ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศ “เกษตรกรรม” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ทำให้หลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของไทยส่วนใหญ่นิยมทำอาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าจะทำนาปลูกข้าว หรือ ทำสวนผลไม้ต่างๆ อย่าง มะปรางหวานและมะยงชิด ขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ที่ให้ประโยชน์คุณค่าทางสารอาหารต่างๆมากมาย และที่สำคัญเป็นพืชเศรษฐกิจในหน้าร้อนที่นิยมปลูกกันมากอีกด้วย นั่นเพราะผลไม้ดังกล่าวมีวิตามิเอและบีสูง พร้อมทั้งมีเบต้าแคโรทีน ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงผิวพรรณ และมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอีกด้วย
“มะปราง” จัดอยู่ในพืชของตระกูลวงศ์ Anacardiaceae เป็นวงศ์เดียวกันกับ มะม่วง , มะกอก ฯลฯ เป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย , ลาว , เมียนม่า (พม่า) , กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น และมีชื่อเรียกขานนามตามท้องถิ่นไทย อย่างทางภาคอีสาน เรียกมะปรางว่า “บักปราง” , ภาษาท้องถิ่นเมืองเหนือ เรียกว่า “มะผาง” , ทางปักษ์ใต้ หรือภาคใต้ของไทยเราเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปราง” เป็นต้น
โดยลักษณะของ “มะปราง” นั้น จัดเป็นไม้ผลที่มีรูปทรงของลำต้นค่อนข้างแหลม หรือรูปทรงกระบอก มีรากแก้วที่แข็งแรง และมีใบกิ่งก้านสาขาที่หนาทึบ ลำต้นของมะปราง มีความสูงราวประมาณ 15-30 เมตรเลยทีเดียว ลักษณะของใบมะปรางจะคล้ายๆกับใบมะม่วง แต่มีขนาดเล็กกว่าและใบเรียวยาวกว่า มีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว มีเส้นใบให้เห็นเด่นชัด ซึ่งใบอ่อนของมะปราง จะมีสีม่วงแดง ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร กว้าง 3.5 เซนติเมตร ส่วนดอกของมะปราง จะออกดอกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่งแขนง ดอกของมะปราง เมื่อบานจะมีสีเหลืองเป็นดอกสมบูรณ์เพศ และมีช่อดอกยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตรเลยทีเดียว
สำหรับ “ผลมะปราง” จะมีลักษณะคล้ายไข่ไก่ทรงกลม ปลายผลเรียวแหลม โดยดอกของมะปราง 1 ช่อ จะมีผลประมาณ 1-15 ผล ซึ่งผลดิบของมะปรางจะมีสีเขียวอ่อนจนถึงเขียวเข้ม ส่วนผลที่สุกของมะปรางจะมีสีเหลืองถึงเหลืองอมส้มและส้มอมแดง ผิวเปลือกของผลมะปรางจะบางและนิ่ว เนื้อด้านในจะเป็นสีเหลืองเข้ม หรือสีออกส้มแดง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของมะปรางด้วย มะปรางจะมีรสชาติที่หวาน หรืออาจจะหวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวจัดก็ได้ โดยภายในผลของมะปรางจะมีเมล็ดพันธุ์อยู่ 1 เมล็ด มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดของมะม่วง แต่มีขนาดที่เล็กกว่า
โดยพืชตระกูล “มะปราง” แบ่งออกได้เป็นหลายสายพันธุ์ อาทิ มะปรางหวาน , มะยงชิด ,มะยงห่าง ,มะปรางเปรี้ยว หรือมะปรางที่มีรสชาติเปรี้ยวจัด เรียกกันว่า “กาวาง” ที่แม้แต่นกกาได้ชิมยังต้องสั่นหัววางเลยทีเดียว
“มะปรางหวาน” ไม่ว่าจะผลดิบหรือผลสุก จะมีรสชาติที่หวานสนิท ผลจะมีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แต่รสชาติความหวานก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่สายพันธุ์และอยู่ที่การปลูก ถ้าปลูกในที่ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ อากาศดี ไม่แปรปรวน ส่วนมากแล้วมะปรางหวานผลเล็กจะมีรสชาติที่หวานจัดกว่าผลใหญ่ แต่เมื่อเรารับประทานมะปรางหวานเข้าไปแล้วอาจทำให้เกิดอาการระคายคอ หรือคันคอได้ เพราะรสชาติที่หวานจัดของมะปรางนั่นเอง
ส่วน “มะปรางเปรี้ยว” จะมีรสเปรี้ยวทั้งผลดิบและผลที่สุกแล้ว จึงเหมาะสำหรับนำไปแปรรูปผสมกับอาหารอื่นมากกว่าที่จะนำมารับประทานกันสดๆ (นอกจากผู้ที่ต้องการ เช่น หญิงที่มีครรภ์ แพ้ท้อง) ซึ่งการแปรรูปมะปรางที่ว่านั้น เราอาจจะนำไปทำ มะปรางดอง , มะปรางแช่อิ่ม , น้ำมะปรางสดแช่เย็น เป็นต้น
ขณะที่ “มะยงชิด” เป็นมะปรางที่มีรสหวานอมเปรี้ยว หรือมีรสหวานสนิท หรือเปรี้ยวมากในผลเดียวกัน ซึ่มีขนาดทั้งผลเล็กและผลใหญ่ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มะยงชิดจะมีรสชาติหวานมากกว่าเปรี้ยว ผลดิบสีเขียวจะมีรสมะ ส่วนผลสุกสีเหลืองส้มอมแดงจึงมีรสออกหลาน ซึ่งลักษณะของเนื้อมะยงชิดค่อนข้างแข็ง มีเปลือกที่หนา แต่ถ้ามีรสเปรี้ยวมากกว่ารสหวาน จะเรียกกันว่า “มะยงห่าง”
โดย “มะยงห่าง” จะมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับผลของมะยงชิดมาก แต่ต่างกันที่รสชาติ ซึ่งมะยงห่างจะมีรสเปรี้ยวมากและมีรสหวานอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมปลูกเพื่อการค้าเท่าไร
ส่วน “กาวาง” จะมีลักษณะภายนอกคล้ายกับมะยงชิดและมะยงห่าง แต่ที่แตกต่างกันออกไปคือ กาวางจะมีรสเปรี้ยวใกล้เคียงกับ “มะดัน” โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “มีนกกาที่หิวโซ บินมาเห็นผลไม้ชนิดนี้ มีสีเหลืองสวยงาม แต่เมื่อลองจิกกินเพื่อลิ้มรสชาติก็ต้องรีบวางแล้วสั่นหัวบินหนีไปทันที” นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “กาวาง”
ซึ่งความแตกต่างระหว่าง “มะยงชิด” กับ “มะปรางหวาน” สักเกตได้ง่ายๆ คือ ขนาดผลของ “มะปราง” จะเล็กกว่า “มะยงชิด” และมะปรางบางสายพันธุ์ เมื่อรับประทานไปแล้วอาจคันหรือระคายคอได้ แต่มะยงชิดหวาน หากเรารับประทานเข้าไปแล้วจะไม่มีอาการละคายหรือคันคอเลย
โดยมะปรางผลดิบจะมีสีเขียวอ่อนซีด ผิดกับมะยงชิดที่ผลดิบจะมีสีเขียวเข้มกว่ามะปราง และมะปราง เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองอ่อน แต่มะยงชิดเมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองแกมส้ม และมะปรางผลดิบมีรสชาติมัน แต่มะยงชิดผลดิบนั้นจะมีรสชาติที่เปรี้ยวจัด แต่พอมะปรางผลสุกแล้วจะมีรสชาติที่หวานมาก แต่มะยงชิดเมื่อผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
ส่วนสรรพคุณทางยา หรือประโยชน์คุณค่าทางสารอาหารของมะปรางนั้น เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีและเบตาแคโรทีนสูง คุณค่าทางโภชนาการของสารเหล่านี้ จะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายของคนเรา เป็นการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง , เบาหวาน , ความดันโลหิต เป็นต้น เป็นผลไม้ที่มีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี และมีวิตามินบี นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารที่จะช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน , เจ็บคอ , ช่วยขับเสลด , แก้น้ำลายเหนียว และช่วยฟอกโลหิตอีกด้วย
ขณะเดียวกัน “ราก” ของต้นมะปราง ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการไข้ และถอนพิษ ผด ผื่นคัน ส่วน “ใบของมะปราง” ใช้ทำเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ และน้ำจากลำต้น ใช้เป็นยาอมกลั้วคอ ลดอาการเจ็บคอได้เป็นอย่างดี ขณะที่ “ผลสุกของมะปราง” ใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือนำมาทำแยมรับประทานกับขนมปังก็ได้เช่นกัน ส่วน “ผลดิบของมะปราง” ใช้รับประทานสดๆ จิ้มกับกะปิ หรือน้ำปลาหวานก็เข้ากันอย่าบอกใคร หรือจะนำไปแปรรูปอย่างการดอง หรือแช่อิ่มมะปรางก็ได้
“มะปราง” เป็นผลไม้ฤดูร้อน ที่เหมาะกับคนธาตุดิน หรือผู้ที่เกินในราศีพฤษภ , ราศีกันย์ และราศีมังกร โดยผู้ที่เกิดตามธาตุดังกล่าวนี้ มักจะเสี่ยงกับโรคอ้วน , ความดัน , เบาหวาน และโรคทางเดินหายใจ ดังนั้น มะปรางจึงถือได้ว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่เกิดใน 3 ราศีนี้ คือ ราศีพฤษภ , ราศีกันย์ และราศีมังกร
มะปราง มีทรงต้นค่อนข้างแหลม และมีใบมาก ไม่มีการผลัดใบนอก กิ่งก้านจึงแตกแขนงจนทึบ รากแก้วค่อนข้างที่จะแข็งแรงมาก จึงสามารถทนแรงลมพายุ และความแห้งแล้งได้ดี มะปรางดอกออกเป็นช่อ และจะมีสีเหลืองเมื่อบาน ผลของมะปรางจะมีขนาดผลโตพอ ๆ กับไข่ของนกพิราบ และก็มีสีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม ในเวลาที่ผลของมะปรางสุก จะชวนให้น่ารับประทานมาก ครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ หนังสือคัมภีร์แพทย์สมุนไพร ผลไม้สมุนไพรและพืชผักสวนครัว
เพจ https://www.facebook.com/siam.bunnag.999999999
ภาพจาก https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_15499
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี