“ชีวิตติดจอ” หรือที่มีการเรียกในทำนองประชดประชันว่า “สังคมก้มหน้า” เป็นภาพคุ้นชินสำหรับสังคมยุคดิจิทัล เมื่อโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่เชื่อมโลกทั้งใบผ่านอินเตอร์เนตไร้สายความเร็วสูงเป็นสิ่งที่ราคาเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดร่วมกับคนอื่นๆ มากเพียงใด คนจำนวนมากก็มักจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดรับข้อมูลข่าวสารเรื่องราวต่างๆ ตามแต่ความสนใจของตน
ที่งานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “พัฒนาทักษะสมอง EF ตอน Digital Polluttion มลพิษจอใส ทำลายเด็ก” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบัน RLG เมื่อเร็วๆ นี้ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องของ “จออิเล็กทรอนิกส์”หรือ “จอใส” ทั้งจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ และจอโทรศัพท์มือถือ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก
“จากการวิจัยพบว่า แม้จออิเล็กทรอนิกส์เปรียบเทียบได้เหมือนอวัยวะร่างกายชิ้นที่ 33 แต่ก็เป็นอวัยวะชิ้นที่ค่อนข้างมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต และการพัฒนาเด็กเป็นอย่างมาก จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องไตร่ตรองให้ดี ซึ่งแม้ปัญหาและผลกระทบของสื่อจะมีตั้งแต่ในอดีต เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ แต่ในปัจจุบันสื่ออินเตอร์เนตและโทรศัพท์มือถือ ได้เข้ามามีบทบาทและแทรกซึมในชีวิตประจำวันได้มากกว่าแบบอื่นๆ” ธาม กล่าว
ธามกล่าวต่อไปถึงผลกระทบต่อเด็ก ที่มีผลการศึกษาพบว่า 1.เวลาที่เด็กใช้โทรศัพท์มือถือจะไม่มีการเรียนรู้ทางด้านประสาท การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการที่เด็กได้เห็นหน้าพ่อแม่ มีกิจกรรมเล่นด้วยกัน ซึ่งดิจิทัลคือการตัดต่อข้ามขั้นตอนมา ไม่มีการสนทนากัน จึงทำให้สูญเสียการเรียนรู้ทางด้านประสาท และมารยาททางสังคมอีกด้วย 2.เวลาเด็กเริ่มเติบโตขึ้นมาแล้วเข้าสู่โรงเรียนจะทำให้มีเพื่อนเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่จะไว้วางใจโลก ที่จะใช้ชีวิตจริงๆ จึงเป็นช่วงที่เด็กจะสร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่นอกจากครอบครัว ซึ่งหาจากดิจิทัลไม่ได้
3.เด็กควรจะเรียนรู้แบบครอบคลุม (Inclusive) คือการเรียนรู้จากคนรอบตัว เช่น เพื่อน ครู สภาพแวดล้อมเป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย โดยใช้ได้จนเด็กเข้าสู่ช่วงมัธยมต้น ซึ่งไม่มีในดิจิทัลที่ไม่รู้จักตัวตนของเรา 4.เด็กๆ ต้องใช้เวลาว่าง ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้และผิดพลาด โดยในดิจิทัลกิจกรรมไม่หลากหลายพอมีเพียงแค่การก้มหน้า มองจอ ใช้มือกด แต่ในชีวิตจริงได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรี กีฬา เป็นต้น เป็นสิ่งที่เด็กได้พัฒนาทักษะรอบๆ ด้าน
5.มีงานวิจัยพบว่าสื่อสังคมออนไลน์มักมีเรื่องดราม่าเสมอ จะทำให้เด็กรับไม่ได้ เนื่องจากเด็กจะมีสังคมเพื่อนที่มีไม่กี่คน แต่สังคมออนไลน์มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ความสามารถในการรับมือกับความกดดันของเด็กมีไม่เพียงพอ และ 6.เด็กเหมาะที่จะเรียนรู้กับปัจจุบัน จะต้องรู้หน้าที่ของตนเอง ซึ่งในดิจิทัลไม่มีกาลเวลา จะทำให้เด็กๆ ไม่ได้เรียนรู้ที่ทำให้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง
รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์ด้านโรคทางระบบประสาท สถาบันชีวประสาทโมเลกุลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการ สื่อสารมักจะสนใจเรื่องของวัจนภาษา หรือภาษาพูดคุยแต่จริงๆ แล้วมนุษย์เราติดต่อกันผ่านอวัจนภาษา หรือภาษากายมากกว่า การที่จะเรียนรู้เรื่องของสีหน้าท่าทางว่ามีความหมายอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่ใช้กันมากในการสื่อสาร พัฒนาการด้านการสื่อสารจึงไม่ใช่เรื่องของภาษาพูดเพียงอย่างเดียว ทักษะด้านสังคมก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งหาไม่ได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับดิจิทัล
ขณะที่ Executive Function (EF) เป็นเรื่องหนึ่งที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน โดยเป็นตัวที่ทำหน้าที่ในการควบคุมและจัดการให้กระบวนการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อช่วยให้ทำกิจกรรมนั้นๆ ได้สำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 3 สิ่งหลักๆ ได้แก่ 1.ความจำใช้งาน รวมไปถึงกลไกที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ความตั้งใจจดจ่อ เป็นต้น 2.ความสามารถในการยับยั้งควบคุมตนเอง รวมไปถึงกลไกที่เกี่ยวกับการตรวจสอบตนเอง เป็นต้น
และ 3.ความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด เพื่อรองรับกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต นอกจากนี้ยังมี Executive Function ขั้นสูง ที่พัฒนามาจากขั้นพื้นฐานที่กล่าวไปข้างต้น เป็นกระบวนการคิดที่ใช้กับผู้ใหญ่ด้วย โดยเริ่มจากการคิดที่จะลงมือทำ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและประเมินผล ถ้าไม่ตรงตามที่ต้องการจะต้องมีการแก้ไข จึงจะต้องมีสมาธิจดจ่อ เพราะฉะนั้นเป็นทักษะสำคัญในการที่จะประสบความสำเร็จในการที่จะทำในสิ่งต่างๆ
“ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อเด็กเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กสมาธิไม่ดี ผลการเรียนแย่ลง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง ความก้าวร้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น แม่ถูกลูกที่ติดเกมคลั่งทำร้ายแม่ หรือลูกติดเกมคลั่งฆ่าพ่อ เป็นต้น การอยู่ในสังคมออนไลน์จะเพิ่มความก้าวร้าว ซึ่งการที่คนไม่รู้จักตัวตนของเราส่งผลให้ใช้ความก้าวร้าวกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกับคนในครอบครัวด้วย เพราะชินกับการใช้ความก้าวร้าวกับคนอื่น โดยเกิดจาก
1.การเลี้ยงดูในครอบครัว เกิดจากการเลี้ยงแบบตามใจ จึงจำเป็นต้องฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก และสร้างกฎเกณฑ์ในบ้าน และ 2.สังคมที่เปลี่ยนไปสู่ยุคไฮเทค ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานง่าย และสามารถติดได้ง่าย จึงทำให้เด็กใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างตัวตนใหม่ และได้รู้จักเพื่อนในโลกออนไลน์” รศ.ดร.นพ.วรสิทธิ์ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาศักยภาพเด็กไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะคิดว่าเปิดไว้เฉยๆ ไม่น่าจะมีผลต่อเด็ก แต่เนื้อหาของสื่อในปัจจุบันมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และใช้ในบริบทที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย จึงทำให้ได้รับประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ตั้งแต่วัยเด็ก และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง
นอกจากนี้การใช้สื่อหลากหลายประเภทในเวลาเดียวกันเริ่มมีมากขึ้น เช่น ในบ้านที่มีผู้ใหญ่เปิดโทรทัศน์ดูอยู่เป็นประจำ แล้วให้เด็กดูโทรศัพท์หรือแท็บเลตด้วย จากงานวิจัยพบว่าการได้รับสื่อในเด็กปฐมวัยเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 1.5 เดือน ส่วนอายุมัธยฐานประมาณ 1 เดือน และพบว่า ร้อยละ 99.7 ได้รับสื่อผ่านจอตั้งแต่อายุก่อน 1 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่สื่อที่เปิดทิ้งไว้ คือ โทรทัศน์ โดยเปิดทิ้งไว้เฉลี่ยประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน แต่บางครอบครัวเปิดทิ้งไว้ทั้งวัน
“ถ้าพ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกเยอะ จะเป็นปัจจัยป้องกันไม่ให้เข้าถึงสื่อได้ง่าย ขณะเดียวกันจำเป็นต้องเลี้ยงลูกในเชิงที่ควบคุมลูกได้ จึงจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับลูกให้มากๆ ในตอนเด็กยังเล็ก ถ้าหากเลี้ยงลูกในเชิงลบมากขึ้น เช่น ต่อว่า ตวาด ตามใจ มีโอกาสทำให้เด็กใช้จอมากยิ่งขึ้นในอายุถัดไป นอกจากนี้เรื่องของสื่อกับความรุนแรงก้าวร้าวที่เกิดขึ้นในเด็กพบว่า เด็กที่ได้รับที่ค่อนข้างรุนแรงก้าวร้าว จะมีพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ที่ก้าวร้าว จึงทำให้เด็กมีความชินชากับสื่อพวกนี้ นอกจากนี้แล้วเด็กที่ได้รับสื่อผ่านจอตั้งแต่เล็กเป็นปริมาณมาก จะทำให้มีพัฒนาการด้านภาษาช้า ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป” รศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี