เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน และสถาบันเอเชียศึกษา และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ จัดเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน ว่าด้วยสภาพการทำงาน และหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19”
ซึ่งผู้ทำการศึกษาซึ่งมีชื่อเดียวกับหัวข้อเสวนาในครั้งนี้อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบัน เอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานวิจัยนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านหนึ่งพบกิจการแพลตฟอร์มส่งอาหารขยายตัวเติบโตอย่างมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็มองเห็นปัญหาด้านสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้พยายามศึกษาให้ครอบคลุมทั้งมุมมองด้านแรงงานและด้านธุรกิจ เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจกันในมุมมองที่แตกต่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานส่งอาหารและผู้ประกอบการ รวม 435 คน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 320 คน กับต่างจังหวัด 115 คน ประกอบด้วย ขอนแก่น ปัตตานี และอ่างทอง และเชิงคุณภาพ คือการสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานหรือครอบครัวของแรงงานที่เคยประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน รวม 50 คน พบผลการศึกษาดังนี้
1.สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และมาตรการควบคุมของภาครัฐ โดยเฉพาะการห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหาร ทำให้ธุรกิจส่งอาหารเติบโตอย่างมากเนื่องจากเป็นบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม แรงงานส่งอาหารในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เช่น การส่งพิซซ่าของร้านพิซซ่า แม้จะเป็นพนักงานประเภทบางช่วงเวลา หรือพาร์ทไทม์ (Part Time) แต่ก็มีสัญญาจ้าง มีข้อกำหนดการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน รวมถึงมีสวัสดิการ ต่างจากการจ้างงานส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
2.ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มส่งอาหารไม่มีคำว่าแรงงานอยู่ในสารบบตั้งแต่ต้น โดยจัดให้ร้านอาหารและไรเดอร์อยู่ในหมวด “พาร์ทเนอร์ (Partner)” แต่คำว่าพาร์ทเนอร์นี้ไม่ได้หมายถึง “หุ้นส่วน” ที่มีอำนาจการตัดสินใจแต่จะเหมือนกับ “คู่ค้า” มากกว่า โดยแพลตฟอร์มยังมีคู่ค้าอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ธนาคาร บริษัทดูแลระบบและฐานข้อมูลฯลฯ 3.การสมัครงานพบบางแพลตฟอร์มมีมาตรฐานไม่เท่ากัน กล่าวคือ ในขณะที่ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ สามารถติดตั้งแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์แต่การติดตั้งแอปฯ เพื่อสมัครเป็นไรเดอร์ต้องใช้ระบบแอนดรอยด์เท่านั้น
นอกจากนี้ แรงงานหรือไรเดอร์ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในหลายเรื่อง เช่น ค่าสมัคร ค่าธรรมเนียมตรวจประวัติอาชญากรรม ค่าเปิดบัญชีธนาคาร ไปจนถึงค่าอุปกรณ์ เช่น เสื้อและกระเป๋าของแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม ค่าเสื้อและกระเป๋านั้นบางแพลตฟอร์มก็กำหนดว่าให้ไรเดอร์ออกเงินเองไปก่อนโดยจะคืนให้เมื่อวิ่งถึงจำนวนเที่ยวที่กำหนดไว้ ตลอดจนมีบทลงโทษไรเดอร์ที่ทำผิดกฎ ซึ่งดูในภาพรวมทั้งหมดแล้วเหมือนกับการทำสัญญาจ้างแรงงานมากกว่าสัญญาการเป็นคู่ค้า
4.รูปแบบการทำงานถูกกำหนดโดยแพลตฟอร์ม และบางอย่างเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจ เช่น รูปแบบการรับงาน บางงานแพลตฟอร์มจัดให้ บางงานไรเดอร์ต้องกดรับงานเอง, การรับอาหาร บางแพลตฟอร์มไรเดอร์มีหน้าที่เพียงรับอาหารไปส่งโดยร้านอาหารจะเตรียมอาหารไว้ให้แล้ว แต่บางแพลตฟอร์มไรเดอร์ต้องไปยืนยันการสั่งอาหารที่ร้านอาหารเอง,บางแพลตฟอร์มแม้จะเป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่ร้านค้าคนละแบบก็มีรูปแบบการยืนยันคำสั่งซื้อที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น ประเด็นนี้ตั้งข้อสังเกตว่า การออกแบบระบบของแพลตฟอร์มอาจจะมีเน้นการสำรวจความพึงพอใจแต่ในฝั่งผู้บริโภค แต่ไม่ได้
สำรวจฝั่งของไรเดอร์มากนัก
อรรคณัฐ กล่าวต่อไปว่า 5.รายได้ที่เหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ก็ยังแบ่งเป็นเขตเมืองชั้นในกับชั้นนอก ซึ่งค่าตอบแทนต่างกันทั้งที่ลักษณะงานแบบเดียวกัน 6.การมีระบบลำดับขั้นซึ่งมีผลกับการเลือกพื้นที่และเวลาทำงาน โดยการเลื่อนขั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานแต่ในทางกลับกันแพลตฟอร์มพยายามโฆษณาว่าเป็นการเลือกทำงานอย่างอิสระ
7.การรวมกลุ่มต่อรอง แม้จะมีความพยายามรวมกลุ่มแบบเข้มข้นมากขึ้น แต่ยังพบอุปสรรค คือ แพลตฟอร์มมีอำนาจสูงทำให้ไรเดอร์ส่วนหนึ่งไม่สะดวกใจที่จะรวมกลุ่ม กับยังไม่มีกฎหมายรับรองการรวมกลุ่มของแรงงานประเภทนี้ 8.ลักษณะของไรเดอร์ กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาพบไรเดอร์เพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งเพศหญิงมีข้อจำกัดในการทำงานมากกว่าเพศชาย เช่น การทำงานในตอนกลางคืน เนื่องจากกังวลด้านความปลอดภัย, ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่ม-สาว อายุเฉลี่ย 18-29 ปี และระดับการศึกษาเฉลี่ยคือมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรี
9.กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เกือบร้อยละ 80 ระบุว่า ทำงานส่งอาหารเป็นอาชีพหลัก แต่บางส่วนที่ระบุว่าทำเป็นอาชีพเสริม พบว่า อาชีพหลักทำงานอยู่ในภาคบริการ หรือบางคนเคยอยู่ในภาคบริการก่อนออกมาเป็นไรเดอร์เต็มตัว ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ธุรกิจภาคบริการได้รับผลกระทบหลายคนตกงานก่อนจะผันตัวมาทำอาชีพนี้ 10.แม้คำว่าอิสระจะถูกตั้งคำถามว่าอิสระจริงหรือไม่ แต่ไรเดอร์จำนวนมากก็พอใจกับลักษณะการทำงาน เช่น รายได้มาตามจำนวนงานที่ทำได้
11.รายได้จากการทำงานของไรเดอร์ พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 17,000 บาทต่อเดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษารถและค่าอินเตอร์เนตออกไปแล้ว ก็จะเหลืออยู่ที่ประมาณ 14,000-15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานอยู่ที่เกือบ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 12.ไรเดอร์จำนวนมากมีภาวะเจ็บป่วย เช่น ปวดเมื่อยหรือเป็นไข้เพราะทำงานตรากตรำกลางแดดและ “1 ใน 3 ของไรเดอร์เคยประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน” โดยผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุคือต้องหยุดทำงานเพื่อพักรักษาตัว ทำให้รายได้ลดลง
14.หลักประกันทางสังคม แพลตฟอร์มมีการกำหนดไว้แบบมีเงื่อนไข เช่น ประกันอุบัติเหตุ ต้องเป็นพนักงานที่ทำผลงานดีเท่านั้นจึงจะได้รับ และเป็นการประเมินแบบเดือนต่อเดือน หากเดือนใดผลงานลดลงก็จะไม่ได้รับ ซึ่งเรื่องนี้มีข้อเรียกร้องจากแรงงานจำนวนมากให้แพลตฟอร์มมีประกันอุบัติเหตุแบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยนั้นไม่มีสวัสดิการใดๆ นอกจากสวัสดิการของรัฐ เช่น ประกันสังคม มาตรา 33 กรณีมีอาชีพหลักในสถานประกอบการแล้วทำงานไรเดอร์เป็นอาชีพเสริม, มาตรา 39 กรณีลาออกจากงานในสถานประกอบการแล้วยังส่งเงินสมทบต่อเนื่อง, มาตรา 40 กรณีอาชีพอิสระ แต่มาตรา 40 นั้นมีคนสมัครน้อยเพราะสวัสดิการที่ได้ไม่จูงใจ นอกจากนี้ยังอาศัยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นหากเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จะไม่นิยมไปพบแพทย์ แต่จะพักผ่อนและซื้อยารับประทานเอง และ 15.ปัญหาที่พบในการทำงาน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากแพลตฟอร์ม เช่น ระบบไม่เสถียรหรือล่ม นอกจากนี้ยังพบปัญหาจากลูกค้า คือการปักหมุดพิกัดส่งสินค้าผิดทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของไรเดอร์ ทั้งเวลาและโอกาสในการรับงานต่อไป
“ไรเดอร์มองการทำงาน เงื่อนไขต่างๆ ที่แพลตฟอร์มให้ว่ามีเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของค่าตอบแทนที่ต่ำเกิน ในต่างจังหวัดให้ต่ำกว่าในกรุงเทพฯ บางพื้นที่เริ่มต้นที่ 20 บาท พอหักค่าคอมมิชชั่นแล้วเหลือแค่ 17 บาท แต่สภาพการทำงานโหดหินมาก แล้วเรื่องสวัสดิการที่ต้องการที่แพลตฟอร์มสามารถจัดให้ได้ ไรเดอร์ต้องการสิ่งใดเป็นอันดับหนึ่ง ก็คือเรื่องของประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ อยากจะให้มีแบบไม่มีเงื่อนไข” อรรคณัฐ ระบุ
อรรคณัฐ ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องความมั่นคงรายได้ ไรเดอร์อยากให้เพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น เพราะค่าตอบแทนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้หากมีการประกันจำนวนงานขั้นต่ำอันหมายถึงรายได้ที่จะได้รับในแต่ละวันได้ก็จะเป็นเรื่องดี ซึ่งดีกว่าการรอคอยในแต่ละวันอย่างไร้จุดหมายเพราะไม่สามารถใช้เวลาไปหารายได้ทางอื่นได้
ขณะที่ความท้าทายในส่วนของผู้ออกแบบนโยบาย คือจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายแพลตฟอร์มที่ไม่มีคำว่าแรงงานอยู่ในสารบบของธุรกิจ โดยมองไรเดอร์เป็นคู่ค้า กับฝ่ายไรเดอร์เองที่พอใจกับสถานะการเป็นแรงงานอิสระ มากกว่าแรงงานที่มีสถานะลูกจ้าง!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี