“ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหาสำคัญของสังคม จริงอยู่แม้จะยอมรับกันว่าในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถทำให้คนทุกคนเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ แต่ที่ผ่านมาก็มีความพยายามคิดค้นและผลักดันกระบวนการที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนด้านบน (ชนชั้นนำหรือคนใหญ่คนโตมีอำนาจมีเงินทองมาก) กับกลุ่มคนด้านล่าง (ชนชั้นทั่วไปและโดยเฉพาะลงไปถึงคนยากจนชายขอบ) ลดลง อย่างน้อยก็เพื่อให้คนด้านล่างมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้มากขึ้นหากไม่ใช่รุ่นตนเองก็เป็นรุ่นลูกหลาน ผ่านโยบายสวัสดิการต่างๆ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “ประชากรนอกระบบในประเทศเหลื่อมล้ำ” โดยหนึ่งในนั้นคือการนำเสนองานวิจัยหัวข้อ “การวิจัยความเหลื่อมล้ำในระดับโลก : คำอธิบายว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย” ผลงานของ ผศ.ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าด้วยชนชั้นต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน
งานวิจัยดังกล่าวที่ ผศ.ดร.ฐานิดา ทำร่วมกับนักวิชาการอีก 2 ท่าน คือ ผศ.ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สุรางค์รัตน์จำเนียรพล นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาโดยสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างรวม 72 คน ซึ่งคณะผู้วิจัยพยายามหากลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายทั้งภูมิภาค (เหนือ กลาง อีสาน ฯลฯ) ช่วงวัย(เบบี้บูม เจนเอ็กซ์ ฯลฯ) และอาชีพ
“คนที่อยู่พื้นที่เมืองหรือพื้นที่ชนบทเองก็มีความแตกต่างในเชิงความเหลื่อมล้ำของการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และช่วงเวลาที่เขาเกิด ช่วงเวลาที่เขาเติบโต ก็จะเติบโตภายใต้ยุคของรัฐบาลต่างๆ แล้วก็มีนโยบายต่างๆ ที่มันมีผลในการสร้างโอกาสในชีวิตของทั้งคนรุ่นพ่อแม่เขา ตัวเขา แล้วก็ส่งผ่านไปยังรุ่นหลาน ฉะนั้นอายุก็จะเป็นสิ่งหนึ่ง เป็นปัจจัยหนึ่งด้านเวลาที่เราต้องเอามาคิดคำนวณ แล้วเราจะเห็นตัวแบบแผนพฤติกรรมของคนในแต่ละช่วงอายุว่าจะมีวิธีคิดต่อความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาสังคมแตกต่างกัน” ผศ.ดร.ฐานิดา อธิบาย
ผศ.ดร.ฐานิดา อธิบายต่อไปว่า การเกิดขึ้นของชนชั้นในสังคม ว่ามาจากทุน 4 ประเภทคือ 1.ทุนทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ ทรัพย์สิน 2.ทุนทางวัฒนธรรม เช่น ระดับการศึกษา ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ 3.ทุนทางสังคม เช่น เครือข่าย การเป็นสมาชิกของกลุ่ม ความสัมพันธ์ และ 4.ทุนสัญลักษณ์ เช่น เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจทางการปกครอง ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายที่ทำให้คนรุ่นปู่ย่าตายายสามารถสะสมทุนได้ ทุนนั้นก็จะส่งผ่านไปยังรุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูกหลานต่อไป (ทรัพยากร อำนาจ บารมี ฯลฯ) ด้วย
โดยจากทุนทั้ง 4 ประการ “สามารถแบ่งสังคมออกเป็น 5 ชนชั้น จากล่างสุดสู่บนสุด” ประกอบด้วย 1.ชายขอบไม่มีทุนใดๆ บรรพชนก็ไม่ได้สะสมทุนเพื่อส่งต่อมาให้ ไร้ความฝัน สวัสดิการนั้นเข้าถึงได้บ้างไม่ได้บ้าง อาชีพกลุ่มนี้เช่น เก็บของเก่าขาย หรือเป็นคนไร้บ้าน 2.ต่อสู้ดิ้นรน มีทุนอยู่บ้าง มีความฝันแต่ยังไม่เป็นความจริง หรือต้องทิ้งความฝันไปทำอย่างอื่นเพื่อเลี้ยงปากท้อง แม้จะมีงานทำแต่ชีวิตไม่มั่นคง หากเจอปัจจัยบางอย่าง (อาทิ สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน) ย่อมได้รับผลกระทบมาก เช่น ผู้ค้าขายรายวัน รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างโรงงาน
3.ชนชั้นกลาง มีทุนอยู่บ้าง อีกทั้งมีการสะสมและส่งต่อทุนจนมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง แม้จะมีปัจจัยเข้ามากระทบก็ยังปรับตัวหรือเอาตัวรอดได้ เช่น ทหาร-ตำรวจชั้นประทวน ช่างฝีมือ (อาทิ ช่างทำผม ช่างทำพลอย) 4.มั่นคง ชนชั้นนี้มีทุน สะสมทุนและส่งต่อทุน มีฐานะที่มั่นคงมากแต่ยังไม่ถึงขั้นมีอำนาจชี้นำสังคม เช่น ทหาร-ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ข้าราชการ แพทย์ เจ้าของโรงงาน และ 5.มั่นคงอย่างยั่งยืน คนกลุ่มนี้นอกจากจะมีทุนแล้วยังมีอำนาจกำหนดความเป็นไปในสังคมรวมถึงชีวิตคนด้วย เช่น ทหาร-ตำรวจระดับสูง ผู้พิพากษา
อนึ่ง เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ได้ให้ข้อมูลประกอบงานวิจัยชิ้นนี้มาแบ่งตามชนชั้น จะพบว่า “อาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบ (หมายถึงผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันในชีวิต) ส่วนใหญ่อยู่ในชนชั้นล่าง หากไม่ล่างสุดคือขายชอบก็ยังเป็นกลุ่มต้องต่อสู้ดิ้นรน” เช่น พ่อค้า-แม่ค้าอาหารริมทาง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไรเดอร์ส่งอาหารรับงานผ่านแอปพลิเคชั่น คนงานก่อสร้าง เกษตรกร คนทำงานกลางคืนในสถานบันเทิง (เช่น นักร้อง/นักดนตรี พนักงานร้านเหล้า) ขายของออนไลน์
“ชายขอบต้องบอกว่าทุนทั้ง 4 ประเภทไม่มีหรือมีน้อยมาก ในขณะที่ดิ้นรนมีแต่ก็เหมือนคนที่พร้อมจะจมน้ำได้ตลอดเวลา ก็คือไม่ได้มั่นคงยังต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวินาที จะมีการตอบลักษณะว่าจนแต่ไม่ลำบาก มีคนอื่นที่จนกว่า แต่พอถามว่าจนกระทั่งถ้าเกิดโควิดมาทีหรืออะไรทีจะไม่เป็นอะไรใช่ไหมก็ไม่ใช่ ก็ยังต้องต่อสู้ดิ้นรน ชนชั้นกลางก็คือพออยู่พอกิน มีหนี้สินปกติ แล้วก็อาจจะรับราชการ มั่งคงคือเริ่มมี Privilege มีสิทธิพิเศษ ใช้สิทธิพิเศษได้ แต่ยังไม่เท่า Stability+ (มั่นคงอย่างยั่งยืน) มั่นคงไม่พอยังสามารถใช้ Position ตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ในโครงสร้างสังคมนี้ กำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ หรือชี้นำ หรือกำหนดความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์ได้”ผศ.ดร.ฐานิดา ระบุ
แน่นอนว่าเมื่อมีทุนไม่เท่ากัน “ทางเลือก (Choice)”หรือโอกาสในชีวิตก็ย่อมไม่เท่ากันไปด้วย และงานวิจัยยังพบอีกว่า “สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเปิดช่องให้ระบบอุปถัมภ์ดำรงอยู่ได้ดี” อาทิ ในสังคมไทย ที่มีระบบอุปถัมภ์ทั้งในชนชั้นเดียวกัน เช่น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน และระหว่างชนชั้น เช่น เป็นคนของใคร แม้จะมีชั้นยศเท่ากัน แต่ผู้ที่อยู่ใกล้นายมากกว่าย่อมมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในอาชีพสูงกว่าเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “สังคมไทยยังเปิดโอกาสให้เลื่อนชนชั้นได้” เช่น ผ่านระบบการศึกษาที่มีทุนการศึกษาสนับสนุนหลายโครงการ หรือผ่านนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุน
ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 72 คน พบ 35 คนให้ข้อมูลว่า ตนเองมีฐานะชนชั้นดีกว่าพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ถึงกระนั้น “การเลื่อนชนชั้นมักเป็นแบบไปทีละระดับ” ไม่ได้เลื่อนแบบก้าวกระโดด และชนชั้นบนสุด (มั่นคงอย่างยั่งยืน) ไม่ใช่เพียงมีเงินทองหรือยศตำแหน่งแล้วจะขึ้นไปเป็นได้ แต่อาจต้องมีสถานภาพบางอย่างประกอบด้วย เช่น ชาติตระกูล
ผศ.ดร.ฐานิดา ยังเล่าถึงวิธีคิดของแต่ละชนชั้นตามกลุ่มตัวอย่างที่ให้ข้อมูล เช่น กลุ่มชนชั้นบนและบนสุด (มั่นคง-มั่นคงอย่างยั่งยืน) คนหนึ่งที่เป็นคนรุ่นเบบี้บูม ยอมรับว่า หากไม่มีเงินกงสี (ทรัพย์สินที่เป็นกองกลางของครอบครัว) คงโตช้ากว่านี้ ส่วนอีกคนหนึ่งที่เป็นคนรุ่นเจนวายกล่าวว่า ไม่ได้กำหนดว่าลูกของตนต้องเป็นอะไร แต่จะสอนลูกให้บริหารเงินเป็น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ชนชั้นล่างสุด(ชายขอบ) ชั้นล่าง (ต่อสู้ดิ้นรน) จนถึงชนชั้นกลาง ยังมุ่งหวังให้ลูกสอบเข้ารับราชการเป็นหลัก ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามเลื่อนหรือรักษาสถานะทางชนชั้น
“เห็นไหมวิธีการส่งผ่านวิธีคิดของคน 2 ชนชั้นก็ต่างกัน ในขณะที่คนหนึ่งเรียนอะไรก็ได้แต่ขอให้เรียนการเงินซึ่งรักษาสถานภาพนี้ให้มั่นคง คนระดับล่างเรียนอะไรก็ได้ที่ไปทำงานที่มีเงินเดือนเข้าทุกเดือน อย่ามาลำบากกินเงินรายวันเหมือนพ่อกับแม่ อย่างคนเจนแซดที่เป็นครูสอนว่ายน้ำบอกว่าอยากเป็นตำรวจเพราะตำรวจมีเงินเดือน คุณแม่ขายของทำงานหนักได้เงินรายวัน ถ้าไม่ทำวันไหนก็ไม่มีเงินเราไม่อยากเป็นแบบนั้นอีกแล้ว” ผศ.ดร.ฐานิดา กล่าว
นักวิชาการผู้นี้ ทิ้งท้ายด้วยปรากฏการณ์ “การสอบ ก.พ.” อันเป็นบันไดขั้นแรกในการสอบเข้ารับราชการ ที่ในแต่ละปีจะมีคนสมัครสอบเป็นจำนวนมากทุกปี เพราะข้าราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง โดยเฉพาะจากคนที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีความมั่นคงในรายได้ แม้ความฝันของคนคนนั้นจะไม่ใช่การเข้ารับราชการก็ตาม เพราะอาชีพในฝันนั้นภายใต้โครงสร้างสังคมไทยคืออาชีพที่ไม่มีความมั่นคง การสอบ ก.พ. จึงมีนัยของการต่อสู้เพื่อเลื่อนชนชั้นด้วย
หมายเหตุ : ประชากรตามช่วงวัยแบ่งได้ดังนี้ เบบี้บูม(Baby Boomer เกิดปี 2489-2507) เจนเอ็กซ์ (Generation X เกิดปี 2508-2522) เจนวาย (Generation Yเกิดปี 2523-2540) และเจนแซด (Generation เกิดหลังปี 2540)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี