"ดร.พลรชฏ เปียถนอม" น้อมนำกระแสพระราชดำริ ในหลวง ร.9 นำ "เกษตรพอเพียง" พลิกแดนเนรมิต สวนสนุกเก่าพื้นที่ 33 ไร่ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีการ "เกษตรแม่นยำ" ลงทุนซอฟท์แวร์และสวนมะม่วงถึง 40 ล้านโดยฝีมือของ ดร.พลรชฏ เปียถนอม ผู้เคยสร้างชื่อ "ข้าวหอมมะลิไทย" สู่ตลาดเครื่องดื่มแปรรูป วันนี้สวมบทบาทกู้ลมหายใจเกษตรกรไทยกับเอไอ และพร้อมสร้างคนรุ่นใหม่สู่วงการเกษตร
"มะม่วงมีหน้าที่ออกลูก ก็ต้องออกลูก ที่นี่ผมต้องการทำเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างเกษตรป้ายแดง เพื่อทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่า" นี่คือประโยคที่บอกเล่าอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความมุ่งมั่นของ "ดร.พลรชฏ เปียถนอม" ผู้พัฒนาเกษตรเมืองไทย ในวัยเกือบ 69 ปี ยังเต็มไปด้วยเป้าหมายที่มองโลกในแง่บวกว่า วันหนึ่งประเทศไทยจะมีนโยบายการปั้น "เกษตรกรรุ่นใหม่" วัย 20 กว่าปีไปจนถึง 30 ปี สู่เส้นทางการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ที่มีความรู้และทักษะอย่างครบเครื่อง โดยเฉพาะการทำเกษตรกรรมที่ผสมผสานกับทักษะการตลาดอย่างมืออาชีพ
"แนวหน้า ออนไลน์" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "ดร.พลรชฏ" ถึงเรื่องราวที่มาแห่งแรงบันดาลใจในการปลุกปั้น "สวนสนุกแดนเนรมิต" บนพื้นที่ 33 ไร่ ให้เป็นตัวอย่าง "สวนเกษตรใจกลางเมืองหลวง"
"ประเทศเนเธอร์แลนด์เล็กกว่าเรา 5 เท่า แต่ขายสินค้าเกษตรออกมากกว่าเรา 6 เท่า ประเทศเราใหญ่กว่าเขา 5 เท่า แต่ขายสินค้าถูกกว่าเนเธอร์แลนด์ 6 เท่า ซึ่งผมไม่ได้มองว่าระบบของประเทศไทยเป็นอุปสรรค แต่มองว่าจะสร้างยังไงให้ 3 ฝ่ายมารวมกัน คือ เจ้าของที่ดิน เจ้าของทุนและผู้ประกอบการ ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่มีระบบให้ผู้ประกอบการปริญญาตรี ป้ายแดง มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจที่เป็นสินค้าเกษตร" อาจารย์พลรชฏเปรียบเทียบมูลค่าราคาสินค้าเกษตรที่ทำให้ "เนเธอร์แลนด์" เป็นเมืองเกษตรที่ใครๆก็อยากเป็นเกษตรกร และเห็นช่องว่างในประเทศไทย ที่ยังไม่มีการผลักดันบัณฑิตจบใหม่ให้มีทักษะด้านการตลาดที่ขายสินค้าเกษตรได้ตั้งแต่เริ่มผลิต สร้างแบรนด์ วางแผนการตลาดและหาตลาด
จากจุดเริ่มต้นแนวคิดนี้ทำให้อาจารย์พลรชฏบุกเบิกที่ดินร้างว่างเปล่าด้วยการคุยกับเจ้าของที่ดินเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นที่ดินที่เคยเป็นสวนสนุกแดนเนรมิตเก่า โดยเจ้าของที่ดินผืนนี้คือ ตระกูล "เสรีเริงฤทธิ์" โดยต้นตระกูล คือ "หลวงเสรีเริงฤทธิ์" มีตำแหน่งเป็น "อธิบดีกรมรถไฟ" ระหว่าง พ.ศ.2492-2502 เป็นช่วงหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 โดยปัจจุบันที่ดินในผืนแดนเนรมิตเก่า ทางตระกูล "เสรีเริงฤทธิ์" รอการพัฒนาที่ดิน แต่ไม่มีเป้าหมายขายขาดให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง
ดร.พลรชฏ บอกด้วยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1 ล้านกว่าไร่ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ อยู่ระหว่างรอการพัฒนา รวมทั้งยังเห็นว่า หากพื้นที่เหล่านี้นำมาใช้ประโยชน์เป็น "สวนเกษตรกลางเมือง" ก็จะเป็นการน้อมนำพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) มาใช้อย่างจริงจัง
"แล้ววันนี้ เราไม่กลับมาดู ในกรุงเทพฯ มีใครพัฒนาเกษตรในเมืองบ้าง ผมว่าจุดนี้ต่างหากที่พูดกันปาวๆ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในมือคุณไม่มีใครทำ ชุมชนต่างๆในเมือง มีใครทำเกษตรบ้าง เพราะอนาคตก็ไม่มีใครอยากทำเกษตรต่างจังหวัด เพราะการทำเกษตรในที่ห่างไกล ต้นทุนก็สูง เพราะลอจิสติกส์ (logistic) ก็แพงมาก ของเน่าเสีย ก็มาเป็นขยะในเมืองหลวง เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาดูใหม่ว่า เกษตรในเมือง หน้าตาเป็นอย่างไร จริงๆ การทำเกษตรในเมือง การสร้างผู้ประกอบการใหม่ การอยู่ใกล้แหล่งผู้บริโภค เป้าหมายการลดของเสีย ก็เป็นโมเดลของสหประชาชาติที่บอกว่า ม้า 3 ขา ทำไงให้มีคนพอมีพอกิน มีคนลงทุนแล้วได้กำไรบ้าง โลกสิ่งแวดล้อม 3 ขา ซึ่งเป็นที่มาของเราในการบูรณาการ โดยขาที่ 1 คือ เจ้าของที่ดินว่างเปล่า ซึ่งระหว่างที่มีที่ดินรอพัฒนาจะใช้ประโยชน์มันในการปลูกพืชได้ไหม"
"ขาที่ 2 บริษัทที่มีเงินเหลือ พร้อมทำซีเอสอาร์ ก็เอามาลงทุนให้บัณฑิตที่จบปริญญาตรี ตกงานและว่างงาน และ ขาที่ 3 ก็คือ เด็กๆที่เพิ่งจบปริญญาตรีและพร้อมจะพัฒนาตัวเอง เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการป้ายแดง โดยใช้เวลาฝึกปีสองปีก็นำทักษะการทำเกษตรกลางเมืองไปปลูกเอง ขายเอง เป็นอาชีพใหม่ได้ จะทำให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ ไปแทนเกษตรกรรุ่นเก่า ซึ่งปัจจุบันมีถึง 4.9 ล้านครัวเรือน บริษัทที่มีกำลังทรัพย์ก็ได้ส่งเสริมปั้นผู้ประกอบการใหม่ออกมาสู่ตลาด และ เจ้าของที่ดิน ก็ได้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือ โมเดลที่ผมทำ" อาจารย์พลรชฏเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
ดร.พลรชฏยังมองว่า การปลูกอาหารทางการเกษตรไว้เพื่อทานเอง และ แบ่งปันในชุมชนเดียวกัน รวมทั้งชุมชนรอบข้าง และ รวบรวมสินค้าเกษตรส่วนที่เหลือไว้ขาย เพื่อกลับมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน นั่นคือ แก่นของเศรษฐกิจพอเพียง
"ในหลวง รัชกาลที่ 9 สอนให้คนตกปลา ก็ไม่มีหน่วยยงานสอน มีแต่เอาปลาไปให้ เอ้า! คุณกินก็แล้วกัน ฉันอบรมให้แล้ว แต่เด็กๆที่จบปริญญาตรีใหม่ๆ ยังเด็กเกินไปที่จะเป็นเรื่องการทำธุรกิจ แต่ที่เนรมิตเกษตรสอนให้หมดเลย คุณต้องรู้เรื่องตลาด ซัพพลายเชน อย่างนี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เพราะในชีวิตจริงของการเป็นผู้ประกอบการ บ้านเราเป็นบิสซิเนสในกระดาษ ไม่ใช่เรียลไลฟ์" ผู้ปลุกปั้นสวนเกษตรกลางเมืองเล่าทิ้งท้าย
"ดร.พลรชฏ เปียถนอม" จบด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันศศินทร์ โดยขอเกษียณอายุจากการเป็นพนักงานบริษัทเอกชนในวัย 45 ปี และผันตัวเองเป็น "เกษตรกร" ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อส่งออกประเทศญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 700 บาท โดยเป็นเกษตรกรถึง 30 กว่าปี และ ในปี 2560 เป็นมือหนึ่งเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ "ข้าวหอมมะลิไทย" ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ปัจจุบัน "ดร.พลรชฏ" เนรมิตสวนเกษตรเป็นสวนกลางเมือง และ สร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ "เนรมิตเกษตร" โดยใช้พื้นที่ของสวนสนุกแดนเนรมิตเก่า ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้ผลภายใน 1-2 ปี จากเดิมที่ปกติมะม่วงจะให้ผลอย่างน้อยใช้เวลา 5 ปี รวมทั้งสร้างโรงเรือนแบบญี่ปุ่นและปลูกสตรอเบอร์รี่สายพันธุ์ที่เรียกว่า "เจ้าหญิงฮากิฮิเมะ" สายพันธุ์ญี่ปุ่น และโรงเรือนเมล่อนอีก 300 กว่าลูก
รวมทั้งยังคงเดินหน้าพัฒนาโปรแกรมเอไอ (Artificial Intelligence : AI) ในแนวทาง "เกษตรแม่นยำ" ให้กับกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงไทยส่งออก ซึ่งมีสมาชิกกว่า 800 คน โดย ดร.พลรชฏลงทุนด้านการพัฒนาโปรแกรม 20 กว่าล้านบาท และพัฒนาพื้นที่เกษตรในการทดลองอุปกรณ์เอไออีก 20 กว่าล้านบาท รวมเป็นกว่า 40 ล้านบาท โดยใช้ดาวเทียมของประเทศญี่ปุ่นวิเคราะห์ปัญหาที่รู้ถึงสภาพอากาศ และสภาพดิน เช่น ดินขาดโพแทสเซี่ยมเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมีการปลูกมะม่วงที่มีคุณภาพและให้ผลผลิตได้ราคาดีขึ้น จากราคากิโลกรัมละ 5 บาท เป็น 50 บาท และได้ผลผลิตตามมาตรฐานที่ตลาดต่างประเทศต้องการ#
พลิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่าใน กทม. เป็น “สวนเกษตรกลางเมือง”
ลดค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง! รอผัง กทม.ใหม่ คลอด
1.บริเวณ : ที่ดิน 73 ไร่ หลังห้างเซ็นทรัลพระราม 9 ปรับเป็นสวนผัก
พลิกที่ดิน : โครงการ “สวนผักในกลางพระราม 9” หรือ g Garden – Urban Farming & Farmer’s Connect
2.บริเวณ : ที่ดิน 24 ไร่ ช่วง MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรม จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีส้ม- MRT สีน้ำเงิน (ที่ดินของ บ.แหลมทองค้าสัตว์ จำกัด)
พลิกที่ดิน : สวนมะนาว
3.บริเวณ : ที่ดิน 200-300 ไร่ ติดถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูญกิจ) (ที่ดินของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี)
พลิกที่ดิน : ทำสวนเกษตรผสมผสาน
4.บริเวณ : ที่ดิน 33 ไร่ แดนเนรมิตเก่า ถ.พหลโยธิน (ที่ดินของตระกูล “เสรีเริงฤทธิ์”)
พลิกที่ดิน : สวนเกษตรกลางเมือง ภายใต้ชื่อ “เนรมิตเกษตร”
ที่มา : “แนวหน้า ออนไลน์” รวบรวม - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี