“อย่างที่ได้ทราบกันทั่วไปว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ หรือ complete agedsociety ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณเกือบ 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นว่า เราจะเริ่มพบประเด็นความขัดแย้งทางความคิด หรือความคิดเห็นของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องของการทำอย่างไรที่เราจะเตรียมตัวให้สังคมไทยมีความพร้อมในการที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์แล้วก็ระดับสุดยอดต่อไปในอนาคต”
นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) กล่าวนำในเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ “ความคาดหวัง การเตรียมความพร้อม และการเข้าถึงบริการทางสังคม เพื่อการสูงวัยอย่างมีพลัง” ณ รร.แกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ฟอร์จูน แยกพระราม 9 ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัย ที่ประชากรวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
งานวิชาการครั้งนี้ร่วมจัดโดย มส.ผส.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัย 2 เรื่อง โดยนักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.จงจิตต์ฤทธิรงค์ นำเสนอในหัวข้อ “ความคาดหวังการวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-20 ก.ย. 2564 ได้กลุ่มตัวอย่าง 1,734 คน
ทั้งหมดเป็นประชากรวัยแรงงาน อายุ18-59 ปี โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น คือ Generation X (เกิดปี 2503-2522 อายุ 42-61 ปี) Generation Y (เกิดปี 2523-2537 อายุ 27-41 ปี) และ Generation Z (เกิดปี 2538-2553 อายุ 11-26 ปี) แบ่งผู้ตอบแบบสอบถามเป็น Generation X (อายุ 42-59 ปี) 418 คน Generation Y (อายุ 27-41 ปี) 748 คน และ Generation Z (อายุ 18-26 ปี) 568 คน นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายกลุ่ม 25 กลุ่ม จำนวน 126 คน
มีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ 1.การตระหนักถึงสังคมสูงอายุในประเทศไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28 หรือ 1 ใน 4 ยังไม่ตระหนักถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย ร้อยละ 72 ทราบว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ร้อยละ 35 ทราบว่า คนไทยจะมีชีวิตยืนยาวตั้งแต่อายุ 90-100 ปี และ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 มองว่า อายุเริ่มต้นของผู้สูงอายุควรเป็น 65 ปีขึ้นไป 2.ความคาดหวังในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ พบความแตกต่างกัน ในขณะที่คน Generation X ต้องการทำงานต่อหลังอายุ 60 ปี แต่คน Generation Z ต้องการหยุดทำงานก่อนอายุ 60 ปี
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม Generation X หากเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับบำนาญหรือเงินออมเพียงพอ จะไม่ได้คิดถึงการทำงานหลังอายุ 60 ปี 3.การดูแลสุขภาพ สุขภาพดีคือความมั่นคง ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งเพิ่มมูลค่า เพราะการมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง นอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานสร้างรายได้พึ่งพาตนเองได้ยาวนานขึ้นด้วย
โดยในปี 2559 เคยมีการศึกษาความคุ้มค่าด้านสุขภาพหากบุคคลเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่อายุ 20 ปี ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นตัวเงินพบว่า เพศชายจะอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท ส่วนเพศหญิงจะอยู่ที่ 3.7 ล้านบาทอย่างไรก็ตาม พบว่าร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชากรกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ไม่ได้ออกกำลังกายเลย นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของประชากรกลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้เตรียมตัวด้านสุขภาพ จึงมีข้อเสนอแนะให้สร้างความตระหนักกับประชาชนในเรื่องนี้
“ในแบบสอบถามก็มีข้อคำถามให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุสถานะสุขภาพ 0 คือแย่ที่สุด และ 10 คือดีที่สุด ใช้คะแนนระดับ 7 ขึ้นไป ใช้เกณฑ์ที่ระดับ 7 เป็นเกณฑ์ว่าผู้ตอบแบบสอบถามสุขภาพดีหรือไม่ Generation Z อายุ 18-26 ปี ที่คิดว่าตัวเองสุขภาพดี ที่ 57.6% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่า Generation X และ Generation Y ที่อายุมากกว่าเสียอีก พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของทุกรุ่น โดยเฉพาะ Generation Y และ Generation Z พักผ่อนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ หลายคนนอนดึกเพราะดูซีรี่ส์และเล่นเกม โดยเฉพาะช่วง Work from Home แล้วก็เรียนออนไลน์ ก็ใช้ชีวิตกันหักโหมมาก”รศ.ดร.จงจิตต์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ที่ให้สิทธิบุคคลสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ซึ่งพบว่า ร้อยละ 77 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่ต้องการเป็นภาระครอบครัว จึงไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตไว้หากอยู่ในภาวะโคม่า และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเอกสารแสดงเจตนาหรือวางแผนวิธีการรักษาพยาบาลล่วงหน้า หรือยุติการรักษาพยาบาลในกรณีที่ตนเองไม่สามารถตัดสินใจได้
4.การเงิน พบความคาดหวังที่สวนทางกับความจริง กล่าวคือในขณะที่ประชาชนคิดว่าเงินออมที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คำนวณไว้ที่ 7.48 ล้านบาท นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ออมเงินด้วยการฝากธนาคาร ร้อยละ 73.2 รองลงมา ร้อยละ 35.4 และประกันชีวิตแบบออมหรือบำนาญ ร้อยละ 21.2 โดยสรุปคือเป็นการออมเพื่อเก็บ มากกว่าออมเพื่อลงทุนสร้างรายได้ 5.การอยู่อาศัย ร้อยละ 56.1 ต้องการอยู่อาศัยที่เดิมเมื่อเป็นผู้สูงอายุ
ด้าน รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน นำเสนอในหัวข้อ “การเข้าถึงระบบบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบของการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม” ซึ่งพบว่า “จำนวนประชากรที่อยู่คนเดียว หรือมีแนวโน้มอยู่คนเดียวเพิ่มสูงขึ้น” อย่างไรก็ตาม สังคมชนบท ผู้สูงอายุมักไม่ได้อยู่คนเดียวจริงๆ เพราะยังมีลูกหลานญาติพี่น้องอยู่ใกล้ๆ ในละแวกบ้าน
ในช่วงท้าย รศ.ดร.ศุทธิดา ได้ตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชน กรณีข้อสังเกตเรื่องชุมชนเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ผู้คนมีลักษณะต่างคนต่างอยู่หรือตัวใครตัวมัน ต่างจากชนบทหรือแม้แต่เมืองในจังหวัดอื่นๆ ที่ชุมชนเข้มแข็งมีความสามัคคีร่วมดูแลกันและกันมากกว่า ว่า รูปแบบที่อยู่อาศัยมีผลต่อความแตกต่างกันของชุมชน อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า การสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเมือง จำเป็นต้องดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“ปัญหาที่เจอคือ พื้นที่แออัดในกรุงเทพฯ ประเด็นหลักๆ เลยคือได้รับการสะท้อนว่าไม่มีพื้นที่สาธารณะ อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เขามองว่า ในลักษณะของการมีกิจกรรมมาทำร่วมกัน ในการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่อยู่ที่บ้าน ไม่มีพื้นที่สำหรับรวมกลุ่มหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยให้รู้จักเพื่อนบ้านหรือรู้จักคนในชุมชน ตรงนี้ก็ได้รับการสะท้อนมาว่าถ้ามีพื้นที่สาธารณะตรงกลาง สามารถมาทำอะไรด้วยกัน ก็น่าจะทำให้เรื่องของการดำเนินงานในการดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรือมีลูกหลายอาศัยอยู่ด้วย ก็จะดำเนินการได้ครอบคลุมมากขึ้น” รศ.ดร.ศุทธิดา ระบุ
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี