สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากส่งผลกระทบด้านสุขภาพแล้วยังลามไปถึงด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการและท่องเที่ยวที่กิจการจำนวนมากต้องปิดตัวลงจากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อตัดวงจรโรคระบาด อย่างไรก็ตาม “การส่งออก” ก็เป็นอีกภาคส่วนของเศรษฐกิจที่มีการตั้งคำถามว่าได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการบรรยายเรื่อง “ความอยู่รอดของการส่งออกของไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 EconTU Symposium ครั้งที่ 43 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ทำงานวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19ผลักดันให้เกิดการกระจายการส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออก แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่ชี้ว่านโยบายนี้ตอบโจทย์มาก-น้อยเพียงใด ซึ่งสำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องตอบคำถาม 3 ข้อคือ
1.ปัจจุบันไทยกระจายการส่งออกมาก-น้อยเพียงใด? หากปัจจุบันทำอยู่มากแล้ว นโยบายนี้ก็จะทำได้ยากขึ้น 2.ที่ผ่านมาแนวโน้มความอยู่รอดการส่งออกของไทยเป็นอย่างไร? การเข้าใจเรื่องนี้อย่างดีจะทำให้คาดการณ์ได้ว่าในยุคหลังโควิดทิศทางการส่งออกของไทยควรจะเป็นอย่างไร และ 3.อะไรเป็นปัจจัยกำหนดความอยู่รอดการส่งออกของไทย? หากเข้าใจเรื่องนี้ก็จะสามารถออกแบบนโยบายการส่งออกได้
เมื่อดูสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลกผ่านงานศึกษาต่างๆพบว่า 1.สินค้าส่งออกใหม่ๆ จะหายจากตลาดไปในเวลาเพียงไม่กี่ปี เช่น สินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งไปสหรัฐอเมริกา จะมีเวลาอยู่รอดเพียง 2-4 ปีเท่านั้น เช่นเดียวกับแคนาดา บริษัทส่งออกมีแนวโน้มหยุดส่งออกภายในระยะเวลาเพียง 12 เดือน หรือแม้แต่สินค้าที่เคยส่งออกมาตลอดในประเทศหนึ่งกลับไม่ได้ส่งออกอีกเลย กับ 2.ประเทศต่างๆ เผชิญความไม่มีเสถียรภาพของสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงตลอดเวลา สินค้าที่เคยมีความสามารถในการแข่งขันสูงนั้นอาจสูญเสียความสามารถได้รวดเร็ว
“ปัจจัยกำหนดความอยู่รอดของสินค้าส่งออก มันก็มีงานศึกษาที่พบว่า เช่น ประสบการณ์ในการส่งออกขนาดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า สินค้าที่อยู่ในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ แล้วก็สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีมันเป็นปัจจัยทางบวกที่ทำให้ความอยู่รอดของการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่อีกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลกันคือ Exchange Rage (อัตราแลกเปลี่ยน) ที่มันผันผวน มันกระทบต่อความอยู่รอดไหม?” ผศ.ดร.อลงกรณ์ ระบุ
วิธีการศึกษานั้นใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศจากฐานข้อมูล UNCOMTRADE ระหว่างปี 2543-2563 ยกกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คือ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และกัมพูชา และประเทศใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างจีนพบว่า 1.ไทยมีการกระจายการส่งออกค่อนข้างสูง โดยใกล้เคียงกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ดังนั้นปัจจุบันโอกาสกระจายการส่งออกของไทยน่าจะทำได้ยาก เพราะทุกวันนี้ไทยมีสินค้าส่งออกเกือบ 2,700 รายการ จากทั้งหมดของรายการสินค้าที่เป็นไปได้ 3,100 รายการ
2.จีนเป็นประเทศที่อยู่รอดอย่างมากในการส่งออกจากมูลค่าการส่งออกที่สูง แต่ไทยก็ยังอยู่ในกลุ่มที่อยู่รอดเช่นกัน โดยมีมูลค่าการส่งออกใกล้เคียงกับสิงคโปร์และมาเลเซีย 3.ในบรรดาประเทศที่อยู่รอดด้านการส่งออก จีนนั้นเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมีสินค้าที่อยู่รอดได้เกิน 5 ปีมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนไทยนั้นเป็นอันดับ 2 และเวียดนามอันดับ 3 อย่างไรก็ตาม ความเป็นอันดับ 2 ของไทยนั้นอยู่ใกล้จีนมากกว่าใกล้เวียดนาม หมายถึงไทยมีโอกาสอยู่รอดในการส่งออกมากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ ที่เหลือ 4.สินค้าในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ (GPN) มีโอกาสอยู่รอดในการส่งออกมากกว่าสินค้านอกเครือข่าย แต่ไม่ว่าจะเป็นสินค้า GPN หรือไม่ จีนกับไทยก็ยังเป็นอันดับ 1และ 2 ตามลำดับ
5.ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยไม่ได้รับผลกระทบด้านการส่งออกมากนัก แต่ในอนาคตก็ยังต้องติดตามกันต่อไป 6.สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นส่งผลให้ความอยู่รอดในการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่น ความง่ายในการประกอบธุรกิจ ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ขนาดของประเทศคู่ค้า ฯลฯ ในทางกลับกัน พบว่า ระยะทาง ประสบการณ์ส่งออก มูลค่าการส่งออกเริ่มต้นและช่วงเวลาหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) ทำให้โอกาสอยู่รอดในการส่งออกลดลง โดยเฉพาะระยะทางยังเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ส่งออก นอกจากนี้ยังพบว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีผลต่อความอยู่รอดในการส่งออก
“สรุปเป็น 3 ประเด็น ประการแรก ความอยู่รอดในการส่งออกของประเทศไทยยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ประการที่สอง อัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกต่างๆ มีความแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ภาครัฐควรทำความเข้าใจให้ดี โดยที่สินค้า GPN จะมีอัตราความอยู่รอดสูงกว่าสินค้าอื่นๆ และประการสุดท้าย ในช่วงเกิดโควิดเรายังไม่พบว่าไทยเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงของความล้มเหลวในการส่งออกอย่างชัดเจน ตรงนี้มันยังเป็น Sign (สัญญาณ) ที่ดีอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่า Sign นี้มันจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน”ผศ.ดร.อลงกรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.อลงกรณ์ ยังฝากข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1.นโยบายกระจายการส่งออกแม้ทำได้แต่มีโอกาสสำเร็จน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาไทยกระจายการส่งออกอย่างสูงอยู่แล้ว ประกอบกับในอนาคตการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ดังนั้นผู้ตัดสินใจควรเป็นภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก การชี้นำของภาครัฐนำมาซึ่งความเสี่ยง เพราะหากล้มเหลวก็ไม่สามารถเข้าไปแบกรับความเสี่ยงของภาคเอกชนได้
2.ไทยควรเร่งปรับปรุงและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคและต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งข้อเสนอนี้มีที่มาจากการจัดอันดับประเทศที่มีความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลก (World Bank)ที่จัดอันดับในปี 2563 พบว่า แม้คะแนนในภาพรวมจะอยู่ในอันดับ 21 หรือค่อนข้างดี แต่คะแนนด้านการค้าข้ามพรมแดน (Trading Across Border) ไทยอยู่เพียงอันดับ 62 ถือว่าค่อนข้างต่ำ
“ในช่วงเวลาที่มันเกิดโควิด มันน่าจะเป็นเวลาที่เราควรจะเตรียมความพร้อม และพยายามฉกฉวยโอกาสให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เวลาเมื่อโควิดจบลงไป เราก็จะได้เสริมในลักษณะของภูมิคุ้มกันให้กับผู้ส่งออกได้มากขึ้น”ผศ.ดร.อลงกรณ์ กล่าวในท้ายที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี