ยังคงอยู่ที่งานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “แรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติก่อนและหลังวิกฤติโควิด-19: มองไทยและญี่ปุ่น” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ก่อนหน้าได้กล่าวถึงงานวิจัยว่าด้วยคนไทยที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น (โครงการฝึกงาน“ญี่ปุ่น” อีกเป้าหมาย“ไทย”ขายแรง : หน้า 5 ฉบับวันที่ 12 ก.พ. 2565) ส่วนในตอนนี้ จะว่าด้วยนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย
ศยามล เจริญรัตน์ นักวิจัยชำนาญการ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง “ถอดกระบวนทัศน์นโยบายแรงงานข้ามชาติไทย”กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ขณะที่การสำรวจในปี 2559 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า แรงงานข้ามชาติ มีสัดส่วนใน GDP ไทยที่ร้อยละ 0.16 หรือราว 1 แสนล้านบาท
“ทำไมแรงงานข้ามชาติจึงสำคัญ? เพราะว่าเราก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย คือเราตามญี่ปุ่นไปติดๆ ญี่ปุ่น 28% (สัดส่วน
ผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศ) เมืองไทย 20% ปีที่แล้ว (2564) คนอายุมากกว่า 60 เราเข้าสังคมสูงวัยแบบเต็มรูปแบบแล้ว เพราะฉะนั้นแปลว่าเรายังขาดแคลนแรงงาน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างเช่น สิงคโปร์” ศยามล กล่าว
ในปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 5 ล้านคน ในที่นี้ขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมายราว 2.8 ล้านคน ที่เหลือมีตั้งแต่กลุ่มที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลย หรือมีแต่ไม่ครบ หรือมีแต่เอกสารหมดอายุและไม่สามารถต่ออายุได้ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีแรงงานที่หลุดออกจากระบบจำนวนมากเพราะไม่สามารถต่อวีซ่าและตรวจสุขภาพ จึงไม่สามารถต่ออายุเอกสารการทำงานได้ ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาตรการมาแก้ไข แต่ก็เป็นมาตรการแบบชั่วคราว ส่วนแรงงานที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย มีเพียง 1.2 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม
ศยามล ตั้งข้อสังเกตถึงมุมมองของผู้มีอำนาจในรัฐไทย ผ่านกฎหมายและนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เช่น ในปี 2521 มีการออก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว, ปี 2535 มีนโยบายบริหารจัดการแรงงานเพื่อนบ้าน, ปี 2547 เกิดยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ, ปี 2560 มีการออก พ.ร.ก.บริหารการทำงานของคนต่างด้าว เป็นต้น ว่า “รัฐไทยมองการมาของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องชั่วคราว จึงไม่ได้คิดหานโยบายที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” โดยอีกหลักฐานที่ยืนยันคือ “มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)” เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ออกมาเป็นครั้งคราวไป
“ถ้าไปนั่งค้นดูน่าจะเหยียบร้อยที่ว่าด้วยมติในแต่ละครั้ง อย่างล่าสุดช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 มติ ครม. ที่ว่าด้วยการขยาย มี Undocumented (แรงงานนอกระบบทะเบียน) จำนวนมากที่จะต้องทำให้อยู่ใน Documented (แรงงานในระบบทะเบียน) ได้อย่างไร ก็มีการขยายเป็นมติ ครม. มากมาย” ศยามล ระบุ
ส่วนนโยบายด้านสุขภาพ พบว่ามีวิวัฒนาการตามลำดับ ตั้งแต่การตรวจร่างกายก่อนรับเข้าทำงาน การทำประกันสุขภาพ ซึ่งต่อมามีการรวมกันเป็นหน่วยบริการจุดเดียวจบ (One Stop Service) และล่าสุดคือการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ขณะที่ “กฎหมายอื่นๆ ของไทย พบข้อยกเว้นที่ทำให้การคุ้มครองไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ” ไล่ตั้งแต่ 1.พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไม่รวมลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานเกษตรตามฤดูกาล
2.พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เอื้อให้มีการจ้างแรงงานตามฤดูกาล (ชั่วคราว 3 เดือน) แทนการจ้างประจำ (รวมลูกจ้างทำงานบ้าน) 3.พ.ร.บ.ประกันสังคม มีการยกเว้นลูกจ้างหรือกิจการอื่น (ผ่านการออกพระราชกฤษฎีกา) อีกทั้งประโยชน์ทดแทนสิทธิบำนาญชราภาพไม่ชัดเจน 4.พ.ร.บ.เงินทดแทน ไม่คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านที่บาดเจ็บจากการทำงาน 5.พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมไม่การทำงาน ไม่รวมถึงแรงงานภาคเกษตร และ 6.พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพแรงงาน
เมื่อไปดูนโยบายของภาครัฐ จะพบมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข ไม่พบแผนงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพและบุคลากรที่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ กระทรวงแรงงาน มีการจัดระบบเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ควบคุมการย้ายถิ่นของแรงงาน บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะเน้นการป้องกันและปราบปรามชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงาน เป็นต้น ซึ่งการที่อยู่คนละหน่วยงาน โดยเฉพาะคนละกระทรวงมักทำงานแบบบูรณาการกันได้ยาก
ศยามล ทิ้งท้ายไว้ด้วยเรื่อง “ทัศนคติของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติ” ยกตัวอย่างการสำรวจความเห็นของนายจ้างรวม 50 คน คละกันทั้งกิจการขนาดเล็ก กลางและใหญ่ และบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่อยู่ในสถานพยาบาลของรัฐ ในหลายคำถาม ผลที่ได้ดังนี้ 1.การสนับสนุนให้เพื่อนจ่ายค่าขึ้นทะเบียนให้แรงงานที่เป็นลูกจ้างทำงานบ้าน ฝั่งนายจ้างส่วนใหญ่ทำเสมอ ส่วนฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ 2.การบอกเล่าประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ ฝั่งนายจ้างส่วนใหญ่ทำบ้าง ส่วนฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ
3.มุมมองของตนเองเกี่ยวกับประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจไทย ฝั่งนายจ้างส่วนใหญ่มองในแง่บวก ส่วนฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่มองในแง่ลบ (ซึ่งเข้าใจได้ เพราะนายจ้างได้ประโยชน์จากแรงงานในการขับเคลื่อนธุรกิจ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์มักพบปัญหา เช่น พูดกันไม่รู้เรื่องเพราะใช้คนละภาษา ทำให้วินิจฉัยและรักษาไมได้) และ 4.การปกป้องแรงงานข้ามชาติเมื่อถูกใช้ถ้อยคำดูหมิ่น ฝั่งนายจ้างส่วนใหญ่ทำบ้างและรองลงมาคือทำเสมอ ส่วนฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ รองลงมาไล่เลี่ยกันคือไม่ค่อยทำกับทำบ้าง
“ทัศนคติบางอย่างที่รู้สึกว่าแรงงานข้ามชาติเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แรงงานข้ามชาติจะมาทำให้เราไม่มีความมั่นคงแห่งชาติ แรงงานข้ามชาติจะเข้ามาก่ออาชญากรรม อันนี้มันยังปรากฏอยู่ในทัศนคติของคนบางกลุ่มบางพวก แม้จะไม่ได้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็ยังฝังลึกอยู่ในความคิดของเขา โจทย์อันนี้อยากฝากให้หลายท่านช่วยกันคิดว่าเราจะขยับตรงนี้ได้อย่างไร เพราะเรายังต้องอยู่กับเขาไปอีกนาน ถ้าเรายังอยู่ในภาวะที่เราเป็นสังคมสูงวัย เราต้องการแรงงาน” ศยามล กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี