เคยสงสัยมั้ย! ทำไม 'เลขไทย' เหมือน 'เลขเขมรปัจจุบัน'? เผยข้อมูลที่ไม่เคยรู้กว่าจะเป็น 'ตัวเลขไทย' ในปัจจุบัน
หลังจากมีประเด็นถกเถียงกันอยู่ในโลกโซเชียล เมื่อเว็บไซต์ www.change.org เผยแพร่การรณรงค์ ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทยแทนตัวเลขไทย โดยผู้นำแคมเปญรายหนึ่ง ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เป็นสากล และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลดิจิทัล
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก "โบราณนานมา" โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเลขไทยที่ใช้ในปัจจุบันว่า "กว่าจะเป็น “ตัวเลขไทย” ในวันนี้ สืบเนื่องจาก ๒-๓ วันนี้มีการถกเถียงถึงเรื่อง “เลิกใช้เลขไทยในเอกสารราชการได้ไหม ?” ความเห็นก็แตกออกเป็น ๒ ทาง คือ 1. สนับสนุนให้ยกเลิก โดนให้เหตุผลเรื่องระบบดิจิทัล ถ้าใช้เลขอารบิก ข้อมูลดิจิทัลมันเป็นสากล และ 2. ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก โดยให้เหตุผลในเรื่องของประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจในภาษาไทยและเลขไทย แล้วต่อมาก็เกิดประเด็นใหม่ขึ้นมา มีคนตั้งข้อสงสัยว่า “เลขไทยเราลอกมาจากเขมร” พร้อมกับแนบรูปตัวเลขเขมรในปัจจุบันเป็นภาพประกอบ
ส่วนที่หลายคนน่าจะส่งสัย คือ ทำไม “เลขไทยปัจจุบัน” และ “เลขเขมรปัจจุบัน” เหมือนกันอย่างกับแกะ อันนี้ก็มีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ ในเรื่องของ “การมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม” ก่อนหน้า “เขมร” จะรับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจาก “ไทย” ไป ไทยเองก็เคยรับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากหลาย ๆ แหล่งด้วยกัน รวมถึง “เขมรโบราณ” (คนละกลุ่มกับเขมรปัจจุบัน ถ้าอธิบายคงยาว) ด้วย
“ไทย” เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมใน “เขมร” แบบจริง ๆ จัง ๆ ก็ช่วงปลายยุคกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมัยก่อนเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีประเพณีหนึ่ง คือ การชุบเลี้ยงดูองค์รัชทายาทเขมรเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ในฐานะลูกเจ้าเมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ เพื่อมิให้เขมรเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อสยาม (ไทย) เหตุการณ์และประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ รวมเวลาทั้งสิ้น ๗๓ ปี
การที่องค์รัชทายาทเขมร ได้เข้ามาบวชเรียนและเติบโตในราชสำนักไทยตั้งแต่วัยเยาว์ จึงได้รับเอาวัฒนธรรมและรสนิยมแบบไทยในราชสำนักไทย เอาไว้มาก เมื่อต้องกลับไปครองราชบัลลังก์เขมร
เมื่อสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ (ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) เสด็จออกไปปราบกบฏเมืองเขมรปี ๒๓๒๓ ไม่ทันไรก็ต้องเสด็จกลับเข้ามาระงับยุคเข็ญในกรุงธนบุรี ต่อมาประเทศเขมรก็แตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ประจวบกับมีสงครามแขกจามจะยกมาตีเขมร พระยายมราช (แบน) เห็นจะสู้ไม่ได้จึงพาเจ้านายเชื้อพระวงศ์เขมรที่เหลืออยู่มี “นักองค์เอง” เจ้าชายองค์น้อยมีพระชันษาเพียง ๑๐ ปี อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ
รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรม นอกจากนั้นเจ้าหญิงซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของนักองค์เองอีก ๒ องค์ คือ นักองค์อีและนักองค์เภานั้น สมเด็จพระอนุชาธิราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ทรงรับไปเลี้ยงเป็นพระสนมเอก ส่วนพระยายมราช (แบน) ได้รับแต่งตั้งจากความดีความชอบเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ต้นตระกูลอภัยวงศ์ นับแต่นั้น
ต่อมาเขมรสงบลง เหล่าขุนนางจึงได้ร้องขอพระราชทานรัชทายาท คือ “นักองค์เอง” ออกไปครองประเทศเขมร รัชกาลที่ ๑ ยังไม่ทรงอนุญาตเพราะทรงเห็นว่านักองค์เองยังทรงพระเยาว์อยู่มาก เกรงจะมีอันตราย แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ออกไปรั้งราชการกรุงกัมพูชาแทน
ต่อมาเมื่อ “นักองค์เอง” ทรงเจริญพระชันษาและได้ทรงผนวชแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกมาครองเขมรสืบทอดต่อมา โดยได้รับพระราชทานนามว่า “สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิตร เจ้ากรุงกัมพูชา”
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ได้ส่ง “นักองค์ราชาวดี” เข้ามาทำราชการที่กรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อพำนักในกรุงเทพฯ พระองค์มีสถานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์สยาม ทรงผนวชในธรรมยุติกนิกาย ๑ พรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในกัมพูชาเกิดความขัดแย้งขึ้น สยามได้เรียกตัว “นักองค์ศรีวัตถา” และ “นักองค์ราชาวดี” เข้ากรุงเทพฯ สยามได้ตัดสินใจสนับสนุนให้ “นักองค์ราชาวดี” ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชา โดยมีขุนนางกัมพูชาในกรุงเทพช่วยกันประกอบพิธี พิธีราชาภิเษกของพระนโรดมที่กรุงเทพฯ ได้เป็นไปโดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงพนมเปญ โดยพฤตินัย
ทางการสยามได้จัดทัพทางเรือไปส่งนักองค์ราชาวดีที่เมืองกำปอด และเดินทัพทางบกไปยังเมืองอุดงมีไชย ในระหว่างนี้ เกิดการกบฏอีก ออกญาสุทศ (บา) ได้รวบรวมกองทัพตั้งมั่นที่โพธิสัตว์ สยามจึงส่งทัพจากเสียมราฐและจันทบุรีไปปราบจนราบคาบ และได้อัญเชิญสมเด็จพระนโรดมประกอบพิธีราชาภิเษกที่กรุงพนมเปญและขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์
ขณะนั้นกัมพูชาเป็นประเทศราชของสยาม เชื้อพระวงศ์ที่จะอภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา ต้องมาจากการแต่งตั้งของรัตนโกสินทร์ ทางสยามมีสิทธิในการสถาปนากษัตริย์กัมพูชา
การเมืองที่เกิดจากระบบพ่อปกครองลูกได้ผูกมัดจิตใจให้เกิดความจงรักภักดีระหว่างสองราชอาณาจักรตลอดมา กษัตริย์เขมรที่เคยเสด็จมาพำนักและเจริญพระชันษาในกรุงเทพฯ สืบสันตติวงศ์ต่อกันมาในระยะนั้นมีสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองค์เอง) สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) และสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์)
ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับราชวงศ์กัมพูชา ได้เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความแน่นแฟ้นและยั่งยืนจนมาถึงรัชกาลที่ ๔ เพราะในอดีตนั้นเจ้านายหลายพระองค์ของราชวงศ์กัมพูชาล้วนมาพำนักที่กรุงเทพทั้งสิ้น แต่ในรัชกาลที่ ๕ กัมพูชาที่เคยเป็นประเทศราชของสยามนั้นก็ได้ตกไปเป็นของส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส เพราะพระเจ้านโรดม ตีตัวออกห่างจากสยามและยกกัมพูชาให้เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
นับจากรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา กัมพูชาใช้ศิลปะและวัฒนธรรมแบบอย่างสยามเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง, การใช้ฉัตร, พระราชลัญจกร, เครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันมีพระมหามงกุฎเป็นเครื่องยศสูงสุด, การใช้ศาสนาพุทธนิกายแบบสยามหรือนิกายธรรมยุติ, การใช้เลขไทยและนับฐานเลขแบบไทย รวมถึงการรับท่ารำและการแสดงโขนกลับไปด้วย เป็นต้น ฯลฯ
กล่าวโดยสรุป คือ “เลขไทย” ในยุคต้นได้รับอิทธิพลมาจาก “เขมรโบราณ” ซึ่งเขมรก็รับมาจาก “อักษรอินเดียใต้ (หรืออักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะ)” อีกทีหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “อักษรทวารวดี” ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย ในส่วนของอักษรไทยนั้น ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ กล่าวว่า ระบบอักษรไทยสุโขทัย ถูกพัฒนาจากอักษรขอมหวัด + อักษรมอญ ส่วน “เลขเขมรปัจจุบัน” ได้รับอิทธิพลมาจากเลขไทยในยุค
“รัตนโกสินทร์ตอนต้น” ที่เวลานั้นเขมรเป็นประเทศราชของสยาม จึงทำให้ “เลขไทยปัจจุบัน” และ “เลขเขมรปัจจุบัน” เหมือนกันอย่างกับแกะ
ตัวเลขไทยนั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน หากดูรากเหง้าที่มานั้น อาจกล่าวได้ว่าตัวเลขต่าง ๆ ในจารึกโบราณมีมาพร้อมกับการใช้ตัวอักษร อักษรในดินแดนอุษาคเนย์นั้นพบว่าได้รับอิทธิพลจากอักษรอินเดียใต้ในราชวงศ์ปัลลวะ ในจารึกเขมรสมัยก่อนพระนครปรากฏหลักฐานการใช้อักษรปัลลวะ ดังนั้นตัวเลขที่ใช้ก็เป็นเลขที่ได้รับอิทธิพลจากอักษรปัลลวะนั่นเอง ต่อมาอักษรในระยะนี้ได้มีวิวัฒนาการไปเป็นอักษรเขมรสมัยเมืองพระนคร และส่งอิทธิพลให้กับตัวเลขที่ปรากฏในลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหง
ขอบคุณที่มาจาก
- เพจ โบราณนานมา
- เว็บไซต์ www.change.org
- เพจ ภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- เพจ ASEAN “มอง” ไทย
- บทความ “ตัวเลขของไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไร” โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ วารสารศิลปากร ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๕ มกราคม ๒๕๑๖
- ไกรฤกษ์ นานา. วารสาร “นักล่าอาณานิคม” ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ ๕ ทำไมสยามสละ “นครวัด” ?. https://www.silpa-mag.com/history/article_31756. (สืบค้นเมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๔).
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี