เมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ เรื่อง “ยุติธรรมทัศน์กับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” (Belief in a Just World and Inequality in Thailand)” ผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฟซบุ๊คแฟนเพจ “EconTU Official” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งมีวีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำเสนอ
อาจารย์วีระวัฒน์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเดียวกับที่ในต่างประเทศใช้วิจัยเรื่องทำนองเดียวกัน ด้วยการหยิบยกแนวคิด 2 แบบ คือ “ระยะยาวงานหนักมักนำมาซึ่งชีวิตที่ดีขึ้น” กับ “โดยทั่วไปความสำเร็จเป็นเรื่องของโชคและเครือข่ายมากกว่าการทำงานหนัก” มาถามว่า “ท่านเชื่อแนวคิดใดมากกว่ากัน?” แบ่งระดับจาก 1-10 โดย 1 หมายถึง
เชื่อเรื่องทำงานหนักมากที่สุด และ 10 หมายถึงเชื่อเรื่องโชคและเครือข่ายมากที่สุด
จากนั้นได้อธิบายเรื่องของ “ชุดความคิด” ที่คนแต่ละยุคสมัยใช้มองความเหลื่อมล้ำ เช่นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 (ปี 2523-2532) แนวคิดแบบ “เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)” มีบทบาทนำ ในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก ภายใต้ชาติที่เป็นผู้นำคือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เสรีนิยมใหม่ให้คุณค่ากับการลดบทบาทของรัฐ เพิ่มเสรีภาพของตลาด และเชื่อว่า “บุคคลควรได้รับผลตอบแทนความสามารถและความพยายาม” ซึ่งความเชื่อนั้นมีผลต่อการปฏิบัติตนของแต่ละคนบนความคาดหวังของสังคมด้วย
เช่น ลักษณะที่พึงปรารถนาใน “ระบบแธตเชอร์” (มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่) ที่เคยมีผู้รวบรวมไว้ จะเป็นถ้อยคำเหล่านี้ อาทิ “การวางตัวที่เหมาะสม ซื่อสัตย์ คำนึงถึงหน้าที่ เสียสละ เกียรติยศ การรับใช้ วินัย อดทน ความเคารพ ความยุุติธรรม พัฒนาตนเอง ไว้วางใจ สุภาพ กล้าหาญ พากเพียร ชาตินิยม ใจเขาใจเรา มัธยัสถ์ ยำเกรง” จะเห็นได้ว่า “ถ้อยคำส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล” มีไม่มากนักที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
ส่วน “สังคมไทย” จะมีหลายคำที่คุ้นเคยในการอธิบายเรื่องราวความสำเร็จหรือล้มเหลวทางเศรษฐกิจ อาทิ “ลำบากวันนี้สบายวันหน้า อิสระทางการเงิน กรรมใดใครก่อกรรมนั้นคืนสนองโง่-จน-เจ็บ พัฒนาทักษะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเริ่มตันที่ตัวเอง ปรับตัวให้ทันยุคสมัย เสื่อผืนหมอนใบสู้ชีวิตไม่ย่อท้อ ผลิตภาพแรงงาน” ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกชนเช่นกัน
หรือผลการศึกษาที่เปรียบเทียบมุมมองของคนในสหรัฐอเมริกา กับคนในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่พบว่าคน 2 กลุ่มนี้มองความเหลื่อมล้ำต่างกันพอสมควร “ชาวอเมริกันมักมองว่าคนจนเพราะเกียจคร้านและเชื่อมั่นในความขยันหมั่นเพียร
ในขณะที่ชาวยุโรปมักมองว่าคนจนเพราะตกอยู่ในกับดักความยากจนและเชื่อว่าโชคเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ” ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงกว่ากลุ่ม EU แต่สหรัฐฯ กลับมีการใช้จ่ายด้านสังคมเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ต่ำกว่า EU
“คำอธิบายคืออะไร? ทำไมการเชื่อว่าคนจนเพราะขี้เกียจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ คำอธิบายคือแบบนี้ สมมุติถ้าเราเชื่อว่าคนจะสำเร็จได้ด้วยความพยายาม ความขยันหมั่นเพียร ดังนั้นคนจนก็แปลว่าแกขี้เกียจเอง ดังนั้นถ้าความสำเร็จและความล้มเหลวมันเป็นผลมาจากปัจเจกชน ถ้ามันเป็นผลมาจากปัจเจกชน การลดความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายหรือการสร้างความเท่าเทียมในเชิงรายได้ มันจึงไม่จัสติฟาย (Justify-ให้คุณค่า) มันไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเกิดคนเชื่อว่าคนจนเพราะขี้เกียจ ก็เป็นเพราะว่าการกระทำของตัวเขาเอง เป็นทางเลือกของคนที่มีอยู่ในสังคมอย่างมากมายนั่นเอง การลดความเหลื่อมล้ำจึงไม่ถูก Justify อันนี้คือคำอธิบาย” อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าว
กลับมาที่สังคมไทย อาจารย์วีระวัฒน์ ยกตัวอย่างหลากหลายความเชื่อที่น่าจะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ 1.ศาสนาพุทธ ที่มองว่า “ทุกคนสามารถเลือกทำดี-ทำชั่วได้อย่างเท่าเทียมกัน” ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ขณะเดียวกัน “สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายสูงสุดอย่างนิพพานมากนักเมื่อเทียบกับเรื่องกรรม” ซึ่งอาจตีความได้ถึงการมองโลกแบบที่ว่าคนจนเพราะเกียจคร้าน คนรวยเพราะขยันหมั่นเพียรก็เป็นได้ และแม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดกว้างเรื่องความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อมากขึ้น แต่แนวคิดข้างต้นนี้ก็ยังสามารถพบได้
2.เรื่องเล่าความสำเร็จและความล้มเหลว ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ เช่น “เสื่อผืนหมอนใบ” ชาวจีนอพยพมาอยู่บนแผ่นดินไทย แม้ของที่ติดตัวมามีเพียงเสื่อกับหมอน แต่ด้วยความขยันหมั่นเพียรทำให้สร้างเนื้อสร้างตัวจนมั่งคั่งขึ้นมาได้ อาจารย์วีระวัฒน์กล่าวว่า หนังสือชีวประวัติของผู้ประสบความสำเร็จ น่าจะเริ่มถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 2530 โดยมีจุดร่วมคือ “ความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ” เป็นคุณสมบัติสำคัญของบุคคลเหล่านี้
“ปัจจุบันคุณค่าเหล่านี้เปลี่ยนไปเยอะช่องทางหนังสืออาจไม่ค่อยมีแล้ว จะมีอยู่บ้างสำหรับคนดังๆ แต่ว่าเรามีวาไรตี้โชว์ (Variety Show-รายการโทรทัศน์ประเภทนานาสาระ) อยู่จำนวนมากซึ่งพยายามเอาคนที่เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาพูดในรายการ เนื้อหาที่ไปแกะมาก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ความขยันยังเป็นส่วนหนึ่ง ความไม่ย่อท้อยังเป็นส่วนหนึ่ง แต่มิติที่มันเพิ่มขึ้นมาในสมัยนี้คือความคิดสร้างสรรค์ การมีทักษะในการสื่อสาร การเรียนรู้ตลอดชีวิต การตัดสินใจแก้ปัญหา การหาความรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ อะไรก็ตามแต่ คือมันมีลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการเสริมเข้ามาด้วย” นักเศรษฐศาสตร์จาก มธ. ผู้นี้ ระบุ
อาจารย์วีระวัฒน์ ยังรวบรวมตัวอย่างคำสอนจากบุคคลที่เรียก (หรือถูกเรียก) ว่าอาชีพ “ไลฟ์โค้ช (Life Coach)” อันหมายถึงบรรดานักพูดหรือนักทำเนื้อหาให้กำลังใจคน ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนของแต่ละคน ไลฟ์โค้ชบางท่านอาจยกศาสนามาประกอบคำสอน เปรียบเทียบเรื่องกฎแห่งกรรมกับความเกียจคร้านและความขยันหมั่นเพียร หรือ บางท่านอาจกล่าวถึงความสำคัญของทักษะการบริหารจัดการเงิน เป็นต้น
แม้กระทั่งวิธีคิดของภาครัฐ ก็ยังสามารถพบเห็นมุมมองที่คล้ายกัน เช่น ผู้มีอำนาจบางท่านเคยให้สัมภาษณ์เรื่องที่มีคนชอบพูดกันว่าเศรษฐีทำให้คนอื่นยากจน โดยกล่าวย้อนว่าก่อนที่จะเป็นเศรษฐีต้องไปดูก่อนว่าเศรษฐีนั้นเขาสร้างตัวมาอย่างไร หรือเคยมีงานวิจัยของบางหน่วยงาน ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย หรือแรงงานไทยมีการศึกษาและมีประสิทธิภาพต่ำ หรือการผูกโยงความยากจนเข้ากับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และ 3.คุณลักษณะของคนในยุคสมัยใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากกระแสความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความขยันอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน มีผลิตภาพแรงงานที่สูง เช่น นโยบายของพรรคการเมืองบางพรรค ที่กล่าวว่าหากอยากได้ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น ประสิทธิภาพของแรงงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งที่หลักการของค่าแรงขั้นต่ำนั้นคือการจ่ายให้กับแรงงานที่ไม่มีทักษะ เพื่อให้แรงงานพอดำรงชีวิตอยู่รอดได้ จนนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้เติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต
หรือในภาควิชาการเอง งานวิจัยบางชิ้นก็ยังวิเคราะห์ปัญหาหนิ้สินกับรสนิยม เช่น เห็นว่าครัวเรือนที่มีปัญหาการจ่ายหนี้มักให้ความสำคัญกับหน้าตาทางสังคม จึงต้องมีบ้านและรถยนต์หรู ตลอดจนให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งที่ไม่มีกำลังจ่าย ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็อาจตั้งคำถามได้เช่นกันว่า การมองปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องของปัจเจกชนเป็นข้อสรุปที่ถูกต้องหรือไม่?
นอกจากแนวคิดหลักข้างต้นแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ จาก มธ. ผู้นี้ ยังกล่าวถึงแนวคิดแบบอื่นๆ ที่พบในสังคมไทย เช่น คำกล่าวที่ว่า “ขยันผิดที่สิบปีก็ไม่รวย” ที่มาพร้อมกับกระแสสังคมที่สนใจเรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (เล่นหุ้น) หรือระยะหลังๆ ที่พบคือการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แนวคิดนี้ไม่สะท้อนภาพใดๆ เกี่ยวกับความขยัน เพราะรายได้นั้นไม่ได้มาจากการเสียเวลาทำงาน แต่ก็ยังอยู่บนคุณลักษณะของคนสมัยใหม่คือการเป็นผู้มีความรู้และบริหารจัดการเงินได้ ไปจนถึงแนวคิด “รวยทางลัด” อย่างการเล่นหวยและการพนัน
อาจารย์วีระวัฒน์ ให้บทสรุปของผลงานวิชาการชิ้นนี้ไว้ว่า “การมองความสำเร็จและล้มเหลวเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล นำไปสู่ปัญหาหลายประการ” อาทิ 1.การออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำจะเน้นเพียงการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน เช่น ส่งเสริมด้านการศึกษา มุ่งเน้นช่วยเหลือคนยากจน ซึ่งก็มีข้อสังเกตว่า “สร้างโอกาสที่เท่าเทียมได้จริง
หรือไม่?” เช่น เมื่อพ้นวัยเรียนเข้าถึงวัยทำงานแล้ว ซึ่งแม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะมีเหมือนกันทุกที่แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละที่จะอนุญาตให้มีความเหลื่อมล้ำได้มาก-น้อยเพียงใด
ดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เคยมีการเปรียบเทียบแล้วพบว่า รายได้ผู้บริหารสูงสุด (CEO) สูงกว่าคนทั่วไปถึง 270 เท่า ซึ่งงานทุกงานมีหน้าที่ของตนเอง ไม่ว่าเป็นอาจารย์ แม่บ้าน คนกวาดถนน ฯลฯ แม้สังคมให้คุณค่าแต่ละอาชีพไม่เท่ากันแต่คำถามคือสังคมจะรับได้ ณ จุดใดว่าตรงนั้นคือความยุติธรรม เช่น เคยมีการสัมภาษณ์คนเก็บขยะที่ประเทศเดนมาร์ก
ได้รับคำตอบว่าชีวิตมีความสุขดีไม่เดือดร้อนอะไรมาก เป็นต้น อนึ่ง เมื่อดูนโยบายด้านภาษี พบว่าในยุโรปรายได้ก่อนและหลังหักภาษีค่อนข้างเหลื่อมล้ำน้อย 2.มองข้ามของปัจจัยอื่นๆ เช่น การคอร์รัปชั่น การใช้เส้นสาย
และ 3.บั่นทอนความร่วมมือกันในสังคม เพราะแต่ละคนจะมองว่าเหตุที่ตนเองประสบความสำเร็จเพราะสร้างเนื้อสร้างตัวมาเองด้วยตัวคนเดียว ก็จะไม่เห็นคุณค่าของคนอื่นๆ ที่อยู่ระดับล่างกว่า แต่หากไม่ประสบความสำเร็จก็จะเอาแต่โทษตนเองว่าไม่พยายามมากพอ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี