ยังคงอยู่ที่งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 EconTU Symposium ครั้งที่ 43 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากที่นำเสนอไปแล้ว 2 ตอน (พฤหัสบดีที่24 มิ.ย. และเสาร์ที่ 26 มิ.ย. 2564) ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการส่งออกตามลำดับ ส่วนในฉบับนี้ เป็นการสรุปการบรรยายของผศ.ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HIDE) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานวิจัยหัวข้อ “โลกคู่ขนานของตลาดแรงงานไทยในช่วงโควิด-19” โดยใช้ข้อมูลกำลังแรงงาน (Workforce)ระหว่างปี 2554-2563 และข้อมูลไตรมาสที่ 2 ของปี 2561-2563
เพื่อวิเคราะห์จำนวนแรงงาน ระยะเวลาการหางาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ชั่วโมงการทำงาน ตลอดจนผลกระทบของแรงงานจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 8 ว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีงานทำ โดยช่วงไตรมาส 1-2/2563ที่เริ่มมีการระบาดเกิดขึ้น พบจำนวนผู้มีงานทำลดลงและคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ขณะที่การหางานในช่วงไตรมาส 1-3/2563พบจำนวนผู้ที่สามารถหางานทำได้ในเวลาไม่เกิน 1 เดือนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาด
“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2554-2563 Pattern (รูปแบบ) ของจำนวนลูกจ้างและจำนวนค่าจ้างมี Pattern ที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆและเป็น Pattern ที่แปรตามสภาพไตรมาสที่คล้ายคลึงกัน จำนวนลูกจ้างถ้าเรามองลึกเข้าไปมันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ดีหรือไม่ดีในช่วงเวลาต่างๆ เราจะเห็นได้ว่าถ้าเศรษฐกิจดี จำนวนลูกจ้างและชั่วโมงการทำงานจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ถ้าเศรษฐกิจถดถอยจำนวนลูกจ้างและชั่วโมงการทำงานก็จะลดลงไปตามสภาพของเศรษฐกิจตรงนั้น” ผศ.ดร.แก้วขวัญ กล่าว
แม้วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อแรงงานทุกกลุ่ม แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงคือแรงงานที่มีวุฒิไม่ถึงระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรีขึ้นไป) ที่พบว่าค่าประมาณค่าจ้างรายเดือนลดลง ขณะที่เมื่อแบ่งตามกลุ่มอาชีพ พบว่า ค่าประมาณค่าจ้างรายเดือนลดลงในกลุ่มพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า เกษตรกรและชาวประมง ช่างฝีมือ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน
ผศ.ดร.แก้วขวัญ ระบุว่า ข้อค้นพบนี้ไม่ต่างจากในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ผู้ที่ทำงานซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง สามารถทำนอกสถานที่ได้ (อาทิ ทำที่บ้าน-Work from Home) กับผู้ที่แม้จะทำงานที่ไม่สามารถทำนอกสถานที่ได้แต่เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่นต่ำหรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญน้อยกว่า
ในการวิเคราะห์โดยแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับประเทศไทยพบว่า ค่าประมาณค่าจ้างรายเดือนเพิ่มขึ้นในแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและประกันภัย กับกลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ตรงข้ามกับแรงงานในกลุ่มเกษตร ป่าไม้ ประมง ก่อสร้าง ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การบริหารและบริการสนับสนุน ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ รวมถึงกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ที่พบว่าค่าประมาณค่าจ้างรายเดือนลดลง
ส่วนความช่วยเหลือของรัฐบาลในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า “ระยะเร่งด่วน”เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านรายจ่าย ที่พบว่ารัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มต่างๆ อาทิ ใช้ช่องทางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยพักหนี้เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงสูง ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐไว้
ขณะที่ กระทรวงการคลัง ออกหลากหลายมาตรการ ตั้งแต่เราไม่ทิ้งกัน-เราชนะ (สำหรับแรงงานนอกระบบ) คนละครึ่ง ยืดระยะเวลาการจ่ายภาษีประจำปี ส่วน กระทรวงแรงงาน ออกมาตรการ ม33เรารักกัน (สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33)ส่วนมาตรการใน “ระยะยาว” มีข้อเสนอเชิงนโยบายคือ “สร้างความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน” คือการสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การศึกษาต้องเป็นรูปแบบใด ด้านนายจ้างก็ต้องปรับตัว อาทิ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาโดยมีภาครัฐขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญต่อตลาดแรงงาน
“การสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดแรงงานไทย นำประเทศไทยไปสู่ทิศทางที่ดี ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนคือภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ตลาดแรงงานไทยมีความยั่งยืน จะสามารถ Achieve (บรรลุ) ในเรื่องหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้” ผศ.ดร.แก้วขวัญ กล่าวในท้ายที่สุด
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี