สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านมาแล้วปีเศษและยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววันแม้หลายประเทศจะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความสูญเสียด้านสุขภาพ มีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายจำนวนมากเท่านั้น ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เมื่อภาครัฐใช้มาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รวมถึงปิดประเทศจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน ก็ส่งผลให้กิจการมากมายต้องปิดตัวลงและผู้คนนับไม่ถ้วนต้องกลายเป็นคนว่างงาน
“ผมคิดว่ารอบนี้น่ากลัวกว่าเดิม โดยประเด็นเชิงพฤติกรรมผู้บริโภค เราพบว่ามีประเด็นของความไม่สนุกตื่นเต้น คราวที่แล้วจะมีประเด็นของความสนุกตื่นเต้น อยู่บ้านทำอะไรดี ทำอาหาร ทำขนมขายดีกว่า ไปเจอจุฬามาร์เก็ตเพลส-ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน มีของเล่นใหม่ไม่เคยเล่นให้เล่นเต็มเลย มันก็จะเกิดเรื่องของการใช้จ่ายขึ้น มันก็ไปกระตุ้นในมุมของการตลาด พอพฤติกรรมผู้บริโภคสนุกมันก็มีเรื่องของการอุปโภค-บริโภค แต่รอบนี้ไม่มี จะเห็นว่าไม่มีใครเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องหาเรื่องสนุกเล่นมาถ่ายคลิปทำขนมขายโน่นนั่นนี่ ไม่มี! เพราะฉะนั้นรูปแบบการใช้จ่ายในประเทศจะชะงักงัน นี่คือประเด็นแรกเวลาเราดูเศรษฐกิจเราดูเรื่องการใช้จ่ายในประเทศก่อน
อย่างที่สองตัวเลขนี้น่ากลัว ถ้าสมมุติการใช้จ่ายในประเทศมีปัญหา เราไปดูเรื่องการลงทุนข้ามประเทศ ตอนแรกเรามีความตั้งใจอยู่เหมือนกันที่รัฐบาลจะเปิดให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ปรากฏว่าพอเกิดเหตุการณ์ขึ้น การเปิดให้เข้ามาในประเทศมากขึ้นก็จะต้องชะลอออกไป ฉะนั้นการลงทุนในประเทศที่จริงๆ ติดลบอยู่ประมาณ 10% เดิมแล้วก็จะติดลบลงหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะอันเก่ามันยังมีการลงทุนที่เป็นการลงทุนต่อเนื่อง ลงทุนไปแล้วก็ต้องเติมเงินมา ตอนนี้ลงทุนใหม่ไม่เกิดเลย พอลงทุนใหม่มันไม่กระดุกกระดิก ท้ายที่สุดแล้วเงินลงทุนในระยะยาวมันจะสายป่านขาด”
มุมมองจาก เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธ.ค. 2563 เป็นต้นมาที่พบศูนย์กลางการระบาดจากตลาดอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร และจากบ่อนการพนันใน จ.ระยอง ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน ก่อนจะลุกลามไปในหลายจังหวัด ทำให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและจังหวัดต่างๆ ต้องกลับมาใช้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงอีกครั้ง ตามความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
อาจารย์เอกก์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกในประเทศไทยเบาบางลง แม้จะยังไม่สามารถเปิดรับชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาได้ แต่สินค้าต่างๆ ที่ผลิตในไทยยังสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้อย่างไม่ยากเย็นนักเพราะนานาชาติค่อนข้างไว้วางใจด้านความปลอดภัยจากโรคร้าย แต่เมื่อสถานการณ์กลับมารุนแรงอีกครั้ง มาตรการตรวจคัดกรองสินค้าไทยโดยประเทศปลายทางก็อาจเข้มงวดขึ้น
เมื่อการใช้จ่ายของคนในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออกได้รับผลกระทบ จึงทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเหลือเพียงการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น เช่น การเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หรือโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน (อาทิ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน) แต่ก็เป็นเพียงมาตรการกระตุ้นระยะสั้น นี่เป็นเหตุผลว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 รอบนี้จึงรุนแรงกว่ารอบแรก โดยเฉพาะ “การว่างงาน” เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง
“ประเทศไทยไม่ค่อยเกิดปัญหาการว่างงาน ช่วงที่จะถึงเราจะพบว่าจะเกิดปัญหาการว่างงานแน่นอน เพราะรุ่นที่แล้วเราเห็นบัณฑิตจบใหม่ยังตกงานอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคน ได้ฟังคุณมาริสา สุโกศล จากสมาคมโรงแรม ท่านก็บอกว่า เอาแค่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมอย่างเดียว ก็ประเมินว่าถ้ามันโดนระลอก 2 ขนาดนี้ เผลอๆ จะมีคนหลุดออกมาจากโรงแรมและท่องเที่ยวประมาณ 8 แสนคนนั่นหมายความว่าคนเดิมๆ ที่หางานไม่ได้มี 4 แสนคนคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็ถูก Lay-Off (เลิกจ้าง) ออกมาอีกก้อนใหญ่ และยังไม่ทันหายใจ เดือนเม.ย.-พ.ค. 2564 นี้ก็จะปิดเทอมแล้ว ปิดเทอมหมายความว่าเด็กเรียนจบเมื่อเด็กเรียนจบก้อนใหญ่อีกเกือบ 1 ล้านคน
เมื่อเอา 4 แสนคน บวกก้อนใหญ่ที่กำลังจะถูก Lay-Off บวกกับก้อนใหญ่ที่กำลังจะจบใหม่นี้นี่คือสิ่งที่เรากลัวที่สุดทางเศรษฐกิจ ผมว่ามีสิทธิ์ที่จะถึง 2 ล้านคน พอได้ตัวเลขมาแบบนี้เรารู้สึกตกใจ มันหมายความว่าจะมีคนที่ไม่มีรายได้เป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือเขาก็ไม่ใช้จ่าย เศรษฐกิจก็นิ่งไปกันใหญ่ เรื่องนี้มีคนบอกว่ามันเป็นภูเขาน้ำแข็งซึ่งเราเห็นแล้วว่าบนยอดภูเขาน้ำแข็งเป็นเรื่องใหญ่มากแต่พอไปใกล้ภูเขาน้ำแข็งเราจะเห็นว่าที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งใหญ่กว่าข้างบนอีก 4 เท่า” อาจารย์เอกก์ ระบุ
นั่นคือสภาพของปัญหา แต่อีกด้านหนึ่ง “หลายพื้นที่หรือกิจการพบการปรับตัวเพื่อให้พออยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตินี้ไปได้” อาจารย์เอกก์ ยกตัวอย่างอาทิ “MBK” หรือห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 ภาพที่คุ้นชินคือ ชาวต่างชาติจำนวนมากนิยมมาเดินเลือกซื้อสินค้า กระทั่งวิกฤติโรคระบาดได้ส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปพบการปรับตัวด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ของห้างฯ ให้เป็นศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาในราคาที่ไม่แพงเพื่อดึงนักเรียนชาวไทยมาใช้บริการ
ขณะเดียวกันยังมีเชิญหน่วยงานภาครัฐมาตั้งศูนย์บริการประชาชน เช่น สรรพากร กงสุล สำนักงานเขตฯลฯ ทำให้ในอนาคตเมื่อประชาชนต้องติดต่อราชการกับหน่วยงานเหล่านี้ อาทิ ทำบัตรประจำตัวประชาชน ทำหนังสือเดินทาง ชำระภาษี MBK ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจะเดินทางไปที่สำนักงานของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ทำให้ห้างฯ พลอยได้รับอานิสงส์จากลูกค้าที่เป็นคนไทยไปด้วย แม้รายได้จะไม่มากเท่าเมื่อครั้งยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากก็ตาม
หรือ “พื้นที่ท่องเที่ยวในตัวเมือง จ.ภูเก็ต” สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขตตัวเมือง มีการพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยในจุดที่เรียกว่า “ถนนดีบุก” วางแนวทางควบคุมปริมาณคนไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยใช้วิธีการง่ายๆ คือติดสติ๊กเกอร์ที่เสื้อของนักท่องเที่ยว ซึ่งสีของสติ๊กเกอร์จะไม่เหมือนกันในแต่ละคาบเวลา และมีการเตือนผู้เดินอยู่ในพื้นที่นานจนอาจจะลืมว่าหมดเวลาแล้ว ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของที่นี่ยังดูเป็นสถานที่ปลอดภัยจากโรคระบาด ดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยวได้อย่างสบายใจ
รวมถึง “The Cassette Music Bar” ร้านอาหารกึ่งบาร์ซึ่งมีจุดขายด้านการเปิดเพลงหรือแสดงดนตรีสดในยุคเทปคาสเซ็ท ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีลูกค้าจำนวนมาก แต่เมื่อช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย. 2563 ที่มีการใช้มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้โรคระบาดเป็นวงกว้าง ทางร้านตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนเป็นรายได้ให้กับนักดนตรี เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ไว้ เป็นต้น
“ไม่ต้องมาที่ร้าน ทำคอนเสิร์ตออนไลน์ แล้วก็มีวิธีการหาสตางค์ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือไม่ได้ขายอาหาร-เครื่องดื่มแล้ว แต่เป็นรูปแบบของการบริจาค ทำโน่นทำนั่นทำนี่ ขายเสื้อ ก็จะเป็นรูปแบบการทำธุรกิจรูปแบบอื่น ถามว่าคนเป็นนักดนตรีต้องเลิกเล่นดนตรีไหม? ในกรณีนี้ไม่ต้องเลิกเล่นดนตรี แต่คนขายอาหารต้องเลิกขายอาหารไหม? ก็มันขายไม่ได้แล้วก็ไม่เป็นไร ก็หา Business Model (รูปแบบธุรกิจ) อื่น
แต่สิ่งที่ไม่เคยทิ้งเลยคือลูกค้าเดิมกลับเข้ามาเหมือนเดิม แล้วมันไม่จำกัดด้วยขนาดของร้านอีกแล้ว ลูกค้าเป็นหมื่นๆ ที่สมัยก่อนจองแล้วไม่เคยไปได้ก็ได้โอกาสเข้าไปดูแล้วก็ซื้อเสื้อ บริจาคเงินดูแลนักดนตรี-นักร้องที่เขาชอบ ก็สามารถทำได้ ประเด็นคือให้มองว่าถ้ายังมีลูกค้าอยู่ ให้คิดว่าเราทำอะไรกับลูกค้าได้บ้าง อย่าเพิ่งคิดว่าจะเปลี่ยนธุรกิจอย่างไร” อาจารย์เอกก์ ขยายความให้เห็นภาพการปรับตัวของร้าน The Cassette Music Bar
นักวิชาการด้านการตลาดผู้นี้ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กรณีที่มีการถกเถียงกันในสังคมว่ารัฐบาลควรประกาศล็อกดาวน์หรือไม่ เพราะหากล็อกดาวน์แล้วจะได้จัดงบประมาณมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยว่า เรื่องนี้เหมือนคำถามไก่กับไข่ ด้านหนึ่งถ้าไม่ประกาศล็อกดาวน์ การออกมาตรการรวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาก็จะเป็นเรื่องยากกว่าการประกาศล็อกดาวน์
แต่อีกด้านหนึ่ง การประกาศล็อกดาวน์จะทำให้ธุรกิจบางอย่างทำไม่ได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็จะยิ่งหายไป ซึ่งหากผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่นย่อมไม่อยากใช้จ่าย เรื่องนี้เป็นความสมดุลที่ต้องระมัดระวัง เพราะไม่ได้อยู่ที่เพียงการจ่ายล็อกดาวน์แล้วเยียวยาได้การเยียวยาเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่จ่ายเดือนละ 5,000 บาท ก็ได้เพียง 2-3 รอบ แต่ในฝั่งเศรษฐกิจมหภาคนั้นรับคำว่าล็อกดาวน์ไม่ได้ หากได้ยินคำว่าล็อกดาวน์ ความเชื่อมั่นลูกค้าหายไปมากๆ หรือพอเวลา 3-4 ทุ่มก็ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว เรื่องการค้าจะหายไปอีกมหาศาล
“วันนี้มันมี Balance (สมดุล) หลายฝ่าย ขณะนี้เราคุยกันถึงเศรษฐกิจธุรกิจเองก็ตาม แต่บางทีปุ่มล็อกดาวน์อาจจะไม่ได้อยู่ฝั่งเศรษฐกิจธุรกิจเพียงอย่างเดียว ปุ่มล็อกดาวน์อยู่ที่สาธารณสุขค่อนข้างมากแล้วคนที่มีอำนาจ Convince (โน้มน้าว) ค่อนข้างมากในกรณีนี้ก็คงจะเป็นทีมแพทย์ คือท้ายที่สุดก็เป็นเช่นนั้นเอง คือ Balance ในหลายมุมมาก ในเศรษฐกิจด้วยกันเองก็ต้อง Balance แถมยังต้อง Balance ระหว่างเศรษฐกิจกับมุมอื่นๆ ที่กำลังมีเรื่องกันอยู่ นักเศรษฐศาสตร์บอกอย่าล็อกเลย หมอก็บอกล็อกเถอะจะได้เจ็บแต่จบ” อาจารย์เอกก์ กล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามาตรการเยียวยาเป็นนโยบายระยะสั้นซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่มาตรการระยะสั้นต่างๆ ก็มีข้อควรระวัง การออกนโยบายระยะสั้นควรทำแต่ต้องมีนโยบายระยะยาวควบคู่กันด้วย ซึ่งวันนี้ตนเป็นห่วงเรื่องนโยบายเลื่อนจ่ายภาษี โดยในปี 2563 จากเดิมที่จ่ายเดือนมี.ค. มีการเลื่อนให้จ่ายในเดือนส.ค. แล้วในปี 2564 จะเลื่อนอีกหรือไม่เพราะเริ่มมีเสียงเรียกร้องบ้างแล้ว
รวมถึงนโยบายเลื่อนการชำระหนี้สินต่างๆ เช่น บ้าน รถยนต์ ฯลฯ ด้วยที่เริ่มมีเสียงเรียกร้องอยากให้เลื่อนอีกแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้สุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบกับระบบการเงินในประเทศไทย ดังนั้นจึงฝากข้อคิดถึง“ผู้ประกอบการ” ว่า “ขอให้คิดเสียว่านโยบายช่วยเหลือของรัฐเป็นเพียงของขวัญ เพราะการรอความหวังให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ หมายถึงการนำธุรกิจไปผูกไว้กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้” เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมรัฐได้ ผู้ประกอบการทำได้เพียงดูแลลูกค้า ระมัดระวังคู่แข่ง และสร้างโอกาสทางธุรกิจ หารูปแบบใหม่ๆ ทางธุรกิจเท่านั้น
ขณะที่ “ปัจเจกชนหรือบุคคลทั่วไป” นั้นมีคำแนะนำ 5 ข้อ คือ 1.รักษาความน่าเชื่อถือ (Credit) ให้ดี ใครมีเงินอยู่แล้วพอจะปิดบัญชีหนี้สินได้ก็ให้ชำระหนี้ให้ครบถ้วนเรียบร้อย อย่ายืมเงินใครแล้วเบี้ยวหนี้ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ ชีวิตจะไม่มีทางออก 2.เก็บเงินสด (Cash) เอาไว้ สิ่งของอะไรที่มีอยู่แล้วไม่จำเป็นจริงๆ ต่อชีวิต ขายได้ก็จงขาย เอาเงินสดมาเก็บไว้กับตัวก่อนดีกว่า
3.สร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง(Collaboration หรือ Colleague) จงระมัดระวังอารมณ์ของตนเอง และการมีเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางครั้งคนเราก็ต้องการการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังช่วยในเรื่องธุรกิจด้วย 4.ลดต้นทุนของการใช้ชีวิต (Cost) กิจกรรมหรือการบริโภคใดๆ ที่ไม่จำเป็นก็จงลดลงบ้าง และ 5.รักษาสุขอนามัย (Clean) หรือการรักษาความสะอาด อนึ่ง แม้รัฐจะออกนโยบายต่างๆ เพื่อหวังกระตุ้นการใช้จ่ายให้มีเงินเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีคำว่าสมดุลอยู่สำหรับด้านการใช้จ่ายของปัจเจกชนหรือบุคคลทั่วไป
“ใช้จ่ายแต่ไม่เกินตัว ผมคิดว่ามันมี Balance ของมันอยู่พอสมควร การใช้จ่ายคือไม่ใช่ใช้จ่ายน้อยจนไม่จ่าย การให้ระมัดระวังการใช้ Cost ไม่ได้หมายความว่าเลิกใช้ เลิกกินข้าว ไม่ใช่ไม่ต้องไปเที่ยว ถ้าสมมุติว่ายังอยากรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน ก็ช่วยดูข้ออื่นด้วย ที่บอกว่ามีเรื่องของCost เป็น 1 ใน 5 ข้อเท่านั้น กรุณาทำให้ครบทั้ง 5 ข้อโดยเฉพาะข้อของ Collaboration ช่วยมีเพื่อน มีความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้เสียทีเดียว” อาจารย์เอกก์ กล่าวในท้ายที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี