เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่สนามยิงปืนมณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายนวมินทราชินี อ.เมือง จ.ชลบุรี มีงานแถลงข่าวการทดสอบอาวุธปืนเล็กยาวรุ่น DTI7 ซึ่งร่วมพัฒนาโดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กับ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด (KHT Firearms) ซึ่ง DTI7 เป็นปืนเล็กยาวลำกล้อง 7.5 นิ้ว ใช้กระสุนขนาด 5.56 มม.ยิงได้ทั้งระบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi Auto) และอัตโนมัติ (Full Auto) โดยสาธิตการทดสอบ 4 อย่าง ได้แก่ 1.ทดสอบความแม่นยำระยะ 15-25 เมตร 2.ทดสอบการยิงกึ่งอัตโนมัติ 3.ทดสอบการยิงต่อเนื่อง (30 นัด) และ 4.ทดสอบเชิงยุทธวิธี
นายกรณรงค์ ถึงฝั่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคเอชที ไฟร์อาร์มส์ จำกัด เปิดเผยว่า KHT เริ่มออกแบบอาวุธปืนจนสามารถจดสิทธิบัตรได้ตั้งแต่ปี 2561 จากนั้นได้นำมาเสนอกับ สทป. เพื่อขอรับการสนับสนุนให้สามารถผลิตเพื่อการทดสอบ ซึ่งจนถึง ณ ปัจจุบัน KHT ออกแบบปืนไว้หลายขนาดทั้ง 5.56 มม. 9 มม.รวมถึง .22 และ .45 เพียงแต่ขณะนี้เน้นไปที่การทดสอบปืนยาวก่อน โดยเพัฒนาให้เข้ากับสรีระของคนในทวีปเอเชีย ที่มีความสูงเฉลี่ย 165-170 ซม. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งานมากกว่าปืนที่พัฒนาโดยชาติตะวันตก
อาวุธปืนเล็กยาวรุ่น DTI7 ใช้กระสุนขนาด 5.56 มม.
"ในเรื่องการออกแบบ เราเลือกที่จะใช้ Material (วัตถุดิบ) ที่มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า หนึ่งในเหตุผลของเรื่องนั้นคือบ้านเราเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ มีโลหะทุกประเภทเท่าที่หาได้ Advance (ขั้นสูง) แค่ไหนก็ได้ เราก็ลองเอาโลหะที่คุณภาพสูงมาทดลองใช้ดู เลยได้ปืนที่ทนทาน ผ่านการทดสอบไม่ว่าจะจุ่มน้ำ จุ่มดิน จุ่มโคลน จุ่มทราย แม้แต่กระทั่ง Block Barrel ก็คือการเอาจารบีเหนียวไปอุดลำกล้องแล้วก็ยิงดูว่าปืนจะระเบิดไหม ปรากฎว่าไม่ระเบิด ก็ถือว่าเหนือกว่ามาตรฐาน" นายกรณรงค์ กล่าว
นายกรณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ระหว่างที่รอการอนุญาตจาก สทป. ทาง KHT เคยเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงอาวุธปืน มาทดสอบการใช้อาวุธปืนเล็กยาว DTI7 ซึ่งหลังจากที่คลิปการทดสอบเผยแพร่บนโลกออนไลน์ พบสียงตอบรับค่อนข้างไปทางบวก เช่น รอปืนไทยที่ออกแบบโดยคนไทยและผลิตในประเทศไทยมานานแล้ว เป็นต้น เพราะอาวุธปืนไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นของเดิมๆ คือมีเข็มแทงชนวนตีลูกแล้วมีแรงสะท้อน (Recoil) กลับมา กระทั่ง KHT เป็นรายแรกในไทยที่พัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ
พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ทดสอบปืนเล็กยาว DTI7
ขณะที่ พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ซึ่งได้ร่วมทดสอบปืนเล็กยาวรุ่น DTI7 ด้วย กล่าวว่า ใช้ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของปืนทั่วไป แต่ก็ยังต้องพัฒนาปรับแก้ในจุดที่ต้องแก้กันต่อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทัพไทยซื้อปืนลักษณะนี้มาใช้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่หลายประเทศแม้กระทั่งเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีการพัฒนาปืนของตนเองเพื่อทั้งใช้เองและส่งขาย ดังนั้นหากวันหนึ่งเมื่อปืนเล็กยาวของไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของกองทัพแล้ว ก็น่าจะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย
"เราก็พัฒนาไป ตอนนี้ 4 กระบอกเราทดสอบทดลองได้ เดี๋ยวเราก็จะปรับปรุงข้อดี-ข้อเสีย เสร็จแล้วเราจะทดลองผลิตสักไม่น้อยกว่า 50 กระบอกแล้วก็ส่งให้เหล่าทัพเขาใช้ เขาจะได้ดูว่าขีดความสามารถเป็นอย่างไร เป็นที่ยอมรับไหม ตรงนั้นก็เรียกว่าเป็นการทดสอบภาคสนามโดยหน่วยผู้ใช้ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของงานวิจัยแล้วเขาก็จะมาทดสอบ" พล.อ.พอพล กล่าว
ต้นแบบอาวุธปืนยาวเก็บเสียง ใช้กระสุนขนาด 9 มม. (ผู้พัฒนายังไม่ระบุชื่อรุ่น)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการทดสอบอาวุธปืนเล็กยาว DTI7 แล้ว ภายในงานยังมีการนำปืนต้นแบบที่ยังไม่ตั้งชื่อรุ่นมาทดสอบด้วย โดยมีลักษณะเป็นปืนยาวใช้กระสุนขนาด 9 มม.ยิงได้ทั้งระบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติเช่นเดียวกับ DTI7 แต่จุดเด่นอยู่ที่ลำกล้องปืนเป็นแบบเก็บเสียง เมื่อยิงแล้วไม่มีประกายไฟวาบจากปากลำกล้อง และแรงสะท้อนต่ำมาก โดยแหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในทีมงานพัฒนาปืนต้นแบบกระบอกนี้ ระบุว่า ทดลองผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับภารกิจบนแท่นขุดเจาะพลังงาน เนื่องจากเป็นพื้นที่อ่อนไหวเรื่องการเกิดประกายไฟ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี