“ปัญหาของประเทศไทยคือการพัฒนาในอดีตของเราส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ สูงขึ้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ ทรัพย์สิน การศึกษาและสังคม ในด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของเรามีแนวโน้มแย่ เรียกง่ายๆ คือคนรวยรวยขึ้น คนจนก็จนขึ้น รวย-จนในที่นี้คือรายได้แต่ละปีด้านทรัพย์สิน มีรายได้ฉบับหนึ่งของเครดิตสวิส (Credit Suisse) เมื่อหลายปีก่อน บอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกในด้านทรัพย์สิน
การศึกษา โควิด-19 ทำให้เราเห็นอะไร? โรงเรียนที่ยากจนไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยที่จะใช้อุปกรณ์ทางด้านออนไลน์ในการเรียนต่อในช่วงโควิด ขณะเดียวกันโรงเรียนที่ร่ำรวยนักศึกษาสามารถมีไอแพด (iPad) มีทุกอย่าง ช่วยในการเรียนต่อในช่วงนี้ ด้านสังคมอย่างที่เห็น สังคมเราค่อนจะเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ มันนำไปสู่ที่ว่าแล้วถ้าเราต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต เราจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรบ้าง? เรามีทรัพยากรที่จำกัด ฉะนั้นเราต้องเลือกอะไร หรือจัดความสำคัญในบางอย่าง”
คำกล่าวเริ่มต้นของ ผศ.ดร.มณเฑียร สติมานนท์ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการบรรยายเรื่อง “ความเชื่อมโยงระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และความยั่งยืนในประเทศเอเชียตะวันออก” ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ไทยก็มีพันธะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ(UN) ให้บรรลุภายในปี 2573 ตามที่ไปร่วมให้คำมั่นไว้
สำหรับ SDGs นั้นมี 17 ข้อคือ 1.No Poverty (ขจัดความยากจน) 2.Zero Hunger (ขจัดความอดอยาก) 3.Good Health and Well-being (มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) 4.Quality Education (การศึกษาที่เท่าเทียม) 5.Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ) 6.Clean Water and Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) 7.Affordable and Clean Energy (พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้) 8.Decent Work and Economic Growth (การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) 9.Industry, Innovation and Infrastructure (อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน)
10.Reduces Inequalities (ลดความเหลื่อมล้ำ) 11.Sustainable Cities and Communities (เมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน) 12.Responsible Consumption and Production (แผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน) 13.Climate Action (การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) 14.Life below water (การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล) 15.Life on Land (การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก) 16.Peace and Justice Strong Institutions (สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก) และ 17.Partnerships for the goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)
“ความเหลื่อมล้ำนั้นเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ” ผศ.ดร.มณเฑียร ยกตัวอย่าง เช่น เราคงไม่สามารถไปบอกให้คนในประเทศยากจนหันมาใช้พลังงานสะอาดเพราะมีราคาแพงจึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) หรือการที่ในอดีตเชื่อกันว่าการมีงานทำช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ในความเป็นจริงค่าครองชีพในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ลำพังเงินเดือน 15,000 บาท ก็ไม่น่าจะพอ จึงมีคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไรที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำลงไปพร้อมกับการมีงานทำที่ดี เป็นต้น
เมื่อวิเคราะห์โดยใช้เทคนิค Supervised Machine Learning พบว่า 5 ข้อของ SDGs ที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในปี 2562 หรือก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คือ 3.มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4.การศึกษาที่เท่าเทียม 6.การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 9.อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน และ 16.สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
อย่างไรก็ตาม พบ SDGs 2 ข้อที่สัมพันธ์กันในช่วงนี้คือ 3.มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี กับ 14.การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ในการทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น กรณีของประเทศไทย ก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาด สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ด้านหนึ่งทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมลง แต่อีกด้านก็จำเป็นต้องแลกเพื่อให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ 5 ข้อของ SDGs ที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในปี 2563 หรือเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขึ้นแล้ว คือ 3.มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 9.อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน 12.แผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน 6.การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และ การศึกษาที่เท่าเทียม ส่วน SCGs 2 ข้อที่สัมพันธ์กันในช่วงนี้คือ 6.การจัดการน้ำและสุขาภิบาล กับ 12.แผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พบความชุกในแคมป์คนงานก่อสร้าง เนื่องจากแม้จะมีน้ำสะอาด แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีแก้วมีขวดแยกใช้
อนึ่ง บทสรุปของการศึกษา “SDGs ข้อที่ 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สำคัญที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศแถบเอเชียรวมถึงไทย” ซึ่งสำหรับไทยนั้นที่ผ่านมาก็ทำได้ค่อนข้างดี เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกนั้นได้ไทยได้รับผลกระทบน้อย หรืออัตราการตายของแม่และทารกในไทยนั้นก็ค่อนข้างต่ำมาก แต่สิ่งที่ยังต้องพัฒนาต่อไป เช่น บุคลากรทางการแพทย์ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร การวิจัยและพัฒนาวัคซีนไม่เฉพาะแต่วัคซีนโควิด-19 เงินลงทุน อุบัติเหตุทางถนนที่ไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกและส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ อัตราการเกิดที่ลดลงในขณะที่ไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย
“ถ้าเราจะลดความเหลื่อมล้ำมุ่งไปที่ไหนก่อนดี Goal (เป้าหมาย) 3 คือเรื่องสำคัญที่สุดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นอย่างบุคลากรทางการแพทย์และวัคซีน ระยะกลางลดอุบัติเหตุทางการจราจรได้ไหม? และสุดท้ายเราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ดีขึ้น อันนี้เป็นระยะยาวและเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกประเทศในโลกพยายามแก้ปัญหานี้อยู่
โดยเฉพาะประเทศเอเชียตะวันออกที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก” ผศ.ดร.มณเฑียร กล่าว
หมายเหตุ : การบรรยายเรื่อง “ความเชื่อมโยงระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และความยั่งยืนในประเทศเอเชียตะวันออก” เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 EconTU Symposium ครั้งที่ 43 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี