สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “เมืองที่ไม่ทอดทิ้งใคร : คนเก็บขยะรีไซเคิล (Inclusive cities for informal waste workers)” ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชุดงานเสวนาที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของหลากหลายอาชีพในเมือง เริ่มจาก “เก็บขยะ-รับซื้อของเก่า” แม้จะเป็นอาชีพที่ถูกมองว่าอยู่ระดับล่างในสังคม แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อเมือง
ชาร์ล็อต อเดลินา (Charlotte Adelina) นักวิจัย สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (SEI) ประเทศสวีเดน เล่าถึงงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า พบประเด็นน่าสนใจ อาทิ การไม่ขึ้นทะเบียนทำให้มีสถานะเป็นแรงงานนอกระบบ ขาดแรงจูงใจในการเก็บขยะประเภทที่ขายไม่ได้ จึงเป็นความท้าทายของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ว่าจะผลิตภาชนะจากวัสดุที่สามารถจัดเก็บ ทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายได้หรือไม่-อย่างไร ทั้งนี้ ในปัจจุบันคนเก็บขยะในเมืองถูกมองด้วยสายตาที่เข้าใจมากขึ้นกว่าในอดีตที่มีอคติแบบเหมารวม
ผศ.ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงโครงการวิจัย “รวบรวมสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงในอนาคตสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง” ซึ่งตนเองรับผิดชอบในส่วนของคนเก็บและคัดแยกของเก่า ว่า อาชีพประเภทนี้แบ่งได้4 กลุ่มคือ 1.เก็บขยะจากกองขยะ-บ่อฝังกลบ 2.เก็บขยะและรับซื้อของเก่า 3.รับจ้างคัดแยกขยะตามร้านรับซื้อของเก่าและ 4.พนักงานเก็บขยะทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดที่ไม่สามารถจัดเก็บเอง สามารถจ้างบริษัทเอกชนได้)
ลักษณะของผู้เกี่ยวข้องกับงานเก็บขยะ-คัดแยกของเก่า พบว่ามีเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา หรือแม้แต่ไม่ได้รับการศึกษา อายุเฉลี่ย 30-50 ปี และพบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต่ำสุดคือ 9 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกใช้แรงงานบังคับ แต่ติดตามพ่อแม่ไปทำงานด้วยเพราะไม่มีใครดูแล มักมีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และต่อมาก็รวมตัวกันเป็นชุมชน
ขณะที่ด้านรายได้ แม้เหตุผลของการเข้าเมืองเพราะอยู่ชนบททำเกษตรแล้วรายได้ไม่ดี แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็พบว่ามีรายจ่ายมากกว่ารายได้และมีหนี้สิน การกำหนดราคาของเก่าจะขึ้นอยู่ที่ปลายน้ำซึ่งหมายถึงกิจการที่นำวัสดุรีไซเคิลไปแปรรูปหรือนำไปใช้ โดยมีร้านรับซื้อของเก่าเป็นกลางน้ำ และคนเก็บของเก่าเป็นต้นน้ำ ดังนั้นอำนาจต่อรองของคนเก็บของเก่าจะน้อย อีกทั้งยังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างคือการอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ทำให้ราคาขยะในไทยตกลง เห็นได้จากร้านรับซื้อของเก่าหลายแห่งก็ล้มหายตายจากไปเพราะต้นทุนสู้ไม่ไหว
การทำงานของคนเก็บของเก่า จะออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ก่อนกลับมาในตอนบ่ายเพื่อคัดแยก หากมีของที่ขายได้ในปริมาณมากพอก็จะขายทันทีเพราะต้องการเงินหมุนเวียน ซึ่งจะต่างจากพนักงานเก็บขยะของหน่วยงานรัฐที่มักจะเก็บขยะตอนกลางคืนและต้องเสร็จก่อนเช้ามืด เพื่อไม่ให้กระทบกับการจราจร นอกจากนี้ งานเก็บของเก่ายังมีลักษณะเป็นงานตามฤดูกาล เช่น คนที่เป็นเกษตรกรในชนบท ช่วงใดที่ขยะหรือของเก่ามีราคาดีก็อาจจะพักการทำเกษตรแล้วเข้ามาเก็บของเก่าในเมือง
ในด้านสุขภาพ คนเก็บขยะมีความเสี่ยงการทำงาน เช่น ต้องนั่งท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ทำงานกลางแดดร้อน ดื่มน้ำโดยไม่ได้ถอดถุงมือที่ใช้เก็บขยะเพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ขยะบางส่วนที่พบก็นำมาใช้เอง อาการป่วยจึงมักเป็นการปวดเมื่อย โรคทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และโรคผิวหนัง ซึ่งไม่ใช่ว่าคนเก็บขยะไม่ทราบ แต่ด้วยความเร่งรีบประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายจึงจำเป็นต้องละเลยรวมถึง “ถูกของมีคมบาด” ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝากประชาชนทั่วไปที่ทิ้งขยะด้วย หากเป็นขยะมีคม เช่น เศษแก้วแตก ฯลฯขอให้จัดการให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตรายก่อนทิ้ง
ผศ.ดร.อุ่นเรือน ยังยกตัวอย่าง “ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่” ที่กลุ่มซาเล้งเก็บของเก่าลุกขึ้นมาจัดตั้งสมาคมอาชีพ ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดจากที่ผ่านมามีซาเล้งประสบอุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยวชนไม่สามารถติดตามได้ จึงมีการให้สมาชิกสวมเสื้อกั๊ก มีเบอร์โทรศัพท์ให้แจ้งเหตุเพื่อแจ้งกับญาติพี่น้องได้ แต่กว่าที่ภาครัฐจะให้การรับรองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายถึงกระนั้น ปัจจุบันมีเพียงเขตประเวศเพียงเขตเดียวในกรุงเทพฯที่รับจดทะเบียนสมาคมอาชีพซาเล้งเก็บของเก่า ดังนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถขยายผลไปสู่เขตอื่นๆ ได้
อนึ่ง ยังมีตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น บราซิลมีการจัดตั้งกลุ่ม Waste Picker Organizations (WPOs) มีบทบาทในการจัดการขยะในเมือง ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานของแรงงานคัดแยกขยะ หรือ อินเดีย มีการจัดตั้ง Kagad Kach Patra Kashtakari Panchayat (KKPKP) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานกลุ่มคัดแยกขยะ รวมถึงจัดตั้ง SWACHที่เป็นสหกรณ์ของผู้คัดแยกขยะ ซึ่งช่วยให้คนเก็บขยะทำงานร่วมกับครัวเรือนและสำนักงานต่างๆ ได้โดยไม่ถูกตีตรา อีกทั้งยังเจรจาขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่นได้ด้วย
บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการศึกษาขององค์กร WIEGO ที่ทำงานด้านแรงงานนอกระบบในหลายประเทศ ให้ข้อสรุปถึง “ความสำคัญของอาชีพเก็บของเก่าต่อเมือง”เช่น ทำหน้าที่คัดแยกสิ่งของที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ส่งต่อให้ภาคธุรกิจอื่นๆ จึงเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ
งานเก็บของเก่ายังช่วยรักษาความสะอาดของเมือง และสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันจากปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารเมืองควรมองเห็น คือ 1.สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน 2.สิทธิที่จะอยู่ในเมืองและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 3.รายได้และสวัสดิการในการทำงาน และ 4.ส่งเสริมการร่วมกลุ่มและรับฟังความต้องการ
ด้าน อนรรฆ พิทักษ์ธานินนักวิชาการ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะที่เคยศึกษาประเด็น “คนไร้บ้าน”กล่าวว่า คนไร้บ้านนั้นผูกพันกับการเก็บของเก่าและเป็นภาพจำของสังคม เพราะคนไร้บ้านเห็นของเก่าเป็นของที่พอจะนำไปขายหารายได้มาเลี้ยงชีพ และมักหาของเก่าตามพื้นที่สาธารณะ เช่น จุดทิ้งขยะ แตกต่างจากคนเก็บของเก่าที่อาศัยในชุมชน ซึ่งจะมีพาหนะ เช่น รถซาเล้ง ตระเวนรับซื้อตามบ้านเรือนหรือสถานประกอบการต่างๆ โดยขวดพลาสติกเป็นของเก่าที่คนไร้บ้านนิยมเก็บ เพราะน้ำหนักเบาขนย้ายง่าย
คนไร้บ้านที่เก็บของเก่าขายจะรู้ว่าพลาสติกแบบใดให้ราคาดี รู้ว่าหากแกะฉลากสินค้าออกจะเพิ่มราคาขายได้เฉลี่ยร้อยละ 20 เพราะในส่วนของฉลากไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ คนไร้บ้านต้องแข่งขันกับพนักงานเก็บขยะของรัฐเพราะใช้พื้นที่สาธารณะเหมือนกัน แต่จะไม่ทับซ้อนกับคนเก็บของเก่าที่อาศัยในชุมชนเพราะไม่ได้ไปหาตามบ้านเรือนหรือสถานประกอบการ ขณะที่นโยบายของหน่วยงานท้องถิ่นที่กำหนดให้ร้านรับซื้อของเก่าต้องไปตั้งอยู่นอกเมืองทำให้ร้านต้องจัดพาหนะมารับซื้อของเก่าในเมือง แล้วก็มากดราคาของเก่าจากคนนำมาขายอีกทอดหนึ่ง
“ราคาของเก่าที่ลดลงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโอกาสการหลุดพ้นจากสถานะคนไร้บ้าน” ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ขวดใสราคาอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันเหลือเพียง 5-7 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนขวดขุ่นปัจจุบันราคาอยู่ที่ 10-12 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนจะอยู่ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้
ในอดีตนั้นคนเก็บของเก่าสามารถหาเงินได้เพียงพอกับการไปเช่าที่อยู่อาศัยได้ง่ายกว่าปัจจุบัน
นอกจากนี้ “กระแสรักษ์โลก” ซึ่งด้านบวกคือความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่ด้านลบคือคนเก็บของเก่าย่อมได้รับผลกระทบ เช่น ขวดพลาสติกอาจถูกใช้น้อยลงรายได้ของคนเก็บของเก่า โดยเฉพาะคนไร้บ้านซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางย่อมลดลง จะมีบรรยายเพื่อบรรเทาผลกระทบและเปลี่ยนผ่านสำหรับคนกลุ่มนี้อย่างไร?
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี