เรียกว่าเป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับกรณี “สภาล่ม” ซึ่งบรรดานักการเมืองตลอดจนกองเชียร์ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างก็กล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่สภาล่ม เท่ากับประชาชนเสียโอกาสในการที่จะมีกฎหมายใหม่ๆ หรือแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะนั่นเป็นกระบวนการที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อสภาล่ม การพิจารณาก็ต้องเลื่อนออกไป ประชาชนผู้มีส่วนได้-เสียก็ต้องรอต่อไปเช่นกัน
ดังกรณีของ “บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่เดิมมีวาระพิจารณารายงานซึ่งจัดทำโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.พ. 2565 แต่จากเหตุการณ์สภาล่ม ทำให้ต้องเลื่อนมาเป็นวันพฤหัสบดีที่ 10 ก.พ. 2565 (ซึ่งก็หวังว่าสภาจะไม่ล่มจนต้องเลื่อนอีก) โดยประเด็นนี้ ภาคประชาชนนำโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พยายามผลักดันตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รายงานฉบับนี้เริ่มต้นด้วยสภาพปัญหาของสังคมไทย “ในประเทศไทยมีการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพให้กับประชากรวัยแรงงานที่ยังไม่ครอบคลุม โดยระบบบำนาญในภาพรวมยังมีลักษณะเป็นระบบบำนาญบนพื้นฐานของอาชีพ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน แต่นอกเหนือจากนี้ยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพ” โดยเฉพาะ “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีถึง 21.1 ล้านคน หรือร้อยละ 55.3 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง
แรงงานกลุ่มดังกล่าวเมื่อถึงวัยเกษียณ อาจไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เพราะจะเหลือรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงทางเดียว โดยได้ตามขั้นบันได เช่น 600 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60-69 ปี, 700 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 70-79 ปี,800 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 80-89 ปี และ 1,000 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 90 ปีขึ้นไป ทำให้ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากครอบครัวหรือกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งก็มีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ปัจเจกบุคคลไม่ต้องมีส่วนร่วมสมทบ เช่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ2.การออมภาคบังคับ ปัจเจกบุคคลหักรายได้ส่วนหนึ่งของตนเองสมทบร่วมกับงบประมาณของรัฐ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม (มาตรา 33)และ 3.การออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม (มาตรา 40)
ผลการศึกษาสนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่คือ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 โดยระบุว่า “ให้ยกเลิกการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้วเปลี่ยนเป็นการจ่ายบำนาญพื้นฐานแทน” ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ซับซ้อน สามารถดำเนินการได้ง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งเป็นกฎหมายแม่บทในการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุในเรื่องต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นมี กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับผิดชอบอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานและจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติม
รวมถึง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ยังมีกองทุนผู้สูงอายุซึ่งเป็นแหล่งเงินงบประมาณที่มีกฎหมายและระเบียบรองรับอยู่แล้ว จึงสามารถจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับระบบบำนาญพื้นฐานได้ทันที โดยสามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ของกรมกิจการผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้สูงอายุจากสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพเป็นสิทธิได้รับบำนาญขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ที่เพียงพอไม่น้อยกว่าระดับรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจน รวมทั้งการตั้งกองทุนและข้อกำหนดต่างๆ
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ “สนับสนุนให้เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ แม้ประชาชนจะได้รับสวัสดิการบำนาญจากกองทุนการออมภาคบังคับอื่นแล้วก็ตาม” ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสิทธิในการรับบำนาญจากกองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และสิทธิในการรับเบี้ยความพิการ สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นที่ประชาชนพึงได้รับนอกเหนือจากสิทธิที่ได้กล่าวมา ให้ประชาชนสามารถเลือกสิทธิที่ตนเองต้องการหรือเลือกสิทธิที่ดีกว่าได้
เช่น ข้าราชการที่ได้รับเบี้ยบำนาญอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเลือกรับสิทธิบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เพราะสิทธิข้าราชการบำนาญได้สูงกว่าสิทธินี้ เป็นต้น โดยคำนึงถึงประเด็นด้านความเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำโดยเห็นว่าสวัสดิการด้านบำนาญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ เพื่อความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ
และคำถามสำคัญคือ “จะเอาเงินมาจากไหน?” รายงานฉบับนี้กล่าวถึงแหล่งรายได้ที่รัฐอาจนำมาใช้ เช่น ภาษีสรรพสามิต (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง ยานยนต์) รายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์และคมนาคม ส่วนแบ่งรายได้จากค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวง หรือค่าธรรมเนียมอื่นจากกิจการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าใบอนุญาต ภาษี หรือค่าธรรมเนียมอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับระบบบำนาญพื้นฐานจากต่างประเทศ ที่มีการจัดเก็บ “ภาษีทางอ้อม” แบบอัตโนมัติจากการซื้อสิ่งของอุปโภค-บริโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใช้เทคโนโลยีการชำระเงินแบบดิจิทัล และนำเงินที่ได้จากการหักภาษีดังกล่าวจัดเก็บเข้ากองทุนเพื่อการเกษียณอายุของแต่ละบุคคล เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น
ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/588480 หรือค้นหาจากเว็บไซต์ “คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ” https://dl.parliament.go.th โดยใช้คำค้นหา “รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร”
หมายเหตุ : คำว่า “แรงงานนอกระบบ” หมายถึงแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการเอกชน และไม่ได้เป็นข้าราชการ จึงไม่มีสวัสดิการคุ้มครองในฐานะแรงงาน(เช่น สวัสดิการข้าราชการกรณีเป็นข้าราชการ สวัสดิการประกันสังคมมาตรา 33 กรณีเป็นพนักงานบริษัทเอกชน) ส่วนใหญ่เป็นอาชีพอิสระ (เช่น เกษตรกร แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย) ส่วนคำว่า “ภาษีทางอ้อม” หมายถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี