่อผู้เล่น ครอบครัว ชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ดังนั้น การเข้าใจธรรมชาติของภัยอันตรายจากพนัน ประชากรกลุ่มเสี่ยง การผลักดันนโยบายที่ช่วยสนับสนุนผู้ปฏิบัติงาน ด้านการบำบัดรักษา คุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงการทำให้ผู้เล่นพนันเกิดการ “เล่นอย่างร่วมรับผิดชอบ” จะเป็นทางไขปัญหาการพนันและการพนันออนไลน์ในสังคมไทยให้ดีขึ้นได้
สำหรับสถานการณ์การพนันออนไลน์ ตัวเลขที่คาดการณ์กันไว้อยู่ในวงเงินระดับหลายแสนล้านบาท และตัวเลขนักเสี่ยงดวงหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน ด้านหนี้สินจากการพนันก็ทวีคูณจากปี 2560 ที่ขณะนั้นพบว่า ผู้เล่นพนันมีหนี้สินจากการพนันประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยคนละประมาณ 13,000 บาทต่อคน
“โลกของการพนันนั้นเข้าง่ายออกยาก” โดยเฉพาะการพนันที่อยู่ในสังคมดิจิทัล เล่นง่าย ได้เงินไวในช่วงแรกก็อยากเล่นต่อ แต่เมื่อเล่นเสียก็ยิ่งเล่นต่อแบบถลำลึกเพราะอยากได้เงินคืน คนที่หลงเข้าวงจรของนักพนันจึงกลับตัวได้ยาก ทั้งนี้เมื่อคนในครอบครัวกลายเป็นนักพนันก็จำเป็นต้องใช้การรักษาเช่นเดียวกับยาเสพติด โดยครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญ มอบกำลังใจ ให้การยอมรับ และพาให้ก้าวออกมาจากโลกการพนัน
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาโรคติดการพนัน โทร.1323 สายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน!!!
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี