“แรงงานนอกระบบ (Informal Labour)” หมายถึงแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมรวมถึงระบบฐานภาษีเงินได้ ด้านหนึ่งแรงงานประเภทนี้มีความยืดหยุ่นในการประกอบอาชีพสูง ด้วยความที่ไม่ต้องถูกจำกัดตายตัวด้วยวุฒิการศึกษาหรือเวลาทำงาน แต่อีกด้านหนึ่ง การที่อยู่นอกระบบมักเผชิญกับความไม่แน่นอน และเมื่อความไม่แน่นอนนั้นกลายเป็นวิกฤติก็ไม่มีหรือแทบไม่มีระบบสวัสดิการใดรองรับดังเช่นสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปัจจุบันมาถึงระลอก 3 แล้ว
ในเดือน ก.ค. 2564 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา (ออนไลน์) ในชุดหัวข้อ “ผลกระทบการรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” หลากหลายสาขา โดย “สกู๊ปแนวหน้า” ครั้งนี้ (หน้า 5 ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 2564) เริ่มด้วยตอนแรกคือกลุ่ม “หาบเร่แผงลอย” ซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยในฐานะแหล่งอาหารและอาชีพของคนรายได้น้อย และยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะ “ดินแดนอาหารริมทาง (Street Food) ชั้นเลิศ” เป็นที่เลื่องลือในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติในยุคก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาด
ในงานเสวนาครั้งนี้มีตัวแทนเครือข่ายหาบเร่แผงลอย 2 เครือข่ายร่วมสะท้อนมุมมอง โดย เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ผลกระทบต่อหาบเร่แผงลอยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้หลายพื้นที่ถูกยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ขณะที่หลายพื้นที่ก็ค้าขายไม่ได้แล้วเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีคนเดินหรือออกมาทำงาน หรือมีคำสั่งปิดตลาด “สิ่งหนึ่งที่เพื่อนผู้ค้าตระหนักถึงคุณค่าของหาบเร่แผงลอยในวิกฤตินี้ คือการช่วยให้ทุกคนเข้าถึงอาหาร” แม้จะต้องอยู่บ้าน กักตัว หรือออกมาทำงานก็ตาม
ขณะที่ ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า การค้าขายในช่วงโควิดมีความยากลำยาก ทั้งการซื้อหาวัตถุดิบประกอบอาหาร ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อต่อไปยังครอบครัว “ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ค้าเท่านั้น ผู้ขายวัตถุดิบผู้ขนส่ง หรือแม้แต่ผู้ซื้อที่มีรายได้น้อยทุกคน ต่างก็ได้รับผลกระทบ” จากความซบเซาของการค้านี้ไปพร้อมกัน
นักวิชาการที่ทำงานวิจัยด้านหาบเร่แผงลอยมายาวนาน ศ.ดร.นฤมล นิราทร อาจารย์ภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคม และการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การค้าแผงลอยยังคงมีความสำคัญต่อเมืองยุคหลังโควิด แต่ผู้ค้าต้องปรับตัวและได้รับการสนับสนุนให้ปรับตัวได้ทันกับวิถีการบริโภคที่จะเปลี่ยนไป ทั้งคุณภาพและมาตรฐานโดยเฉพาะแผงลอยอาหาร (สตรีทฟู้ด)
“การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมจะมีบทบาทสำคัญตรงนี้ การสนับสนุนการปรับตัวควรตอบโจทย์ผู้ค้าที่หลากหลาย เช่น ในด้านอายุ ผู้ค้าอายุมากที่สามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าจะรายได้มากหรือน้อย ควรได้รับการสนับสนุนให้ประกอบอาชีพ ประเด็นนี้ตอบโจทย์มิติสังคมอายุยืนและวัฒนธรรมอาหาร” ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ด้าน บุญเยี่ยม เหลาสะอาด นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า “เดิมหาบเร่แผงลอยมีส่วนสำคัญในการลดค่าครองชีพของคนเมือง แต่ปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมือง การแข่งขันทางธุรกิจและการจัดระเบียบเมืองกำลังเบียดขับหาบเร่ออกจากวิถีเมือง” ยิ่งเผชิญการระบาดของโควิด ยิ่งทำให้กาาค้าขายไม่ต้องอาศัยแผงค้าเหมือนเดิม ซึ่งทั้งหมดล้วนท้าทายการอยู่รอดของหาบเร่แผงลอย ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยรายย่อยในเวลานี้ไม่ได้ต่อสู้กับการจัดระเบียบเมืองหรือโรคร้ายเท่านั้น แต่พวกเขากำลังหาทางเอาตัวรอดเพื่อปากท้อง เพื่อชีวิต และอนาคตของอีกหลายชีวิตด้วย
ปิดท้ายด้วย วิชยา โกมินทร์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนส่วนมากมองว่าหาบเร่แผงลอยทำให้เมืองไม่เป็นระเบียบ เบียดเบียนผู้ใช้พื้นที่สาธารณะอื่นๆ การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในเมืองที่ผ่านมาจึงมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ “ความจริงส่วนหนึ่งคือหาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพของผู้มีโอกาสน้อยเพื่อผู้มีโอกาสน้อยในเมือง” ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า “จะทำอย่างไรการบริหารหาบเร่แผงลอยในเมืองจึงจะมีความสมดุล” และสนับสนุนทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของทั้งผู้ค้า ผู้ซื้อและภาพรวมของเมือง โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤติโควิด
ในงานเสวนาครั้งนี้ มีบทสรุปเป็นข้อเสนอแนะ คือ 1.ควรสนับสนุนให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนและการรักษาพยาบาล 2.ควรสนับสนุนให้ผู้ค้าแผงลอยแต่ละเขต หรือสมาชิกชุมชนแต่ละชุมชน มีส่วนในการทำอาหาร (ข้าวกล่อง) และส่งอาหารให้กับผู้ที่กักตัว ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้าและสมาชิกในชุมชนยังคงมีรายได้ 3.ควรสนับสนุนผู้ที่ประสงค์จะทำการค้ามีโอกาสค้าขาย ได้แก่ การให้เงินทุนกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยรายบุคคลและกลุ่ม สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือประกอบอาชีพ
4.ควรทดลองเปิดพื้นที่นำร่องในระดับพื้นที่/ย่าน/ตลาด ในการจำหน่ายอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าทางการเกษตร สินค้าทางวัฒนธรรม สินค้าของกลุ่ม 5.ควรส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ค้าและเครือข่ายหาบเร่แผงลอยในพื้นที่/ย่าน/ตลาด เช่น การรวมกลุ่ม การค้าขายออนไลน์ การพัฒนามาตรฐานตาม
สาธารณสุข พฤติกรรมผู้บริโภคและวิถีใหม่ และ 6.ควรปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบในการทำการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม มาตรการทางสาธารณสุขหลังโควิด
ในตอนต่อไป (ฉบับวันเสาร์ที่ 17 ก.ค. 2564) จะยังคงอยู่กับงานเสวนา “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” เช่นเดิม แต่จะเป็นกลุ่ม “ผู้รับงานและทำการผลิตที่บ้าน” ซึ่งมีความสำคัญทั้งเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมแม้จะอยู่นอกโรงงาน ตลอดจนยังเป็นผู้สืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย..โปรดติดตาม!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี