มาถึงตอนที่ 4 แล้วกับชุดงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนี้เป็นกลุ่ม “ร้านนวด-ร้านอาหาร” ซึ่งเป็นกิจการสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจการเหล่านี้คือกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสั่งปิดเพื่อควบคุมโรค
นิรามัย บุญเลิศ พนักงานบาร์แอนด์เรสเตอรองค์ หรือร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับดื่มในร้านได้ เล่าว่า การถูกปิดกิจการในช่วงล็อกดาวน์รอบแรกในปี 2563 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน พนักงานหลายรายเป็นคนต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพฯ ในช่วงแรกๆ หลายคนตัดสินใจพักในห้องเช่าที่อยู่มาก่อนสถานการณ์โรคระบาด แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 1 เดือนแล้วไม่มีความชัดเจน ประกอบกับมาตรการเยียวยาที่ล่าช้าเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ แม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีระเบียบ ทำให้มีผู้แบกรับค่าเช่าที่พักไม่ไหวและตัดสินใจกลับภูมิลำเนา
จากนั้นในการระบาดระลอก 2 ที่มีการล็อกดาวน์ในเดือน ม.ค. 2564 ครั้งนี้หน่วยงานประกันสังคมมีแพลตฟอร์มรองรับไว้แล้ว ให้นายจ้างนำรายชื่อลูกจ้างยื่นได้เลย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่พนักงานต้องส่งเงินสมทบติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งมีบางคนเพิ่งเข้ามาทำงาน กระทั่งการระบาดระลอก 3ร้านถูกปิดตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ทั้งนี้ “การให้เงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะการปิดกิจการทำให้ขาดรายได้แต่หนี้สินยังเดินต่อ” สิ่งแรกที่รัฐควรทำคือ “หยุดหนี้ทุกอย่างไว้ชั่วคราว” และต้องหยุดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
“มาตรการพักหนี้ที่ออกมาล่าสุดที่บอกว่าให้ธนาคารช่วยเหลือ ก็คงต้องไปลองดูก่อนว่าธนาคารเขาจะทำอย่างไร แต่ว่าสำหรับบางคนคือมันโดนยึดไปแล้ว รถโดนยึดไปแล้วทั้งที่เขาก็พยายามเต็มที่แล้ว เราก็ไม่รู้อย่างไร อยากให้ทุกๆ ครั้งที่รัฐบาลสั่งปิด ควรจะมีกรอบกำหนดเวลาที่แน่ชัดด้วย เพื่อที่จะให้คนวางแผนชีวิตได้ว่าเขาจะต้องทำอย่างไร” นิรามัย กล่าว
จากร้านอาหารสู่ร้านนวด อีกหนึ่งธุรกิจภาคบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง พิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์แพทย์แผนไทย เปิดเผยว่า ณ เดือน มิ.ย. 2564 จำนวนพนักงานนวดที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศมีอยู่ 234,440 คนและมีอีกกว่า 1 แสนคนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ส่วนจำนวนร้านนวดที่ขึ้นทะเบียนนั้นอยู่ที่ 18,000 ร้าน ร้านสปาอีก 8,000 ร้าน ซึ่งนับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐยังไม่ชัดเจนเท่าไรกับอาชีพกลุ่มนี้ ทั้งที่เป็นกิจการแรกๆ ที่ถูกปิด ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระมาตลอด
ทั้งนี้ แม้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะเสนอให้ลดค่าต่อทะเบียนร้านนวด แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์สำหรับร้านนวดขนาดเล็ก ส่วนพนักงานนั้นมีเพียง 28,000 คนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบทั้งสิ้น ส่วนระลอกล่าสุดที่มีการสั่งล็อกดาวน์ 10 จังหวัด แล้วรัฐบาลให้แรงงานนอกระบบไปขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาตรา 40 ก็ไม่รู้ว่าจะเยียวยาได้ทั่วถึงหรือไม่
“ที่ผ่านมาระลอก 1 ระลอก 2 ระลอก 3 เราต้องไปกระทุ้งมาตลอดว่าสั่งปิดแต่ไม่เคยช่วยเหลือเยียวยาเลย ไม่ว่าจะเป็นเราชนะ คนละครึ่ง ซึ่งแอปพลิเคชั่นต่างๆ พนักงานนวด
เหล่านี้จะเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ หมอนวดร้อยละ 90 คือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่มีสมาร์ทโฟนที่จะเข้าถึงที่จะลงทะเบียนรับการเยียวยาเราชนะหรือว่าคนละครึ่งส่วนนี้ ได้แค่ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ให้ญาติหรือตัวเองมีสมาร์ทโฟนที่สามารถเล่นได้” พิทักษ์ กล่าว
พิทักษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการขึ้นทะเบียนของแรงงานนอกระบบ เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อขอรับการเยียวยานั้น เรื่องนี้กังวลว่าผู้ที่ไปลงทะเบียนตามร้านสะดวกซื้อหรือตามประกันสังคมต่างๆ จะได้รับการเยียวยาหรือไม่ เนื่องจากพบว่าครั้งล่าสุด อาชีพพนักงานนวดไม่ถูกระบุชัดในระบบฐานข้อมูล แต่เอาไปรวมกับอาชีพอิสระหรืออาชีพอื่นๆ ซึ่งเหมือนกับเมื่อการระบาดระลอกแรกแล้วรัฐบาลมีโครงการเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน ในครั้งนั้นมีพนักงานนวดเพียงร้อยละ 50 จากทั้งหมดได้รับการเยียวยา ถือว่าไม่ทั่วถึง
เช่นเดียวกับ แววดาว ศรีหาตา ผู้ประกอบการร้านนวด ใกล้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า แม้จะเป็นร้านเล็กๆ มีเพียง 3 เตียง พนักงานมีทั้งที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและคนที่ไม่มีครอบครัว แต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็มีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ลูกค้าลดลงแต่ค่าเช่าร้านไม่ได้ลดลงด้วย แต่ด้วยความที่ค่าเช่าไม่สูงก็ยังพออยู่ได้ ส่วนการปรับตัว พบว่าพนักงานบางส่วนกลับไปอยู่บ้าน และอีกส่วนก็ไปทำงานอย่างอื่น เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์รับ-ส่งอาหาร
รวมถึง ปาณิสรา อดิเรกลาภนุกูล ผู้ประกอบการร้านนวดในกรุงเทพฯ เล่าว่า เคยเป็นลูกจ้างในโรงพยาบาลก่อนจะมาเป็นพนักงานนวด กระทั่งเกษียณในปี 2555 ระยะแรกๆ อาศัยหมุนเวียนไปนวดตามร้านของญาติที่รู้จักกัน หรือไปเป็นวิทยากรทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ กระทั่งเริ่มเปิดร้านของตนเองในย่านประตูน้ำ กรุงเทพฯ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 เริ่มปรากฏเค้าลางความซบเซา เมื่อไม่มีลูกค้าชาวจีนเข้าร้าน
และในการสั่งปิดตามมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลกระทบนั้นทบเพิ่มเป็นทวีคูณ จากร้านที่อยู่กันแบบพี่น้อง มีการดึงคนในชุมชนที่มีฝีมือในการนวด เช่น ผู้เกษียณอายุหรือว่างงาน เข้ามาทำงานในร้านเพื่อให้มีรายได้ ต่อมาพบว่าลูกค้าที่ปกติต้องจองคิวล่วงหน้าก็ค่อยๆ หายไป ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะอาชีพอื่นๆ ก็ถูกลดรายได้เช่นกัน และพนักงานนวดก็ได้รับผลกระทบต่อมา อย่างไรก็ตาม การที่พนักงานนวดมักอยู่แบบปัจเจก ไม่ค่อยรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง จึงทำให้ขาดอำนาจต่อรองเพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือ
มุมมองจากนักวิชาการ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยนั้นในภาคเกษตรที่มีคนอยู่จำนวนมากถึงเกือบ 10 ล้านคน ในความเป็นจริงไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพารายได้จากภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านนวด แต่ประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ สถานการณ์โควิด-19 ดำเนินมาแล้วถึง 18 เดือน อยู่แบบปิดๆ เปิดๆ โดยที่การเยียวยาไม่ตรงจุด ในขณะที่บางประเทศ เช่น เยอรมนี รัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนเพื่อรักษาการจ้างงาน
“เมื่อไม่สามารถรักษางานเอาไว้ได้ พอคนคนหนึ่งต้องเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสายงาน หรือต้องไปทำงานที่รายได้น้อยลง
ต่อให้เศรษฐกิจมันกลับมาดีในอีก 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า ก็ไม่สามารถจะกลับมาด้วย Skill (ทักษะ) หรือ Mentality (วิธีการคิด) แบบเดิม หรือที่ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เรียกว่ามันเป็นแผลเป็นที่อยู่กับคนยาวนานมากกว่าวิกฤติ” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี