นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ) ธัมมาจารี สุขังเสติ ณ บัดนนี้อาตมาจะได้พระธรรมเทศนา ยกเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาชี้แจงให้พุทธบริษัทศาสนิกชนทั้งหลายได้สดับรับฟัง ตามสมควรแก่เวลา การปฏิบัติธรรมนั้น คือ ปฏิบัติตัวของเรา คำว่า "ธัมมจารี สุขังเสติ" คือ ธรรมมันอยู่ในตัวของเราอยู่แล้ว ธรรมมันอยู่ในตัวของเรา อยู่ที่ไหน อยู่ที่ปาก อยู่ที่ใจ อยู่ที่กายเรา ธรรมอยู่นี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ตัวของเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม นั่นแหละ คือ ธรรม เหมือนอย่างพี่น้องมาปฏิบัติธรรมในวัดแห่งนี้เป็นต้น ธรรม คือ รักษาปาก ปากพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ อะไรที่เป็นโทษ เราไม่พูด อะไรที่เป็นโทษ โกหก หลอกลวง แช่ง ด่า เบียดเบียนคนอื่นอย่างนี้ เป็นต้น
กาย เราก็ไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต นี่ก็เป็นธรรมแล้ว ใจ เราก็อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่า พูดสามองค์โพธิ์ศรี เรียกว่า พูดภาษาพุทธทำนาย พุทธทำนาย ไม่รู้ใครเขียนเอาไว้ ก็คนรู้ ผู้รู้นั่นแหละ ทำนายเอาไว้ตามพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ดูในตำรับตำรา และก็มาทำ มาเขียนเป็นตัวภาษาไทย เริ่มต้นเดิมทีเป็นภาษาบาลี ก็มาถอดเป็นภาษาไทย เขียนเป็นหนังสือออกมา เนี่ยพุทธทำนาย อาตมาว่ามันถูกมาหมดน่ะ ถูกตามพุทธทำนาย ดูมา ดูมา ก็ถูกมา ถูกมา ในปัจจุบันนี้กำลังถูกอยู่ นอกนั้นผ่านมาหมดแล้ว ข้าวบ่มีลาน ก็ผ่านมาแล้ว ทำงานบ่มีผัวก็ผ่านมาหมดแล้ว เจ้าหัวบ่มีวัตรก็ผ่านมา แล้วก็โรคระบาดกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ถ้าผ่านตรงนี้ไปก็อยู่เย็นเป็นสุข มีแต่คนมีถิ่นมีธรรมอยู่ด้วยกัน เชื่อใจวางใจกันได้ เพราะทุกวันนี้โลกอยู่ไม่เป็นสุข เพราะคนไม่มีศีลธรรม เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีศีลไม่มีธรรม กลัวสิ่งของจะหาย กลัวขโมยมาเอา กลัวเขามาโลภมาเอาของ มันกลัว ถ้ามีศีลธรรมแล้ว ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อยู่อย่างสบ๊าย สบาย
ศีลธรรมเป็นประโยชน์อย่างนี่แหละ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีศีลมีธรรม เป็นหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่มีทุกข์จริงๆ น่ะ ถ้าต่างคนต่างมีศีล ต่างคนต่างมีธรรม ไม่เป็นทุกข์ ที่ว่า "ธัมมาจารี สุขังเสติ" มีความสุข การปฏิบัติธรรมมีความสุขทางใจ ทางกาย ทางวาจา ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตนเองและคนอื่น เป็นพิษเป็นภัยต่อตนเองยังไง พูดออกไปแล้ว มันเอาคืนไม่ได้ พูดออกไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ ไปเข้าหูคนอื่นแล้ว ถ้าพูดไม่ดีก็เข้าหูคนอื่น ก็เอาคืนไม่ได้ นั่นเป็นพิษเป็นภัย เพราะฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติธรรมแล้ว จึงมีความสุข "สุขังเสติ" เป็นผู้ปฏิบัติธรรม มีความสุข มีความเจริญ ในหน้าที่การงาน มีความเจริญในความเป็นอยู่ มีความเจริญในวิถีชีวิตของเรา
ถ้าไม่มีศีลมีธรรม ตกระกำลำบาก มีเงินก็เหมือนไม่มี เป็นเศรษฐีร่ำรวยก็เหมือนไม่มี มีความเร่าร้อน มีเงิน มีความร้อน เป็นพิษเป็นภัยต่อตนเอง กลัวคนจะมาปล้นมาจี้มาลักมาล้วงมาขโมย มีหวาดระแวงอยู่ตลอด จะไปไหนก็หวาดระแวง ถ้ามีศีลมีธรรมแล้วจะไปไหนก็สบาย ไม่ต้องกลัว เพราะศีลธรรมนั้นป้องกันภยันตรายทั้งปวงได้ ศีลธรรมนั้นปกปักรักษาเราได้ ศีลธรรมนั้นอยู่เย็นเป็นสุขทุกคนเมื่อปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น วัดอโศการามมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฯมาโปรดทุกวันอาทิตย์ ก็น่าอนุโมทนา ได้ฟังเทศน์พ่อแม่ครูอาจารย์ฯหลายท่านหลายองค์ อาจารย์สุธรรมฯ ก็ทราบว่ามาเทศน์อยู่เรื่อย
อาจารย์เชาวน์ฯ ก็มาเทศน์ก็อยู่ใกล้กันกับอาจารย์เบา แต่ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ไข อายุพรรษาท่านก็บวชตามหลังอาจารย์เบา แต่ดูท่านเป็นพระผู้ใหญ่แล้ว เสียงดัง เสียงดี อาจารย์เชาวน์ฯ เสียงดัง เสียงดี อยู่ใกล้กัน อาตมาอยู่นครพนม อาจารย์เชาว์ฯอยู่สกลนคร อาจารย์สมหมายอยู่อุดร พระอาจารย์สุธรรมฯแต่ก่อนก็อยู่ใกล้กัน เดี๋ยวนี้ก็มาอยู่วัดหลวงตามหาบัว อาจารย์สุธรรมฯแต่ก่อนก็อยู่ใกล้กันกับอาจารย์เบาแหล่ะ ห่างกัน 10 กิโล 10 กว่ากิโล พอหลวงพ่อสุดใจมรณภาพก็อาจารย์สุธรรมมาอยู่ เป็นสายครูบาอาจารย์ฯ รุ่นราวคราวเดียวกัน ท่านแก่กว่าอาจารย์เบา 5 ปี อาจารย์สุธรรมฯ อาจารย์เชาวน์ก็อ่อนกว่าอาจารย์เบา 2-3 ปี อาจารย์สมหมายก็แก่กว่าอาจารย์เบา อยู่ 4-5 ปี เห็นกันเรื่อย ไปมาหาสู่กันอยู่เรื่อย นอกนั้นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฯ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปหมดแล้ว เหลือแต่ลูกแต่หลานอยู่ด้วยกัน ก็รักษาธรรมะพ่อแม่ครูอาจารย์ฯเอาไว้ ข้อวัตรปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เหมือนอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ฯอบรมสั่งสอน รักษาให้มันยังคงอยู่ ตามที่วัดป่า หลวงปู่มั่นยิ่งลำบากกว่าพวกเรา ลำบากมากๆ เป็นองค์บุกเบิกครั้งแรกพระกัมมัฎฐาน ลำบากมาก อยู่ในภู ในเขา บางบ้านเขาก็ให้ข้าวกิน บางบ้านเขาก็ไม่ให้ข้าวกิน ท่านก็อดทน ทำความพากความเพียร
อาหารการอยู่การฉันก็ลำบาก อาตมาไปอยู่ทางภาคเหนือ เขาเอาอะไรให้กินก็กินไปตามมีตามได้ คนแถวเราไม่มีหรอก เขาเอาอาหารใส่บาตรไม่เหมือนบ้านเรา คนภาคเหนือ คนชาวเขา ชาวภู ชาวเขา นั่นน่ะ อยู่บนดอย บนภู บนเขาน่ะ อาตมาเคยไปบิณฑบาต โน่นอำเภอแม่แจ่ม อำเภอจอมทอง ขึ้นไปทางดอยอินทนนท์ เขาใส่อะไร มะพร้าวนี่เขาใส่หมดลูกเลย เป็นลูก ไม่ได้ผ่า ไม่ได้อะไร แกะเปลือกแล้วใส่เลย กล้วยก็ใส่เป็นหวี ใส่บาตร ไม่ได้ปาด ไม่ได้อะไร ใส่เป็นหวี ใส่ให้พระ ไก่ก็ใส่เป็นตัว อาตมาไปบิณฑบาต มันเป็นอย่างนั้น ไม่ได้พูดตามครูบาอาจารย์ฯน่ะ พูดด้วยตนเอง และ ปฏิบัติเห็นด้วยตนเอง เขาใส่เป็นตัว จะมากินยังไง ดีแต่มีเด็กวัดอยู่ด้วย เอามาให้เด็กวัดเขาทำให้พระฉันได้ หมากแตงโมก็ผ่าครึ่ง ก็ใส่บาตรไปเลย ไปบิณฑบาตก็ไม่ใช่เขาจะใส่ให้เราเลยน่ะ พระเดินไปเนี่ย เห็นอยู่พระไปบิณฑบาต แต่เขาคุยกันเฉย เขาคุยเสร็จถึงมาใส่บาตรให้เรา ถ้าเขาคุยยังไม่เสร็จ เราก็ต้องรออยู่นั่น ให้เขาคุยกันเสร็จซะก่อน โน่นนี้อะไร เรื่องวัว เรื่องควาย ก็ให้เขาทำธุระอะไรให้เสร็จก่อน แล้วเขาถึงจะมาใส่บาตร นี่ชาวเขา
อาตมาไปสมัยยังเป็นพระหนุ่มๆ ยังเดินธุดงค์อยู่ เดินไปตามภู ตามเขา หลวงปู่มั่นยิ่งกว่านั้น สมัยห้าสิบปีคืนหลัง สมัยอาตมาก็ยังขนาดนี้ หลวงปู่มั่นยิ่งกว่านั้น บิณฑบาตเขาก็เอากบใส่บาตร ให้สูไปปันกันกินเน้อว่ายังงั้น เฮาก็เอาใบตองใส่กบ ใส่บาตร ไปปันกันกินเด้อ กบก็บ่ทันได้ตาย อือม์ นี่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ฯ ได้พบเห็นได้เผชิญมา ท่านก็ไป อยู่เมืองเหนือ หลายปีน่ะหลวงปู่มั่น อยู่เมืองเหนือหลายปี เพราะเมืองเหนือนั้นมีภูเขาเยอะ การภาวนาก็ดี ไม่มีคนไปเพ่นพ่าน มันเงียบ พ่อแม่ครูอาจารย์ฯหลายองค์ก็คนจังหวัดเลย ไปอยู่เชียงใหม่ พ่อแม่ครูอาจารย์ฯหลายองค์ หลวงปู่สิม หลวงปู่ชอบไปทนทุกข์ทรมานอยู่บนเขาบนดอย บนภูบนเขา เพราะปฏิบัติธรรมนั้นต้องไปอยู่ห่างไกลประชาชน อยู่ที่สงบสงัด หลวงตาบัว สบาย เวลาฉันเรายังไปบิณฑบาต ถ้าไม่บิณฑบาตก็นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่หลายวันจะไปบิณฑบาต ก็บิณฑบาตมาฉัน 7 วัน 15 วัน เป็นเดือนก็มี 20 วัน อดข้าว มันหิวอยู่สองวันเท่านั้นแหละ นอกจากนั้นไม่หิว วันแรกสองวันนี่หิว สี่ห้าวันไปแล้ว ไม่หิว อยู่สบาย สบาย ไม่หิวเลย ฉันแต่น้ำ น้ำนี่อดไม่ได้ ขาดน้ำ ขาดไม่ได้ ขาดอาหารอยู่ได้ ขาดน้ำนี่อยู่ไม่ได้ พ่อแม่ครูอาจารย์ฯปฏิบัติ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้ากลัวตายไม่เห็นอรรถไม่เห็นธรรม ถ้าไม่กลัวตาย จึงชนะได้ ถ้ากลัวนี่ไม่ชนะ แพ้ตลอด นี่คือการปฏิบัติธรรม
เหมือนทหารสมัยก่อนก็เช่นเดียวกัน สมัยพระเจ้าตากสินตีหม้อข้าวหม้อแกงแตกหมด ถ้าไม่ชนะไม่ได้กินข้าว ต้องตีชนะ ถึงจะได้กินข้าว เอาอย่างนั้น “ทหาร” พระเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ากลัวตายไม่เห็นธรรม ถ้าไม่กลัวตายจึงจะเห็นธรรมได้ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เหมือนกับหลวงตาบัวก็นั่งจนก้นแตก หลวงปู่มั่นเดินจงกรม จนพระบาทซ้อด เดินกลับไปกลับมา จนตีนซ้อด จนเป็นนิสัย เรียกว่า ข้อวัตรปฏิบัติเป็นนิสัย หลวงตาบัวก็เก้าสิบกว่าปีก็ยังเดินจงกรมอยู่ จนป่วยใกล้จะมรณภาพถึงหยุด เดินไม่ได้ ถึงไม่เดิน หลวงตามหาบัว เขาโทรไปบอกอาจารย์เบา อาจารย์เบาอยู่เชียงใหม่ อยู่อำเภอจอมทอง บอกว่าหลวงตามรณภาพแล้ว อาจารย์เบาก็รีบกลับมา มาวัดบ้านตาด เข้าไป ยังมีอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านสลบไปสลบมา อาตมายังเข้าไปกราบหลวงตามหาบัว ก่อนจะหมดลม ไปกราบพระบาท กราบตีนท่าน เอาหัวไปใส่ตีนท่าน และ ออกมาไม่นาน ท่านก็หมดลม หมดลมในขณะนั้นเลย ถ้าพูดตามประสาบ้านเรา ก็คงจะคอยเราอยู่ไม่รู้ เขาโทรไปบอกตั้งแต่อยู่เชียงใหม่ว่า หลวงตาหมดลมแล้ว ก็รีบมา มาท่านยังอยู่ เพราะอะไร พออาตมาเข้าไปกราบ มีหมอ หมออยู่ไหนก็ไม่รู้ หมอที่อุปัฎฐากท่านน่ะ ก็เอาอะไร เอาเล็บเป็นเล็บไปกรีดพระบาทท่าน ท่านยังกระดิก กระดิกอยู่ เอาเล็บไปกรีดพระบาทท่าน ท่านยังกระดิก กระดิก แสดงว่าให้กรีด เพราะกระดิก แล้วอาจารย์เบาก็เข้าไปกราบ อาจารย์เบาออกมา ท่านเจ้าฟ้าหญิงเข้าไป จุฬาภรณ์เข้าไป แป๊บเดียวท่านก็หมดลม หลวงตามหาบัว พ่อแม่ครูบาอาจารย์ฯผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปหมดแล้ว เหลือแต่พวกเราก็ถือข้อวัตรปฏิบัติพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฯ ท่านสอนยังไง สอนให้นั่งสมาธิ สอนให้เดินจงกรม
เดินทำไม? เดินจงกรม เปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมเปลี่ยน สุขภาพร่างกายเรานี้ มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน นั่งคือนั่งสมาธิ นอนก็นอนสมาธิ นอนสมาธินอนยังไง นอนสีหไสยาสน์ นอนตะแคงข้างขวา บริกรรมพุทโธ พุทโธ และ นอนภาวนา นอนภาวนา นอนตะแคงข้างขวา ทำยังงี้ พุทโธ พุทโธ จนหลับ นั่งก็คือนั่งสมาธิ เหมือนพี่น้องญาติโยมนั่งอยู่ในขณะนี้ เรียกว่า นั่งสมาธิ เดินทำไมต้องเดิน เปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็ไม่ได้ เดินจงกรม หลวงตาบัวเดินหนักด้วย หลวงปู่มั่นก็เดินหนัก อาจารย์เบายังไม่หนักเท่าไหร่ ทำเบาๆ ทำวัตรเย็นแล้วก็เดิน เดินเสร็จก็มาทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นเสร็จก็ไปเดินจงกรม เดินไปเดินมา พอตีสี่ก็ลงมาทำวัตร หรือไม่ก็ไปนั่งสมาธิ อยากก็ฉันไม่อยากก็ไม่นั่ง ไปบิณบาตร อยู่นั่นเป็น 20 วัน 15 วันบ้าง 20 วันบ้าง 7 วันบ้าง สมัยทำความเพียร สมัยยังเป็นหนุ่ม ยังแข็งแรง ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องทำจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ นั่งสมาธิก็นั่งจริงๆ นั่ง ถ้ามันมีพุทโธ มันไม่ง่วงน่ะ ถ้าพุทโธหายมันจะง่วง ง่วงคืออะไร ง่วงคือ หาวหง๊อกๆ จะหาวนอนแล้ว นั่งพุทโธ พุทโธ มันง่วง มันขาดสติ มันเลยหงาวนอน ถ้ามีสติดู เริ่มแรกเดิมทีก็ดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็พุทโธ พุทโธ อยู่อย่างนั้น เมื่อจิตมันละเอียด จิตมันนิ่ง แล้วก็ถอนออกมา ออกมาดู ดูอะไร ดูขนเล็บฟันหนังของเรานี่แหล่ะ ส่วนใดส่วนส่วนหนึ่ง ดูทำไม ดูให้มันเห็น ให้มันรู้ เห็นอะไร เห็นอรรถเห็นธรรม ดูขนเล็บฟันหนัง จึงให้กัมมัฎฐาน จึงมาเป็นกัมมัฎฐาน
กรรม คือ การกระทำ ฐาน คือ ตั้งอยู่ในตัวของเรา ตั้งสติอยู่ในตัวของเรา ก็ดูขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เหมือนพระเณรจะบวช อุปัชฌาย์ก็ให้กัมมัฎฐานมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ให้ดูขึ้นดูลงอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องไปดูอย่างอื่น ดูขนเล็บฟันหนังเราเนี่ย นั่งภาวนา อย่าไปดูอย่างอื่น ให้จิตมันอยู่ในกัมมัฎฐานเนี่ย ให้จิตมันอยู่ในตัวของเราเนี่ย ไม่ให้จิตมันไปอยู่ในสมบัติต่างๆ ไม่ให้จิตมันไปอยู่กับยศฐาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง เพราะศีลธรรมนั้นไม่มีตำแหน่ง มีแต่ตัวของเรา มีแต่บริกรรมพุทโธ พุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาเทศน์วัดป่าสุทธาวาส สอนพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้ดูพุทโธ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่า ธัมมจารี สุขังเสติ
สุขังเสติ มันมีความสุข นั่งพุทโธ พุทโธ ไม่ต้องคิดไปโน่นไปนี่น่ะ ให้พุทโธ พุทโธ อยู่ตลอด จิตจะมีความสุข จิตมันเย็นสบาย จิตมันนิ่ง เย็นสบาย พุทโธ แปลว่า ผู้ตื่น ตื่นขึ้นก็ตั้งอกตั้งใจกับคุณงามความดี ตื่นต่อบาปต่อบุญต่อคุณต่อโทษ รู้จัก เหมือนคนตื่น คนตื่นนอนมันเห็นโน่น เห็นนี่ นี่เราตื่น เราดูในร่างกายเรา คือ เป็นผู้ตื่น เห็นร่างกายเรา มันเป็นของไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืน ของเที่ยงคือศีลธรรมเท่านั้น มันจะเที่ยงได้ ร่างกายเรามันไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวก็ตาย เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ตาย แต่การเกิดของเรานั้น ถ้าหากว่าเรามีศีล มีธรรม มีคุณงามความดี ก็มาเกิดเป็นคน ถ้าเราไม่มีศีลมีธรรมก็ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัมภเวสี อสุรกาย อย่างนี้ เป็นต้น บาปก็ไม่ทำ บุญก็ไม่ทำ ไปเป็นสัมภเวสี
สัมภเวสีคืออะไร คือ เป็นผีหลอกคน ว่าผีหลอก เนี่ยพวกสัมภเวสี ไม่ได้เกิด ไม่ได้ตกนรก ไม่ได้เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นวิญญาณท่องเที่ยวในวัฎฏะสงสารเนี่ย อยู่ตามต้นไม้ชายเขา มีทั้งหมด พระพุทธเจ้าเราจึงไม่ให้ตัดต้นไม้ ไม่ให้ดายหญ้า เพราะในต้นไม้ต้นหญ้านั้นมีวิญญาณของคนอยู่ ในต้นไม้ใบหญ้าน่ะ ทุกต้น มีวิญญาณสถิตย์อยู่ พระพุทธเจ้าจึงห้ามพระ บอกพระไม่ให้ตัดต้นไม้ ไม่ให้ดายหญ้า นี่ตามพระวินัยของพระ พระยังตัดต้นไม้ไม่ได้ ดายหญ้าไม่ได้ ญาติโยมทำได้ เพราะศีลไม่มาก ศีล 5 ข้อ แต่พระนี่ 227 ข้อ ศีลของพระ ละเอียด การดู การฉัน การไป การมา การพูด การจา การเดิน การนั่ง มันละเอียด จึงเป็นผู้ควรกราบ ควรไหว้ ควรสักการะ ควรให้ของพระ เพราะศีลเยอะ ข้อวัตรปฏิบัติเยอะ 227 ข้อ เพื่อจะให้จิตมันละเอียด จิตมันเห็นอรรถ เห็นธรรม ได้เยอะกว่าญาติโยม พ่อแม่ครูอาจารย์ฯหลายท่านหลายองค์ในปัจจุบันเรา แต่อนาคตเราไม่รู้ ถ้าพูดตามพุทธทำนาย โยมก็เห็นได้น่ะ เห็นธรรม เป็นพระโสดาบันได้ เป็นพระอนาคามี อนาคามีมรรค อนาคามีผลได้ เหมือนพระเจ้าสุทโธธนะ ท่านพ่อของพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็เป็นคนก็ได้เป็นอรหันต์ได้ ไม่แพ้แม่พระสารีบุตร ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันได้
แม่พระสารีบุตร พระสารีบุตรไปโปรด ไปโปรดแม่ ลูก 7 คนไปบวชหมดเลย แม่นี่เครียด อยู่กับพ่อ 2 คน ลูกไปบวชหมด ลูกคนเล็กว่าจะให้บวชแต่น้อย สิว่าให้อยู่กับครอบครัว อยู่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ คิดแต่งงานให้แต่น้อย ตั้งแต่อายุ 7 ปี แต่งงานให้ ในขณะที่จะแต่งงาน นั่งเกวียนไป๋ สมัยก่อนบ่มีรถ มันบ่มีรถ นั่งเกวียนไป ในระหว่างทางบอกโชเฟอร์เกวียน คนขับเกวียน จอดๆ จะลงไปธุระ ลงจากรถแล้วไปเล่ย ลงจากเกวียนแล้วไปเล่ย ย่างไปเล่ย ไปหาอ้าย ไปหาพระสารีบุตร ไปบวช อายุ 7 ปี นี่ว่าบุญเก่า มีบุญเก่า พ่อแม่ก็ไม่ให้ไป แต่ไปด้วยตนเอง บุญเก่ามี ไปด้วยบารมีธรรมพานำไป บารมีธรรมพาไป ไปบวช
อาตมาก็ไปนั่งภาวนากับอาจารย์กงมา ตั้งแต่เป็นเด็ก เด็กขนาดไหน 7-8 ปี เข้าวัดตั้งแต่ยังเล็ก เล็กขนาดไหนไม่ทราบประมาณ 2 ปี 3 ปี ผู้ใหญ่บอก อย่าไปใกล้ อย่าไปใกล้แม่ชีหลาย ยังน้อยอยู่ จึงถอยออกมา มันสะอ่อน มันดีใจ เห็นนักบวชแล้วดีใจ บ่ให้เข้าไปใกล้ ก็ถอยออกมา พอโตขึ้นมาหน่อย ก็ไปภาวนากับหลวงปู่กงมา อาจารย์วิริยังค์ อาจารย์แบน เป็นครูบาอาจารย์ ไปภาวนาอยู่กับท่าน พอโตขึ้นมาหน่อย จนกระทั่งเข้าโรงเรียน ออกโรงเรียนแล้วไปบวชเลย ออกโรงเรียนแล้วเขาก็มาขอไปบวช แต่มหานิกาย เฉยๆ ไม่ได้เกลียด ไม่ได้ชัง แต่จิตใจมันเฉยๆ มันไม่อยากไป ถ้าพระกัมมัฎฐานมานี่อยากไป
พอเขาบอกว่า พระกัมมัฎฐานมาแล้วนี่ ไปเลย ไปกับพระกัมมัฎฐานเลย ไปตั้งแต่วันนั้นยังไม่ได้กลับบ้านเลย เดินไปกับพระกัมมัฎฐาน ตั้งหลายเดือนถึงได้บวช เดินไปกับพระกัมมัฎฐาน เดินไป สมัยก่อนไม่มีรถ เดินไปกับพระกัมมัฎฐานแล้วก็ไปภาวนา พระกัมมัฎฐานจริงๆน่ะ อาตมาเป็นเณร คนตาย อาจารย์ท่านบอกว่า เณรไปภาวนา เอาอาตมาไปฝากไว้ มองเขาเผาศพน่ะ แล้วหลวงพ่อก็เดินกลับ นั่งอยู่นี่น่ะ ให้อยู่นี่น่ะ เป็นเณรอยู่ หลวงพ่อเดินกลับ กลัวพ่อมากกว่าผี กลัวครูบาอาจารย์ฯมากกว่าผี นั่งอยู่นั่นล่ะ พุทโธ พุทโธ อยู่นั่นแหล่ะ ผ้าจีวรนี่เปียกอยู่ เหงื่อแตก มันไหลเปียกผ้าจีวร นั่งสักพักจะมาเอา พักของครูบาอาจารย์ฯก็นั่นแหละ 3 ทุ่มจนตี5
ตี 5 ก็มารับไปสวดมนต์เช้า ทำวัตรเช้า นี่พ่อแม่ครูอาจารย์ฯสอนไปฝึก ไม่ได้สอนเฉยๆน่ะ เอาไปฝึกด้วย เอาไปฝึกน่ะ ฝึกความกลัว จากนั้นท่านก็ให้ไปคนเดียว ไปภาวนา ถ้ามีคนตายมาเผาศพที่ป่าช้า ท่านบอกไปเลย ไปภาวนาเด้อนี่ กลัว จะกลัวอาจารย์ยิ่งกว่าผี เดิน เดินไป ไม่ได้เดินธรรมดาน่ะ กลัวผี ถ้าไม่เดินก็ไม่ได้ไป พ่อแม่ครูอาจารย์ฯบอกว่าต้องไป แต่กลัว ก็ไป เดินยังไง เอาตีนต่อกันไป เอาตีนยกขึ้น มาต่อตัวนี้ เอาตัวนี้มาต่อตัวนี้ ก้าวไป เอาตีนต่อตีนไป ไม่หยุด เดี๋ยวก็ถึง ไปถึง ไฟกำลังไหม้ นั่งภาวนาอยู่นั่นล่ะ
นั่งไปนานๆ ไม่เห็นผี บ่เคยเห็นผี นั่งดู ดูลมหายใจ พุทโธ พุทโธ คนหลับตาเนอะ นั่ง “พุทโธ” หลับตาอยู่ได้ยินเสียงเดิน แช๊บ แช๊บ มา ผีหรือเปล่าว่าเนี่ย มาแล้วก็ย่ำ คว๊าบ คว๊าบ ต๊าย! ผีมันย่ำแคว่ว คว๊าบ คว๊าบ ย่ำก๊อบ ก๊อบ ก๊อบ ยิ่งย่ำยิ่งกลัว แต่ก็นั่งนิ่งอยู่นั่นแหล่ะ ดังก๊อบแก๊บๆ หรือมึงจะกินกูว่ะ จะกินตอนไหน พี้ๆตาเบิ่ง หมา ทางคนภาคอีสาน เวลาคนตายก็แต่งผ้าขาว เอากระดูก เอาไก่ เอาใส่ข้าว ให้คนตายกิ๋น หมาไปย่ำกระดูกไก่ดังกร๊อบๆ เลยบ่แม่นผี นั่งภาวนาต่อ นั่ง เขาว่าผี โดนพื้นมันขาด ตกอ้าแล้ว บ่ใช่ผี แต่พื้นมันขาด นั่งไปนานๆ ในกองไฟ แมลงไหม้มันมาตอมไฟ นกเค้า แคว๊ก แคว๊ก มาตอมไฟ มากินแมงไหม้อยู่ในไฟ มันตอมไฟ นกเค้ามันบินมา มันบินมา บ่บินมาซื่อๆ มันพัดเอาหัวเฮาเนี่ย ใกล้ๆ เลยตื่น เลยลืมตา เลยลุกออกมา มาย่านผีมาแล้ว เฮ็ดจั่งใด๋ บ่ย่านผี ผีมันเฮ็ดตามหลังไป ความคิดเด็กน้อย เลยเดินถอยหลังกลับมา เอาตีนต่อเดินถอยหลังกลับมา ออกจากป่าช้าเดินออกมา ถอยหลังออกมา แต่นั้นมาก็ไปเรื่อยๆ เลยไม่กลัวผี นี่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ฯสอน ไม่ได้สอนแต่ปาก สอนให้กระทำด้วย ใช่ไหม
อาตมาเป็นเณร จึงมาบวชเป็นพระ จึงไม่กลัว ไปอยู่ไหนได้หมด เดินจงกรม ภาวนาอยู่คนเดียวก็ได้ เดินภาวนาตามภูตามเขา ไม่มีผี มีแต่ความกลัว ใจของเรา ไปหลอกเรา ใจเรานี่หลอกเรา ผีมันไม่หลอกหรอก ใจมันหลอก มันกล้าทำให้เราไม่ได้ นั่งสวดมนต์เนี่ย เสียงปึ้มปั้ม ปึ้มปั้ม ตกมาแต่ทางฟ้าน่ะ ก้อนหินขนาดนี้ เท่าก้อนเสา ตกบึ้มบั้ม บึ้มบั้มลงมา กำลังสวดมนต์อยู่ อาตมาก็ไม่ได้ไปดู ก็สวดมนต์ไปเรื่อยๆ พอสวดมนต์เสร็จไปดู ไม่มีอะไร ตกมาจากบนฟ้า ใส่หลังคา ตึ้มตั้มๆ ข้างศาลา สักรถสองรถ มันตกลง ก้อนหินเสียงดังตึ้มตั้มๆ ไปอยู่ป่าครั้งแรก มีจริง แต่มันไม่ทำอะไรให้เราได้ เพราะอะไร เพราะว่า มันทำให้เรากลัว มันทดสอบจิตใจผู้ปฏิบัติธรรม มันทดสอบปฏิบัติธรรม มันจะกลัวไหม ถ้ากลัวแล้วธรรมแตก เราก็ทำหน้าที่ของเราไปจนจบ แล้วไม่มีอะไร จากนั้นมาก็เป็นแสงขึ้นข้างบน ขึ้น เหมือนบั้งไฟดอก เป็นแสงพุ่งขึ้นข้างบน ที่หลวงพ่อฯอยู่มันเป็นแสงขึ้น คนในบ้านมองมาเห็น ห่างจากหมู่บ้าน 2 กิโล เขาเลี้ยวมาเห็น กลางวันก็เป็น กลางคืนก็เป็น เป็นแสงพุ่งขึ้นข้างบน กลางวันเขาก็เดินมาดู พอมาใกล้ๆแสงไม่มีแล้ว ดับไป พอมาใกล้ๆแสงก็ดับไป พออยู่ห่างๆจะมีแสงขึ้นไปด้านบน เขาเห็นแล้วเขามาพูดให้ฟัง
อาตมาก็นั่งเฉยๆแหล่ะ ไม่มีอะไร ไม่ได้ทำอะไร มีแต่พุทโธ นั่นล่ะ พุทโธ จึงมีฤทธิ์ เพราะฉะนั้นพี่น้องญาติโยม อย่าไปลืมพุทโธ ให้ปฏิบัติ พุทโธ พุทโธ เป็นอรรถ เป็นธรรม ศักดิ์สิทธิ์จริง เห็นจริง รู้จริง รู้อรรถ รู้ธรรม เห็นจริง เห็นอรรถ เห็นธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ฯหลายองค์หลายท่าน ปฏิบัติแล้วเห็นอรรถเห็นธรรม มันอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวของเราเนี่ย ไม่ได้อยู่ในตำราหรอก อยู่ในตัวของเราเนี่ย อยู่ในหัวใจเราเนี่ย อยู่ในตัว อยู่ในหัวใจเรา ธรรมมันอยู่นี่ เพราะฉะนั้น วันนี้พี่น้องญาติโยมมาปฏิบัติธรรมคือ ปฏิบัติตัวของเราเป็นบุญเป็นกุศล เป็นศิริมงคล
พระธรรมเทศนา พระครูสามารถกิตติคุณ (เบา โอภาโส) วัดป่ากิตติพรพุทธาราม อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี