เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “สังฆะ สาธารณสงเคราะห์ สังคมสุขภาวะในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีวิทยากรหลายท่าน อาทิ พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยมีวิกฤตเป็นรอบๆ ทั้งจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามี ตลอดจนโรคระบาด เช่นโควิด-19 รวมถึงวิกฤตที่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดไม่ว่าโดยใครก็ตาม
แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น คณะสงฆ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกในปี 2563 ผู้ติดเชื้อยังมีไม่มาก ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ แต่ระลอกใหม่ในปี 2564 หลังเทศกาลสงกรานต์ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเตียงเต็ม ต้องขยายออกมาเป็นโรงพยาบาลสนาม เช่นรพ.บุษราคัม แต่เมื่อยังไม่เพียงพอ ก็ต้องขยายให้หน่วยงานอื่นๆช่วยจัดทำสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ เช่น สถาบันการศึกษา องค์กรศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงได้เห็นวัดหลายแห่งถูกปรับเป็นศูนย์พักคอย
“ในส่วนของวัดสุทธิฯ พอเราเริ่มเห็นว่าระบบสาธารณสุขมันเปราะบางลง สิ่งที่วัดจะช่วยได้เข้ามา วัดก็ต้องทำ ก่อนจะทำก็ต้องมีการปรึกษาหารือในส่วนคณะสงฆ์ว่าอยู่ภายใต้ขอบเขต สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา สอดคล้องกับค่านิยมความเชื่อของสังคมไทย ก็เลยลงมือทำ เตรียมความพร้อมตั้งแต่อาคารสถานที่ที่จะรองรับ สุดท้ายวัดสุทธิฯเราก็ถอดบทเรียน3 ส่วนใหญ่ ถ้าเราจะทำระบบสาธารณสุขรองรับวิกฤต 1.โครงสร้างพื้นฐาน อาคารสถานที่ ระบบน้ำ-ไฟฟ้า ที่นอน หมอน มุ้ง จนถึงสุดท้ายคือการจัดการขยะติดเชื้อ ต้องมีความพร้อม
2.ระบบการดูแลรักษา ยังมีเรื่องของหมอ-พยาบาล จากระบบสาธารณสุขที่แบ่งมา บวกกับทีมจิตอาสา บวกความรู้ของพระสงฆ์องค์เณร บวกความรู้ของทีมที่จะมาช่วยสาธารณสุข ก็ต้องได้รับการพัฒนา ฉะนั้นทีมระบบสาธารณสุขก็เริ่มเข้ามาทำงานเพื่อตอบสนองกับการจัดการระบบนี้ อันนี้ก็ได้รับความร่วมมือจาก รพ.สงฆ์ และการเรียนรู้จากสังคมไทยคือเรื่องการใช้ยาแบบไหน ใช้ยาสมุนไพร 3.ระบบที่จะมาสนับสนุนเพื่อให้อยู่ต่อได้ เรื่องข้าวปลาอาหาร การอยู่การกินอะไรต่างๆ ระบบการได้รับบริจาคจากภาคประชาชน หรือของวัด หรือของจากพระมหาเถระที่ท่านเห็นว่าคณะสงฆ์ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับพระธรรมวินัย” พระสุธีรัตนบัณฑิตกล่าว
พระสุธีรัตนบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า วัดที่มีความพร้อม มีโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสถานที่พร้อม ได้รับการสนับสนุนจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ให้ดำเนินการศูนย์พักคอย ส่วนวัดที่อาคารสถานที่ไม่พร้อม ก็ได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น จัดหาข้าวปลาอาหาร รวบรวมปัจจัยบริจาคเพื่อสมทบกับหน่วยงานอื่นที่จัดทำศูนย์พักคอย ซึ่งเมื่อวิกฤตเกิดขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาดูแลสังคมเพื่อแบ่งเบาภาระระบบใดระบบหนึ่ง
ด้าน พระมงคลวชิราการ เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระลอกล่าสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 มีโอกาสได้ไปดูงานโรงพยาบาลสนาม ณ วัดศรีสุดาราม ซึ่งทำงานร่วมกับ รพ.ราชพิพัฒน์ ทำให้ได้มองเห็นคำตอบว่าในวิกฤตไวรัสโควิด-19 บทบาทของพระสงฆ์ในเชิงนโยบายควรจะเป็นไปในทิศทางใด
ทั้งนี้ ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 วัดและพระสงฆ์ไม่อาจดำเนินการเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายเข้ามาร่วมด้วย เช่น สำนักงานเขต หน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในพื้นที่ นำไปสู่ข้อกำหนดว่า วัดที่ต้องการทำศูนย์พักคอยต้องประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขประจำพื้นที่ เพราะความพร้อมเชิงกายภาพของวัดอย่างเดียวไม่เพียงพอต้องมีความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ด้วย
นอกจากสำนักงานเขตและหน่วยงานสาธารณสุขระดับพื้นที่แล้ว ยังมี กรมอนามัย เข้ามาเชื่อมระบบ ให้มองเห็นในภาพรวมว่าขณะนี้มีโรงพยาบาลสนามกี่แห่งแล้ว อีกทั้งนโยบายของมหาเถรสมาคมยังฝากโจทย์ใหญ่ไว้ในอนาคต คือเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พระสงฆ์จะมีบทบาทอย่างไรในการเยียวยาจิตใจ ฟื้นฟูสภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ตกงาน เกิดความเครียด
“ฝ่ายคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมได้ช่วยไปแล้ว 12 วัดแล้วก็มีวัดที่กำลังสำรวจอยู่ตอนนี้ วัดที่กำลังจะเปิดศูนย์พักคอยสำหรับดูแลพระสงฆ์โดยตรง ซึ่งเป็นงานที่จะต้องร่วมกันสำรวจร่วมกับกรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด สาธารณสุขประจำพื้นที่แต่ละเขต เท่าที่ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์จะประสานขอข้อมูลเชื่อมให้ได้” พระมงคลวชิราการระบุ
จากเรื่องเล่าของพระสงฆ์สู่มุมมองฆราวาส ผศ.ดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน อาจารย์ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากมองในแง่จารีตประเพณี สิ่งที่ทั้งพระสงฆ์และประชาชนกำลังทำกันอยู่ในปัจจุบันเรียกว่า “การทำบุญ” ที่เห็นได้ชัดเจนแน่นอนคือ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” เช่น พระสงฆ์ที่เคยถูกยกย่องไว้อยู่สูง มีคนเคารพกราบไหว้ แต่วันนี้กลับได้เห็นพระสงฆ์สวมชุด PPE ทำหน้าที่สัปเหร่อดำเนินการพิธีศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิต หรือตั้งโรงครัวทำอาหารแจกจ่ายชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเห็นต่อไปคือ “บทบาทสถาบันสงฆ์ที่ยั่งยืนในการรับมือภาวะวิกฤต” เพราะลำพังจะอาศัยแต่เพียงแรงศรัทธาจากญาติโยมอาจไม่เพียงพอในบางช่วงเวลาเห็นได้จากบางวัดมีเตาเผาศพ 2-3 เตา ก็ยังเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 กันต่อเนื่องไม่ได้พักจนเมรุแตกชำรุด “ควรมีกฎหมายให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ” ดังเช่น กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีงบประมาณสำหรับบริหารจัดการในภาวะวิกฤต
“สถานการณ์กับงบประมาณมันไม่สัมพันธ์กัน บางวัดก็ทำได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง คือบทบาทนี้มันเป็นบทบาทเฉพาะกิจ แต่ผมกำลังมองว่าส่วนหนึ่งถ้าเราขับเคลื่อนไปในทางนโยบายเพื่อให้เกิดงบประมาณภาครัฐผ่องถ่ายมาทางสำนักพระพุทธฯก็ได้ แต่ต้องให้เป็นกฎหมายและเป็นบทเฉพาะกาลจริงๆ ที่จะใช้เงินนี้มา” ผศ.ดร.วุฒินันท์ กล่าว
ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อประชาชนในฐานะพุทธศาสนิกชนประสบความยากลำบาก พระสงฆ์ก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ จึงคิดที่จะเข้ามาช่วยเหลือสังคมตามมุมมองและโอกาสที่สามารถช่วยได้ ซึ่งสำหรับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ก็มีการตั้งโรงทานในวัดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่เพราะโครงการแบบนี้ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้วัดที่กำลังไม่เพียงพอก็ต้องยุติการดำเนินการไป แต่ก็มีความพยายามปรับเปลี่ยน เช่น จัดทำถุงยังชีพ หรือทำตู้ปันสุข
แต่เมื่อสาเหตุแห่งทุกข์ อันหมายถึงสถานการณ์โรคระบาดยังไม่คลี่คลาย พระสงฆ์ก็ได้ปรับบทบาทจากสงเคราะห์เป็นเกื้อกูลอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยสนับสนุนพื้นที่วัดสำหรับภารกิจด้านสาธารณสุข เช่น ตั้งศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนามจุดตรวจคัดกรอง จุดฉีดวัคซีน ไปจนถึงพระสงฆ์มีความรู้ด้านสมุนไพร ก็ทำยาสมุนไพรแจกจ่ายให้กับประชาชน เช่น ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย) หากวัดใดมีพื้นที่ปลูกได้ก็ปลูก หรือเชิญชวนให้ชาวบ้านปลูกแล้วทางวัดจะรับซื้อไว้ผลิตยาต่อไป
รศ.ดร.พินิจ ยังยกตัวอย่างโครงการ “พระไม่ทิ้งโยม” ที่ริเริ่ม ณ วัดสุทธิวราราม ซึ่งพระสงฆ์ต้องสวมชุด PPE ทับจีวร ทำงานร่วมกับกับจิตอาสาด้านสาธารณสุข ตั้งแต่การตระเวนไปตามชุมชนประมาณ 10 แห่ง รอบวัดเพื่อตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และหากพบผู้ติดเชื้อ กรณีเป็นกลุ่มสีเขียวก็จะนำมาดูแลรักษาที่ศูนย์พักคอยของทางวัด ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ยังนำสิ่งของไปช่วยเหลือได้รับผลกระทบ ภารกิจครั้งนี้แม้พระสงฆ์จะทราบดีว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ แต่ก็ยินดีเสียสละเพื่อทำงานในพื้นที่อย่างจริงจัง
“เจตนารมณ์ที่ท่านเข้ามาทำงาน ท่านก็บอกว่า พระไม่ทิ้งโยมก็เพราะว่าโยมไม่เคยทิ้งพระ ฉะนั้นการที่โยมไม่เคยทิ้งพระแล้วพระจะทิ้งโยมได้อย่างไร นี่คือมุมมองของพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่ปรากฏชัดเจนมาก” รศ.ดร.พินิจ ยกตัวอย่าง
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี