อภัยภูเบศรเคลียร์ชัด ฟ้าทะลายโจรกับโควิด-19 หลังโลกโซเชียลแชร์ข้อมูลสร้างความสับสนในสรรพคุณ ยกผลวิจัยมหิดล พบสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อได้ ล่าสุดลงตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศแล้ว
เมื่อวันที่ 17 เมษายน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้แจงกรณีมีการแชร์ข้อมูลฟ้าทะลายโจรในโลกโซเชียล ที่มีทั้งจริงและเท็จ สร้างความสับสนในเรื่องของสรรพคุณ โดยภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กล่าวว่า ในฐานะที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องฟ้าทะลายโจรในการต้านโควิดเป็นคนแรกตั้งเดือนมกราคม 2563 จึงขอไขข้อข้องใจในประเด็นต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ดังนี้
ประเด็นแรก ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มียา หรือ วัคซีนใดที่จะตอบได้อย่างเต็มปาก ว่ารักษาหรือป้องกันได้จริง แต่จากการวิจัยเอกสารที่มีการทำการศึกษาวิจัยมากมายหลายฉบับทำให้เรามั่นใจว่าฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดและได้ส่งมอบเอกสารให้กับทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการระบาดระลอกแรก จนนำไปสู่การใช้ฟ้าทะลายโจรไปรักษาผู้ป่วยโควิดรายที่มีอาการน้อยและไม่มีอาการ ในโรงพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอาการน้อยหลังจากได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นทุกราย โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ก็ไม่พบว่ามีอาการภายหลัง และปลอดภัยดี
“อภัยภูเบศรจึงอยากให้มีการวิจัยฟ้าทะลายโจรเพื่อให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ จึงได้เตรียมสารสกัดฟ้าทะลายโจร ส่งให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อศึกษากลไกในการต้านโควิด-19 ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอด โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิดในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร “Natural Products” เป็นที่เรียบร้อย” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว
ในประเด็นที่สอง ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 ได้ แต่มีการศึกษาพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำ ๆ (แอนโดรกราโฟไลด์ 11.2 มิลลิกรัม/วัน) กิน 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยป้องกันหวัดได้ ซึ่งนักวิจัยได้กล่าวถึงผลในการป้องกันหวัดว่า น่าจะเกิดจากฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนอยู่มากพอควรว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในส่วนตัวเองที่เก็บข้อมูลจากหมอพื้นบ้าน ก็เห็นช่วงฤดูหนาวชาวบ้านก็กินฟ้ากัน 2-3 ใบทุกวัน สำหรับผู้ประสงค์จะใช้ฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ต้องกินฟ้าทะลายโจรขนาดต่ำ ๆ และต้องไม่ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ตับและไตต้องดี และไม่ได้กินยาละลายลิ่มเลือดที่ชื่อวาร์ฟาริน
ประเด็นที่สาม ใช้ฟ้าทะลายโจร ไม่ต้องฉีดวัคซีนใช่หรือไม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันที่จำเพาะสำหรับเชื้อโควิด ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ลดภาระของระบบบริการสุขภาพได้ การใช้ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิดและภูมิคุ้มกันจำเพาะแต่ยังไม่มีการศึกษากับเชื้อโควิดโดยตรง ดังนั้นประชาชนควรฉีดวัคซีน ซีงจะเห็นได้จากประเทศอังกฤษที่มีการฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางทำให้อัตตราการติดเชื้อลดลง
ประเด็นที่สี่ ฟ้าทะลายโจรที่เป็นสารสกัดมีฤทธิ์ดีและปลอดภัยกว่าผงบดหยาบใช่หรือไม่ ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ไม่จริงเสมอไป ขึ้นกับมาตรฐานการผลิตและโรคที่นำไปใช้ ใน Thai Herbal Pharmacopoeia กำหนดไว้ว่า ต้องมีปริมาณแลคโตนรวมไม่น้อยกว่า 6% และแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 1% ซึ่งในมาตรฐานดังกล่าวใช้สำหรับบรรเทาอาการเจ็บคอและบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยขนาดที่แนะนำ 1500-3000 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน หรือใช้สารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ก็ได้ ประมาณ 60-120 มิลลิกรัม/วันในการบรรเทาอาการเจ็บคอและหวัด
ในส่วนของโควิด-19 ที่มีใช้ในระบบบริการสุขภาพตอนนี้ ก็มีทั้งผงหยาบที่ทราบปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ และสารสกัด ดังนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ผงบดหยาบหรือสารสกัด แต่อยู่ที่ว่าผู้ป่วยได้รับปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณสูงเพียงพอต่อการรักษาหรือไม่ ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ใช้ผงบดหยาบที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 3% ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนก็อาการดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียง การสกัดนั้นโดยปกติเป็นการสกัดที่มุ่งเน้นจะให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงๆ แต่โดยทั่วไปในภาคอุตสาหกรรมเราก็สกัด แอนโดรกราโฟไลด์ได้อยู่ที่ 6% ในขณะที่เราให้เกษตรกรปลูกให้จนเริ่มออกดอก แล้วนำส่วนเหนือดินมาใช้ก็ได้ถึง 3-4% ในช่วงระบาดระลอกแรก โรงพยาบาลก็แจกเมล็ดพันธุ์พร้อมส่งวิธีปลูกให้ผู้สนใจ ตอนนี้หลายคนก็นำมาใช้บรรเทาหวัด ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ควรปลูกไว้ที่บ้าน ใช้ดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วยได้
ส่วนที่มีการส่งไลน์ต่อ ๆ กันว่า สาร 14-deoxy-11 12-didehydroandrographolide (AP 3) ที่พบในผงฟ้าทะลายโจรอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง แขนขาอ่อนแรงได้นั้น ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ยังไม่เคยเห็นรายงานดังกล่าว และว่าฟ้าทลายโจรในรูปแบบผงอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีการใช้อย่างกว้างขวางในโรงพยาบาล มีความปลอดภัยดี
อย่างไรก็ตาม ดร.สุภาภรณ์ ย้ำว่า การสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะสำคัญในการป้องกันโรค ตั้งแต่มาตรการ DMHTT การรับประทานอาหาร เน้นเครื่องเทศ ผัก ผลไม้ พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกาย และสัมผัสแดดในช่วงเช้าหรือเย็น ล้วนแล้วแต่ต้องดำเนินการเป็นองค์รวม อย่าใช้เครื่องมือเดียว เพราะโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่เรายังไม่เข้าใจทั้งหมด ยังคงต้องผนึกกำลังของเครื่องมือในการดูแลสุขภาพทุกเครื่องมือเข้าด้วยกัน
ในอนาคตอภัยภูเบศรปรารถนาให้ ประชาชน ผู้ประกอบการ รายย่อย ได้ปลูก เก็บเกี่ยว บด บริโภค แจกจ่าย ขาย ฟ้าทลายโจร เพื่อการดูแลรักษา ตนเองเป็นเบื้องต้น โดยมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน ด้วยส่งเสริมสนับสนุน ด้วยองค์ความรู้บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ฟ้าทะลายโจรหรือสมุนไพรอื่นๆ สามารถสอบถามรายละเอียดเพื่อเติมได้ที่ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ในวันและเวลาราชการที่เบอร์ 037-211-289
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี