“ลูกจ้างทำงานบ้าน” หรือที่สังคมไทยคุ้นหูกับคำว่า “คนรับใช้-แจ๋ว” นับเป็นอาชีพที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอีกหลายๆ อาชีพ กล่าวคือ ในขณะที่บรรดาผู้บริหารองค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนสามารถทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาทำหน้าที่ของตนให้ลุล่วง ก็ได้คนกลุ่มนี้ช่วยดูแลงานในบ้านให้ตั้งแต่ทำความสะอาด ช่วยดูแลลูกที่ยังเล็ก ไปจนถึงขับรถรับ-ส่ง จนไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอย่างไรก็ตาม ลูกจ้างทำงานบ้านดูจะเป็นอาชีพที่ค่อนข้างอาภัพอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ค่อยถูกมองเห็นในมิติความเป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนสังคมเฉกเช่นอาชีพอื่นๆ
ในตอนที่ 6 ของชุดงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องของกลุ่มคนทำงานภาคบริการในบ้าน กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน โดย มาลี สอบเหล็ก ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยความที่ลูกจ้างทำงานบ้านทำงานอยู่ประจำบ้านนายจ้าง จึงมีข้อจำกัดในการเก็บข้อมูลรวมถึงตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิ ซึ่งยังพบกรณีลูกจ้างทำงานบ้านถูกเลิกจ้างแล้วไม่ได้ค่าชดเชยตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่ไม่รู้กฎหมาย หรือแม้แต่รู้กฎหมาย ฟ้องจนได้ค่าชดเชย คำถามคือต้องใช้เวลานานเท่าใด แล้วจะหางานใหม่ได้หรือไม่เพราะเคยมีประวัติมีปัญหากับนายจ้างแล้ว ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่าลูกจ้างทำงานบ้านมีทั้งที่ถูกเลิกจ้างและถูกลดรายได้ ในขณะที่แต่ละคนล้วนมีค่าใช้จ่าย เช่นค่าที่พักเพราะหลายคนไม่ได้พักกับนายจ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอินเตอร์เนตที่เพิ่มขึ้น นอกจากลูกที่ต้องเรียนออนไลน์แล้วคนเป็นแม่ก็ต้องหางานผ่านแอปพลิเคชั่นด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า
อนึ่ง มาลี ยังเปิดเผยว่า ลูกจ้างทำงานบ้านยังต้องเผชิญการถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางาน เช่น เมื่อเดินเข้าไปสมัครงานก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการสมัครแล้วแม้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะได้งานก็ตาม รวมถึงค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรมด้วย อีกทั้งต้องมาจ้องหน้าจอรอแย่งงานกันเองกลุ่มออนไลน์ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนแนวทางของเครือข่ายฯ ที่มีสมาชิกและต้องการวางระบบแพลตฟอร์มหางาน
ขณะที่ กัญญารัตน์ ปัญญา เลขานุการเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านมีปัญหาต่างๆ มาก่อนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว เช่น ชั่วโมงการทำงานและเวลาพักที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับเวลาของนายจ้าง มีความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ การเข้าถึงแหล่งทุนในระบบทั้งรัฐและเอกชนเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ด้วยความที่ลูกจ้างทำงานบ้านเป็นผู้หญิงและทำงานในบ้านซึ่งสถานที่มิดชิด จึงมีความเสี่ยงถูกคุกคามทางเพศหรือถูกทำร้ายร่างกาย
ทั้งนี้ “การขึ้นทะเบียนลูกจ้างทำงานบ้านเป็นเรื่องสำคัญ” เพื่อให้รัฐมีฐานข้อมูลว่าลูกจ้างเป็นใคร ทำงานกับนายจ้างคนใด เมื่อมีปัญหาจะได้สามารถเข้าไปดำเนินการได้อย่างทันท่วงที รวมถึง “ประกันสังคม มาตรา 33” เพราะลูกจ้างมีนายจ้างอยู่เป็นตัวตนจึงควรได้รับสิทธิไม่ต่างจากลูกจ้างในอาชีพอื่นๆ และ “อยากให้สังคมมีทัศนคติที่ดีกับลูกจ้างทำงานบ้าน” ไม่ลดทอนโดยเห็นเป็นเพียงคนรับใช้ แต่มองว่าเป็นงานที่มีคุณค่า เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
กัญญารัตน์ อธิบายเพิ่มเติมถึงโครงการวางระบบหางานของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ว่า จะมีรูปแบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่น เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำงานเต็มวันแต่ยังอยากทำงานอยู่แม้ลูกหลานจะอยากให้พักผ่อนแล้วก็ตาม หรือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเล็กที่สามารถจัดสรรเวลาทำงานได้ หรือการแบ่งงานเป็นประเภทตามความถนัด เช่น ดูแลสัตว์เลี้ยง รีดผ้า ส่วนเงินค่าธรรมเนียมสมัครแรกเข้าจะนำไปเป็นกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นสมาชิก โดยในอนาคตหากมีเงินในกองทุนมากพอก็จะนำไปสู่การมีสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล
ด้าน จำปา (Kyan Par) รองประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ (หรือแรงงานต่างด้าว) สามารถถูกเลิกจ้างได้ง่ายกว่าลูกจ้างที่เป็นคนไทย เพราะคนไทยอาจกล้าฟ้องร้อง ในขณะที่หากเป็นแรงงานข้ามชาติ เพียงนายจ้างบอกว่าครอบครัวนายจ้างกลัวโควิด ไม่ต้องมาทำงานอีกก็เลิกจ้างได้แล้ว
โดยเฉพาะช่วงการระบาดระลอก 2 ซึ่งเกิดขึ้นที่ จ.สมุทรสาคร แล้วพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นแรงงานชาวเมียนมา จะเป็นช่วงที่นายจ้างกลัวลูกจ้างมาก แม้ลูกจ้างจะไม่ได้ไปไหนไกลกว่าละแวกบ้านนายจ้าง หรือเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงสูงดังกล่าวเลยก็ตาม ส่วนเรื่องการหางานเมื่ออายุมากขึ้น จำปา เข้าใจนายจ้างที่ต้องการลูกจ้างอายุไม่มาก เช่น บางคนตั้งประกาศรับสมัครงานไว้ว่าต้องการคนงานอายุ 25-35 ปี เพราะกำลังและความคล่องแคล่วว่องไวดีกว่า ดังนั้นหากมีแพลตฟอร์มของเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านก็ควรสนับสนุน
บุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HOMENET) กล่าวถึงงานศึกษาชีวิตลูกจ้างทำงานบ้านใน 3 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงราย สำรวจกลุ่มตัวอย่างรวม 109 คน พบว่าในสถานการณ์โควิด-19 1.ลูกจ้างทำงานบ้านต้องทำงานเพิ่มขึ้น เพราะครอบครัวนายจ้างเปลี่ยนมาเป็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทำให้ต้องทำความสะอาดบ้านมากขึ้นแต่ได้ค่าจ้างเท่าเดิม
2.เวลาทำงานลดลง บางบ้านนายจ้างด้วยความที่อยู่บ้านมากขึ้นจึงทำงานบ้านเอง รวมถึงลดความเสี่ยงโรคระบาดเพราะลูกจ้างทำงานบ้านไม่ได้อยู่ประจำบ้านนายจ้างและมีการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน รายได้ของลูกจ้างทำงานบ้านจึงลดลงเพราะมีการจ้างน้อยลง 3.ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หากถูกเลิกจ้าง4.กลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่ในสถานะเคว้งคว้าง เพราะถูกเลิกจ้างงานในประเทศไทย แต่จะกลับบ้านเกิดก็ไม่ได้เพราะประเทศต่างๆ ล้วนปิดพรมแดน ครั้นจะไปหางานอื่นทำก็มีข้อจำกัดในการต่ออายุเอกสารก็อาจเสี่ยงถูกจับกุม
บุญสม กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 1.รูปแบบการจ้างงาน จากงานประจำอาจกลายเป็นการจ้างเป็นครั้งคราว 2.เอกสารรับรองที่เกี่ยวข้อง เช่น นายจ้างอาจขอใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อจะสมัครงาน และ 3.การแข่งขันที่สูงขึ้น แม้งานบ้านหลายคนอาจมองว่าไม่ได้ใช้ทักษะอะไรมาก แต่ลักษณะดังกล่าวก็จะทำให้คนที่ตกงานหันมารับจ้างทำงานบ้านกันมากขึ้นด้วย
มุมมองจากนักวิชาการ กิ่งกาญจน์ จงสุขไกลนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนะ 9 ข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน คือ 1.ค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ถูกรับประกันตามมาตรฐานค่าจ้างอย่างที่แรงงานในระบบได้รับ 2.การเข้าถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นที่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมให้ตามเวลาที่เหมาะสมกับแรงงาน
3.การเข้าถึงแหล่งทุนและการสนับสนุนด้านการเงิน ที่ผ่านมามักเข้าไม่ถึงทั้งแหล่งทุนในระบบและโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ 4.การเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อให้ทราบภาวะสุขภาพที่แท้จริง และไม่เป็นการสะสมปัญหาสุขภาพที่จะแก้ไขได้ยากขึ้นในอนาคต 5.สร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง เพื่อให้รู้สิทธิตามกฎหมายและลดหาแสวงหาประโยชน์
6.รัฐต้องจัดทำกฎหมายและนโยบายคุ้มครองคนทำงานบ้าน เช่น สัญญาจ้าง ประกันสังคมมาตรา 33 7.สร้างโอกาสการทำงานเมื่ออายุมากขึ้น กรณีที่สุขภาพแข็งแรงยังสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งลูกจ้างทำงานบ้านจำนวนมากอยู่ในวัยแรงงานตอนกลางและตอนปลาย และ 8.การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางการเงิน ในกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านที่อายุยังไม่มาก เพื่อเตรียมไว้ยามชราภาพ
(โปรดติดตามตอนต่อไปฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 ส.ค. 2564)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี