มาถึงตอนที่ 7 แล้วของชุดงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนนี้จะกล่าวถึง “รับซื้อและเก็บของเก่า” ซึ่งเป็นอาชีพที่มีสถานะ “ชายขอบ” เดิมทีก็ถูกมองในแง่ลบอยู่แล้ว เช่น เมื่อตระเวนเข้าไปตามหมู่บ้านก็กลัวกันว่าจะเป็นมิจฉาชีพ และปัจจุบันเมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วยลักษณะงานที่ทำก็ยิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงจากคนอื่นๆ ในสังคมมากขึ้นไปอีกในฐานะกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อ
ในงานนี้มีตัวแทน กลุ่มผู้ค้าของเก่าชุมชนเสือใหญ่อุทิศ เข้าร่วม อาทิ ณัฐธิดา ฤกษ์ยรรยงค์ เล่าว่า อาชีพเก็บของเก่าขายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ “คนนำของเก่าออกมาขายนอกบ้านน้อยลง เพราะหลายคนกลัวผู้รับซื้อของเก่าที่เดินทางไปทั่ว ไม่ได้ซื้อเฉพาะบ้านหลังใดหลังหนึ่งเพียงบ้านเดียว” ทำให้รายได้ลดลง บางบ้านมีการถามคนรับซื้อของเก่าว่าฉีดวัคซีนหรือตรวจโควิดแล้วหรือยัง ซึ่งแม้ภาครัฐจะมีการรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีน แต่ก็มีข้อจำกัดคือลงทะเบียนได้ยาก จึงทำได้เพียงการป้องกันตนเองไปก่อน เช่น สวมหน้ากากปิดปาก-จมูก สวมถุงมือ พกแอลกอฮอล์ติดตัว
“อยากฝากเรื่องวัคซีน เราอยากได้วัคซีนให้มันได้ทั่วถึงกัน อย่างพวกผู้ประกอบการเอย พวกซาเล้งอย่างเราเอย อยากได้ตัวนี้มาก มันสร้างความมั่นใจแล้วก็สร้างภูมิคุ้มกันของเราเวลาเราออกไปรับซื้อ เพราะว่าตอนนี้วัคซีนมันมาไม่ทั่วถึง มันต้องแบ่งๆ กันไป”ณัฐธิดา กล่าว
ขณะที่ ธวัช ไกรรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า ทางกลุ่มรับซื้อของเก่ามีการช่วยเหลือกันเอง เช่น แจกถุงยังชีพ ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ซึ่งหลายคนยังไม่มีความรู้บางคนถึงขั้นไม่กล้าออกจากบ้านทั้งคนซื้อและคนขายเพราะกลัวติดเชื้อ ส่วนการฉีดวัคซีนนั้น ทางกลุ่มซาเล้งได้ยื่นขอโควตาฉีดวัคซีนกับทางกรมควบคุมโรคได้วัคซีนมา 10,000 โดส ฉีดให้กับสมาชิกในกรุงเทพฯ ไปแล้วประมาณ 1,400-1,500 โดส และหลังจากนี้จะมีการกระจายไปฉีดในจังหวัดอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีการประสานกับทั้งสำนักงานเขตและกรมควบคุมโรค เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาประชาสัมพันธ์กับสมาชิกอาชีพเก็บของเก่าขายที่รวมตัวกันเป็นสมาคม เช่น แจ้งสถานที่และวัน-เวลาที่มีการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เพื่อทำความเข้าใจกับสมาชิก โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่หลายคนอาจได้รับข่าวสารในแง่ลบทั้งทางสื่อออนไลน์และการบอกเล่าปากต่อปาก ตลอดจนข้อมูลการวางมาตรการลดความเสี่ยงการระบาดในพื้นที่ร้านรับซื้อของเก่าด้วย
ธวัช ยังกล่าวอีกว่า วิกฤติโควิด-19 น่าจะนำไปสู่ “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญคือ “การคัดแยกขยะ” ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องทำอย่างจริงจัง “เห็นถังสีนี้ต้องทิ้งขยะให้ถูกประเภท” หน้ากากอนามัยไว้ถังหนึ่ง ขยะอื่นๆ ไปอีกถังหนึ่ง เป็นต้น ต้องมีจิตสำนึกเพื่อลดผลกระทบไม่เพียงแต่กับผู้เก็บของเก่าขายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่เก็บขยะซึ่งเป็นบุคคลด่านหน้าอีกกลุ่มด้วย เพราะหากไม่แยกขยะกันอย่างจริงจังแล้วอาชีพเหล่านี้ติดเชื้อ ท้ายที่สุดคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อไปโดยปริยาย
“ภาครัฐกำหนดมาเลยว่าเราต้องจริงจังแบบนี้แล้ว คุณกำหนดมาเลย ถ้าคุณมีงบประมาณน้อยคุณกำหนดเลยเราในฐานะที่เป็นด่านหน้าในการเก็บขยะ เราให้ความรู้และสร้างมาตรการกำหนดว่าเราต้องทำอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าเราได้รู้ว่าเราได้มีการปรับเปลี่ยนแล้วนะ เราได้มีการปรับปรุงแล้วนะ เราปลอดภัยที่จะไปเก็บขยะหรือไปซื้อขยะ ลูกค้าก็เชื่อมั่นว่าเราสามารถดำเนินธุรกิจของเราไปได้ ถ้าไม่มีมาตรการอะไรจริงๆ จังๆ ผมว่าความหวาดระแวงของลูกค้าเรา หรือกลุ่มที่เราจะไปเก็บหรือซื้อมาเพื่อสร้างรายได้ดูแลครอบครัวเรามันไม่มีความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
ไม่มีความเชื่อมั่นกับกลุ่มคนหรือร้านอาหารแต่ละที่ หรือใครๆ ก็แล้วแต่ที่จะขายขยะให้เรา เขาไม่มีความเชื่อมั่น เราก็จะเจอปัญหาเดิมๆ คือไม่อยากให้เราเข้าบ้าน ไม่อยากให้เราเข้าหมู่บ้าน ไม่อยากให้สัมผัสหรือเก็บขยะมาขายให้เรา เพื่อที่จะให้รากหญ้าที่ซื้อ-ขายหรือเก็บขยะอย่างเราช่วยภาครัฐในการจัดเก็บ ลดปริมาณขยะ
ลดสิ่งแวดล้อมไปได้ คุณสร้างมาตรการอะไรมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่ขายขยะให้เรา” ธวัช กล่าว
อีกด้านหนึ่ง พีรธร เสนีย์วงศ์ กลุ่มซาเล้งชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาชีพเก็บของเก่าขายยังได้รับผลกระทบคือ “ขยะติดเชื้อปะปนกับขยะทั่วไป” ซึ่งก็ต้องคอยเตือนกันว่าหากเป็นขยะในถุงไม่ควรไปแกะ ให้เก็บเฉพาะสิ่งที่มองเห็น เพราะไม่มีเครื่องมือป้องกันตนเองอย่างอื่นส่วนผลกระทบด้านรายได้ที่ลดลงนั้นโชคดีที่ยังมีเครือข่ายสลัมสี่ภาคและภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำครัวชุมชน ทำอาหารจำหน่ายราคาถูก จานละไม่เกิน 20 บาท ตลอดจนแจกฟรีสำหรับผู้ยากไร้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง
ส่วนการยกระดับคุณภาพชีวิตของอาชีพรับซื้อหรือเก็บของเก่าขาย อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ “ควรมีการรวมตัวเป็นสมาคม” ซึ่งกลุ่มซาเล้งชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เป็นเครือข่ายซาเล้งเก็บของเก่าแห่งแรกของประเทศไทยที่ขอยื่นจดทะเบียนกับภาครัฐคือสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และได้รับเอกสารรับรองการจดทะเบียน ข้อดีของการจดทะเบียนคือทำให้สมาชิกกลุ่มมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ จากเดิมที่ไปไหนก็ถูกตราหน้าเป็นขโมย ปัจจุบันเมื่อมีหมายเลข มีเครื่องหมายแสดงตนก็ไม่ถูกกล่าวหาเช่นนั้นอีก
“ที่ผ่านมาคือหน่วยงานภาครัฐหรือเขตต่างๆ พอไปจัดตั้งกลุ่มก็จะตั้งแง่ไว้ก่อน ซึ่งผมบอกว่า 14 ไร่ทำได้ เขตประเวศทำได้ อีก 49 เขตผมเชื่อว่าน่าจะทำได้ พี่น้องเขาอยากจะไปจดทะเบียนกัน ถามว่ามันดีตรงไหน? มันดีตรงแยกน้ำแยกเนื้อ ให้เกียรติ ให้ศักดิ์ศรี อย่างน้อยสำคัญที่สุดรัฐสามารถแยกน้ำแยกเนื้อได้ เขตพื้นที่ตัวเองมีรถซาเล้งกี่คน เกิดเรื่องราวที่ต้องให้พวกนี้เป็นคนดูแลซึ่งกันและกัน ถ้าใครไปขโมยอะไรต่างๆ มันสามารถจัดการได้ ถ้าเรามีเบอร์เสื้อ ได้ขึ้นทะเบียนเหมือนรถมอเตอร์ไซค์ อันนี้ผมว่าเป็นระยะยาวที่ดีมาก” พีรธร กล่าว
(โปรดติดตามตอนที่ 8 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของชุดงานเสวนานี้ได้ในฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 2564)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี