จิตเปรียบเทียบเป็นเหมือนเรือที่ลอยอยู่ในลำน้ำลำธาร ถ้าไม่มีเชือกผูกเรือติดไว้กับเสาท่าเรืออย่างนี้ กระแสน้ำก็จะดึงเรือให้ไหลปตามกระแสน้ำ จิตเราถ้าไม่มีอะไรผูกไว้ มันก็จะไหลไปตามกระแสความคิดต่างๆ ทีนี้เราต้องการให้ใจหยุดคิด เราก็ต้องผูกใจไว้กับเสา ผูกไว้กับท่าเรือ เสาหรือท่าเรือจะเป็นเครื่องผูกใจไว้ก็เรียกว่า “กัมมัฏฐาน” ซึ่งในพระไตรปิฎกท่านแสดงไว้ มีกัมมัฏฐาน ๔๐ ชนิดที่เราสามารถใช้เป็นเครื่องผูกใจไว้ได้ ไม่ให้ใจไหลไปตามกระแสความคิดต่างๆ แต่ที่เราใช้กันทั่วๆ ไป
ในวงปฏิบัตินี้ก็มีอยู่สองสามอย่างด้วยกัน คือพุทธานุสสติ ก็คือการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เช่นจะใช้การสวดอิติปิโสก็ได้ หรือจะใช้การบริกรรมพุทโธพุทโธก็ได้ อันนี้เรียกว่า...พุทธานุสสติ มีสติระลึกรู้อยู่กับพระพุทธเจ้า หรือถ้าเราจะใช้...อานาปานสติ ก็มีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือบางเวลาอาจจะใช้...มรณานุสสติก็ได้ ถ้าบางทีเราถูกจริตกับมรณานุสสติ พอใช้อย่างอื่นมันไม่ยอมสงบ พอคิดถึงความตายปุ๊บ มันนิ่งขึ้นมาทันที ก็อาจจะใช้ได้ ซึ่งแต่ละคนจริตไม่เหมือนกัน ถึงมีกัมมัฏฐานหลายชนิดด้วยกันให้เราเอาไว้เลือกใช้กัน
อีกอย่างหนึ่งที่เราใช้เป็นเครื่องฝึกสติเครื่องปลุกใจก็คือ...กายคตาสติ ร่างกายของเรานี่เรียกว่ากายคตาสติ ในขณะที่เราไม่ได้นั่งสมาธิ ร่างกายเรามีการเคลื่อนไหวต่างๆ มีการทำอะไรต่างๆ เราก็เอาใจผูกไว้กับร่างกายเพื่อจะได้ไม่ให้ไหลไปกับความคิด เป็นการเจริญสติให้ต่อเนื่องให้เป็นสัมปชัญญะ พอเป็นสัมปชัญญะ เวลานั่งสมาธิแล้ว ถ้าจิตมีสติที่ต่อเนื่อง จิตก็จะเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
ดังนั้น ผู้ปฏิบัตินี้เวลาไม่ได้นั่งสมาธิ มักจะใช้กายคตาสติหรือใช้พุทธานุสสติ เพื่อคอยควบคุมใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ นั่นเอง แล้วเวลามานั่งก็สามารถใช้ลมหายใจเข้าออก หรือใช้พุทธานุสสติ คือบริกรรมพุทโธ พุทโธ ไปก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางท่านก็เอามาผสมกัน พอหายใจเข้าก็ว่า...พุท พอหายใจออกก็ว่า...โธ
การดูลมนี้ก็ให้ดูเฉยๆ อย่าไปควบคุมบังคับลม บางท่านสอนให้หายใจลึกๆ ยาวๆ อันนี้ไม่ใช่อานาปานสติ อานาปานสติให้ดูว่าตอนนี้ลมของเราสั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด ให้รู้ตามความเป็นจริง เดี๋ยวมันจะเปลี่ยนของมันไปเอง เวลาเริ่มต้นก็อาจจะสั้น อาจจะหยาบ เพราะว่าร่างกายเราเพิ่งมานั่งเฉยๆ ใหม่ๆ เหมือนกับความดันโลหิตในร่างกาย เวลาเราทำงานนี้ความดันมันจะสูง พอมานั่งเฉยๆ นี่ มาวัดความดันมันจะยังสูงอยู่ พอนั่งรอพักหนึ่ง พอร่างกายนั่งเฉยๆ การทำงานของร่างกายก็จะน้อยลง ช้าลง ความดันก็จะเบาลง ชีพจรก็จะสั้นลง เหมือนกัน ลมก็จะยาวขึ้น มันก็จะละเอียดขึ้น
แต่ในการปฏิบัติอานาปานสตินี่ เราไม่ต้องการมาควบคุมบังคับลม ปล่อยให้ลมเป็นไปตามธรรมชาติของเขา ให้ดูอยู่ที่จุดเดียว เพราะเราไม่ต้องการให้จิตเคลื่อนไหว ถ้าเราให้ดูตามลมเข้าลมออกนี้ จิตจะทำงาน จิตจะเคลื่อนไปเคลื่อนมาตามลม มันก็จะไม่นิ่ง มันก็จะไม่เข้าสู่สมาธิ ต้องให้จิตอยู่จุดเดียว ดูที่จุดเดียว ดูที่ปลายจมูก แล้วก็ให้รู้ว่ามันเข้ามันออกตรงนั้นก็พอ อย่าตามลมเข้า อย่าตามลมออก
บางท่านถ้าถนัดที่จะดูที่หน้าอกก็ได้ เห็นลมเข้าก็พอง เห็นลมออกก็ยุบ ก็มีการใช้คำว่า “ยุบหนอ พองหนอ” แต่ไม่ใช้คำพูดก็ได้ การใช้คำพูดมันก็จะทำให้จิตทำงานมาก มันก็จะนิ่งยาก แต่ถ้าในเบื้องต้น การใช้คำพูดมันอาจจะช่วยระงับไม่ให้จิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ ก็ใช้ไปก็ได้ แต่โดยที่สุดแล้วควรที่จะไม่พูดไม่ทำอะไรเลย ให้ดูลมไปเฉยๆ อย่างเดียว แล้วถ้าจิตมีสติอย่างต่อเนื่อง มันก็จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วมันก็จะค่อยๆ สงบลง แล้วก็นิ่งไปในที่สุด กลายเป็นสมาธิขึ้นมา
ขณะที่นิ่งมันอาจจะมีลักษณะเป็นการตกจากที่สูงลงมา วูบลงมา ก็ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ ให้รู้เฉยๆ พอรู้ปั๊บแล้วมันก็นิ่งสงบ แล้วก็สบาย อย่าไปมีปฏิกิริยากับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ให้รู้เฉยๆ ถ้าไปมีปฏิกิริยาความสงบมันก็จะหายไปทันที ให้จิตรู้เฉยๆ รู้ว่ามันสงบนิ่ง รู้ว่ามันวูบ รู้ว่ามันวูบแล้วสบาย ก็อยู่กับความนิ่งความสบายไป นี่คือพูดแบบย่อๆ เรื่องของอานาปานสติ วิธีฝึกสมาธิด้วยการดูลมหายใจเข้าออก.
จากรายการปัญหาธรรม ครั้งที่ ๓๕ โดยท่านพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี คุณหมอวีระพันธ์ สุวรรณนามัย (Dr. V Channel) วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ (เพจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต) - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี